x close

รับมือร่างกายเปลี่ยนแปลงยามท้อง

ตั้งครรภ์

รับมือร่างกายเปลี่ยนแปลงยามท้อง
(modernmom)
เรื่อง : โซติรส

          เคยสังเกตไหมคะว่า แม่ท้องบางคนจากผิวสวยใสก็กลายเป็นดำคล้ำ หรือบางคนบุคลิกดีสูงโปร่งกลับกลายเป็นเดินเหมือนเป็ดยามท้องแก่ ทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้าใจ และรับมือกับร่างกายอย่างเท่าทันค่ะ

          ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้รองรับท้องที่โตขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะร่างกายจะต้องปรับตัวรับเจ้าหนูในครรภ์ ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตนี้ โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อคลอดเจ้าหนูเรียบร้อยแล้ว หรือบางครั้งก็ทิ้งรอยแตกลายบริเวณผิวหนังไว้บ้างเท่านั้น

          วันนี้เราจะมาแจกแจงให้คุณดูว่า ร่างกายของเรายามตั้งครรภ์นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และเราจะต้องรับมืออย่างไร

ท้องขยายตามลูก

          ช่วงไตรมาสแรกยังไม่มีการขยายของหน้าท้องสักเท่าไรนัก เพราะทารกในครรภ์ยังมีขนาดเล็กมาก แต่ก็มีการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายลูกอย่างไม่หยุดยั้ง จนเข้าช่วงไตรมาสที่สองจะมีการขยายตัวของมดลูกอย่างรวดเร็ว ท้องของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และสามารถรับรู้การดิ้นของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจจะมีความเจ็บปวดบ้าง เพราะมดลูกที่ขยายตัวนั้นจะไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะและชายโครง จนมาถึงไตรมาสสุดท้าย มดลูกขยายขึ้นทำให้ดันกะบังลมจนคุณแม่รู้สึกอึดอัด เหนื่อยง่ายมากขึ้น

ผิวเปลี่ยนไป...

          เรื่องที่สองรองจากขนาดของท้องที่คนมักจะทักก็คือเรื่องผิวพรรณ เนื่องจากฮอร์โมนภายในตัวคุณที่กำลังปรับเป็นเหตุให้ผิวดำคล้ำ มีฝ้ากระขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ อีกทั้งตามรักแร้ขาหนีบก็มีสีเข้มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยฮอร์โมนที่สูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เซลล์สีในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง และไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติควรอยู่ในร่มหรือใส่หมวกยามอยู่ในที่แจ้ง และหลังจากคลอดลูกแล้วทุกอย่างก็จะกลับเป็นปกติเหมือนเดิม

          นอกจากการเปลี่ยนแปลงของสีผิวแล้ว ผู้หญิงตั้งครรภ์มักเกิดอาการผิวแตกลาย โดยเฉพาะที่สะโพก ต้นขา และหน้าท้อง เป็นผลมาจากร่างกายขยายใหญ่ขึ้น เพื่อรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งปัจจุบันไม่มียาตัวไหนที่ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เพราะเป็นสาเหตุที่เกิดจากภาวะของธรรมชาติ แต่สามารถบรรเทาได้ โดยการทาโลชั่น น้ำมันมะพร้าว หรือออยล์ เพื่อทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นลดการแตกลายและลดอาการคันได้

เส้นผมหลุดร่วง

          เป็นที่น่าหนักใจสำหรับคุณแม่ที่รักเส้นผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อคุณท้อง ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ในระดับสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เส้นผมจะดกดำอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อคลอดแล้วปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เส้นผมจะร่วงกราวมากกว่าปกติ โดยเส้นผมที่ร่วงนี้ไม่ทำให้คุณแม่ถึงกับหัวล้าน แต่ก็บางลงจนใจหายพอสมควร ซึ่งคุณไม่ต้องตกใจ เพราะเมื่อฮอร์โมนปรับเข้าสู่ภาวะปกติเส้นผมก็จะงอกใหม่เหมือนเดิม

          แต่คุณแม่ควรดูแลเส้นผมให้มากกว่าปกติ ด้วยการหลีกเลี่ยงการทำสีผม สเปรย์ เจล การเป่าผมด้วยความร้อน เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเพิ่มการหลุดร่วงให้เส้นผมเข้าไปอีก ควรตัดผมสั้นสบาย ๆ และสระผมด้วยแชมพูที่อ่อนโยนกว่าปกติด้วย

เต้านมของสำคัญ

          เมื่อเต้านมเป็นแหล่งอาหารหลักของเจ้าหนูยามคลอดเรียบร้อยแล้ว ร่างกายคุณแม่จึงต้องเตรียมตัวรับมือกับหน้าที่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งคุณจะรู้สึกได้เองว่าเต้านมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตึง คัด และเจ็บพอสมควร เพราะมีการเพิ่มปริมาณของเซลล์หลั่งน้ำนม และเนื้อต่อมน้ำนมก็ขยายตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อม ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งสีของหัวนมก็เปลี่ยนเป็นเข้มขึ้น รวมทั้งลานนมก็ขยายมากขึ้นด้วย จนคุณอาจจะต้องเปลี่ยนขนาดของยกทรงเพื่อให้ใส่แล้วสบายตัวยิ่งขึ้น หรือนวดบริเวณเต้านมเพื่อลดความตึงคัด

อุ้งเชิงกรานขยาย

          คุณเคยสังเกตไหมว่าแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มาก ๆ จะต้องเดินเหมือนเป็ดเสียทุกรายไป เนื่องจากน้ำหนักของทารกในครรภ์จะไปถ่วงมดลูกด้านหน้า ทำให้ร่างกายเสียสมดุลจนต้องแอ่นหลังเพื่อรับน้ำหนัก ส่งผลให้มีอาการปวดร้าว เมื่อยบริเวณเชิงกรานและข้อต่อของกระดูกสันหลัง ยิ่งเคลื่อนไหวเร็วก็ยิ่งปวดมาก เพราะเชิงกรานเริ่มขยายเพื่อรองรับการคลอดแล้ว การบรรเทาอาการควรเลื่อนไหวร่างกายให้ช้าลง รวมทั้งออกกำลังกายเบา ๆ อาทิ โยคะ เพื่อลดอาการปวดเมื่อย ที่สำคัญควรฝึกตนเองให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง เช่น ไม่เดินไหล่งอ ไม่นั่งหลังค่อม เป็นต้น

          การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะมากบ้างน้อยบ้างก็ตามแต่ธรรมชาติของคุณแม่แต่ละคนค่ะ ซึ่งก็มักจะปรับตัวและรับมือได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็เกิดขึ้นแค่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อคุณคลอดเจ้าหนูเรียบร้อยก็กลับมาเป็นแบบเดิมแล้วค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.185 มีนาคม 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือร่างกายเปลี่ยนแปลงยามท้อง อัปเดตล่าสุด 31 พฤษภาคม 2554 เวลา 11:53:22 5,313 อ่าน
TOP