x close

เมื่อหนูก้าวร้าวตัวแม่

แม่และเด็ก

เมื่อหนูก้าวร้าวตัวแม่
(M&C แม่และเด็ก)

          คงไม่มีพ่อแม่คนไหน ยืดอกอย่างภูมิใจ ถ้าหากลูกชอบแสดงอาการก้าวร้าวออกมาบ่อย ๆ แน่ ซึ่งก็เป็นปัญหาโลกแตกของหลาย ๆ ครอบครัวต้องนั่งกุมขมับไม่ว่าจะงัดกลยุทธแบบไหนมาปราบแล้วก็ตาม ใช้วิธีชิล ๆ ค่อยพูดค่อยจาก็แล้วก็ยิ่งได้ใจใหญ่ ใช้ไม้แข็งสุด ๆ กลับกลายเป็นหนักข้อขึ้นทุกทีอีก

ก้าวร้าวตัวแม่...เป็นยังไง

         แสดงอาการก้าวร้าว เมื่อมีความรู้สึกไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดมาก ยิ่งเมื่ออยู่ในภาวะความกดดันตึงเครียด อาการก้าวร้าวยิ่งทะลุปรอทแตก เรียกว่า รุนแรงมากจนผิดปกติค่ะ

         คำพูดและน้ำเสียงต่าง ๆ ที่แสดงถึงความโกรธ จะมีลักษณะเสียงดัง ข่มขู่ ต่าง ๆ นานา อยู่ตลอด ต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือคนอื่น ๆ ที่สร้างความไม่พอใจให้ตัวเอง

         มักใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันค่ะ บางคนอาจชอบทำลายข้าวของ บางคนก็อาจทำร้ายผู้อื่น กรณีนี้บ้านไหนยิ่งมีน้องเล็ก ๆ ต้องคอยจับตาให้ดีเลยค่ะ และสุดท้าย ก็คือทำร้ายทุบตีตัวเอง

สเต็ป...แก้อาการก้าร้าว

1.ห้ามทำร้ายลูกเด็ดขาด

          ก็มีงานวิจัยมากมายพบว่า การใช้ความรุนแรงสอนเด็กที่อาการก้าวร้าว อาจจะระงับพฤติกรรมดังกล่าว ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้นค่ะ แต่ในระยะยาวแล้วกลับพบว่า ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ค่ะ เพราะเด็กจะยิ่งเลียนแบบ และซึมซับความรุนแรงนั้นเอาไว้ซะเอง

2.การลงโทษมีเหตุมีผล

          ห้ามใช้อารมณ์ในการลงโทษลูก หากพ่อแม่อารมณ์กำลังคุกรุ่น ก็ให้เดินหนีมาสงบสติอารมณ์สักครู่ก่อนค่ะ แล้วค่อยไปจัดการเจ้าตัวดีอย่างมีสติต่อในภายหลัง ซึ่งการลงโทษทุกชนิด คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลให้ชัดเจน และควรลงโทษทันที เมื่อลูกแสดงอาการก้าวร้าว หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา แต่เมื่อลงโทษจบแล้ว ควรจบแค่ตรงนั้นไม่ควรรื้อฟื้นเรื่องเก่า ๆ ขึ้นมา ถ้าหากลูกมีพฤติกรรมดังกล่าวอีก

3.ชี้ให้เห็นผลกระทบของความก้าวร้าว

          อธิบายง่าย ๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา หากลูกแสดงอาการก้าวร้าว อย่างเช่น "ถ้าหากหนูตีเพื่อนแล้ว เพื่อนก็จะกลัวและจะไม่มาเล่นกับหนูอีก" ซึ่งตรงจุดนี้ เด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันค่ะ คุณแม่ต้องแยกให้ออก ระหว่างความก้าวร้าวหรือการเล่นที่บ้าพลังเกินเหตุของลูก ซึ่งเราจะได้ปรับกันให้ตรงจุดค่ะ

4.ย้ำคิดย้ำทำลูกบ่อย ๆ

          เรียกได้ว่าไม่มีผลเสียหายอะไรหรอกค่ะ สำหรับการย้ำคิดย้ำทำด้วยการตักเตือนลูกบ่อย ๆ ว่า ไม่ควรแสดงอาการก้าวร้าว เรียกว่า กันไว้ก่อนดีกว่าค่อยมานั่งแก้ให้ปวดหัวทีหลัง เช่น เมื่อสังเกตว่า ลูกอารมณ์กำลังหงุดหงิด เพราะอยากได้ของเล่นจากมือน้องหรือจากเพื่อน ๆ ก็อาจบอกว่า "ห้ามตีน้องหรือตะคอกใส่น้องนะ น้องหยิบมาก่อน ถ้าอยากจะเล่นก็ควรรอให้น้องเล่นให้เสร็จก่อน" เป็นต้น

ทีวี เกม ก็ต้องระวัง

          ปัจจุบันด้วยการทำงานและธุรกิจที่รัดตัว หลาย ๆ ครอบครัวจึงมีเวลาให้กับลูกได้น้อยลง ทีวี หรือเกม จึงเสมือนเป็นพี่เลี้ยงคนหนึ่งของเด็ก เพราะทำให้เด็กสามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่ซุกซนได้ แต่อันตรายมาก ๆ ค่ะ หากปล่อยให้ลูกดูตามลำพัง เพราะทีวีหรือเกม จัดได้ว่า เป็นสื่อที่กระตุ้นอารมณ์ให้เด็กเลียนแบบ และแสดงความก้าวร้าวมาเป็นอันดับ 1 จากการวิจัยต่าง ๆ มากมาย

          ซึ่ง น.พ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจเลยค่ะว่า เด็กเล็กในปัจจุบันที่มีปัญหา ต้องเข้าพบจิตแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุประมาณ 2 ขวบที่ยังไม่พูด ไม่สนใจใคร เฉยเมย หรืออีกประเภทก็จะมีอาการก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการดูทีวีมากเกินไป และโดยเฉพาะเจ้าทีวี ถือเป็นตัวขัดวางพัฒนาการของลูกน้อยและปิดกั้นจินตนาการต่าง ๆ ของลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกวัย 2 ปีแรกดูทีวี แต่ถ้าอายุเกิน 2 ขวบขึ้นไป สามารถดูรายการเสริมทักษะได้ แต่ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงต่อวันค่ะ

ลดความก้าวร้าวด้วย...

          ในสมัยนี้ มีสื่อต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพ่อแม่อาจคิดว่าดีและมีประโยชน์สำหรับลูก และที่สำคัญที่สุดก็คือทำให้เลี้ยงลูกได้ง่ายขึ้น ซึ่งความจริงแล้วควรเลี้ยงลูกอย่างธรรมชาติ ด้วยการมีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเด็กในวัยก่อนอนุบาล ควรปูพื้นฐานและสร้างความมั่นใจให้ลูกมากที่สุด ด้วยการสร้างจินตนาการที่เหมาะสมตามวัย ทั้งจากการเล่น อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง รวมทั้งการปลูกฝังเรื่องดนตรี




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 34 ฉบับที่ 473 กรกฎาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อหนูก้าวร้าวตัวแม่ อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2554 เวลา 11:49:12 1,928 อ่าน
TOP