x close

เล่นเสริมสมองลูกน้อย

ของเล่น

เล่นเสริมสมอง
(modernmom)
เรื่อง : โชติรส

           นักทฤษฏีการเล่นมากมายเชื่อว่า เด็ก ๆ นั้นเกิดมาพร้อมกับสมองขนาดมหึมาที่พร้อมเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพราะนำไปถึงพัฒนาการทางด้านภาษาความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ ความจำ และการคิดแก้ปัญหา และพัฒนาการอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เด็กจะได้เรียนรู้ระหว่างการเล่น โดยมีของเล่นเป็นตัวแปรสำคัญ

0-3 Month ของเล่นชิ้นแรก

           หลังจากอุดอู้อยู่ในท้องคุณแม่มา 9 เดือน ถึงเวลาของเจ้าหนูออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว แต่ว่าโลกนี้ช่างใหญ่โต สว่างจ้า และเสียงดังเหลือเกิน แถมยังรู้สึกว่ามีเนื้อที่รอบตัวเหลือมากเกินไปเสียอีก

           แม้ยังไม่มีของเล่นอะไรมากมายนักในเด็กแรกเกิด เพราะเจ้าหนูกำลังหัดหายใจหัดมอง และหัดเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง เขาจะตอบสนองต่อเสียงคนที่คุ้นเคยที่พูดคุยกับเขาทุกวัน รวมทั้งจ้องมองแววตาและริมฝีปาก ของคุณพ่อคุณแม่ที่ขยับเขยื้อนผ่านหน้าไปมา ถือได้ว่าใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่เป็นของเล่นชิ้นแรกของลูกก็ว่าได้

เล่นกระตุ้นสมอง

           โมบายหลากสีเพิ่มสมาธิ สำหรับเจ้าหนูที่จำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวกับโลกใบใหม่ พัฒนาการทางสายตายังไม่ดีนัก การมองโมบายใกล้ ๆ จะช่วยให้เด็กนิ่งมองช่วยทำให้เกิดสมาธิและพัฒนาด้านการมองเห็น ขณะเดียวกันควรเลือกโมบายที่มีสีตัดกัน เช่น ดำ แดง ขาว รูปทรงกลมและเคลื่อนไหวช้า เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก

           ตุ๊กตานุ่มนิ่มกระตุ้นสัมผัส ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทักษะสำคัญที่จะช่วยในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หากสังเกตจะพบว่า เมื่อลูกน้อยได้ของเล่นที่ถูกใจจะนิ่งและมีสมาธิมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากลูกกำลังเล่น อย่าเพิ่งเข้าไปขัดจังหวะ เพื่อให้ลูกน้อยได้มีสมาธิกับการเล่นอย่างเต็มที่

3-6 Month ของเล่นเสริมสร้างกระตุ้นความจำ

           สมองเริ่มพัฒนาไปอีกชั้น และเริ่มสนุกกับของเล่นได้มากชิ้น การเลือกของเล่นที่จะเสริมสร้างให้เกิดความจำนั้นเป็นเรื่องจำเป็น ขณะที่พัฒนาการด้านร่างกายก็ขยับและมีกำลังแกว่งไกวได้มากเช่นกัน มือและสายตา ก็ทำงานประสานกันได้ดี แล้วยังชื่นชอบของเล่นที่มีสีสันสดใส คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกใช้ความสนใจนี้ ในการเลือกของเล่นเพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกได้

 เล่นกระตุ้นสมอง

           ตุ๊กตาหรือโมบายกระตุ้นความจำ เลือกโมบายที่สามารถออกแรงดึงแล้วเกิดเสียงเด็กจะรู้สึกสนุก เมื่อดึงบ่อยครั้งเข้า เด็กจะเกิดความจำว่า ดึงอันไหนแล้วมีเสียงอย่างไร หรือสั่นแค่ไหนเพื่อให้เกิดความสนุกกับตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อมือ รวมถึงได้เรียนรู้กฎการเหนี่ยวนำที่ดึงแค่ไหนก็เด้งแค่นั้น

           สมุดภาพผ้านุ่ม ๆ กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 เลือกสมุดผ้าที่มีหลากหลายผิวสัมผัสทั้งนิ่ม ขรุขระ หยาบ เมื่อเล่นบ่อยครั้งจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสนี้เอง ที่จะช่วยให้ลูกเกิดความจำได้ดีขึ้น

6-8 Month เล่นท้าทายความสามารถ

           วัยนี้เริ่มไม่อยู่เฉย ขณะที่สมองก็ไม่อยู่เฉยเหมือนกัน ตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับร่างกายที่เคลื่อนไหว โดยเฉพาะของเล่นที่มีเสียง

 เล่นกระตุ้นสมอง

           กล่องดนตรี กลอง หรือเครื่องเล่นที่มีเสียงเพราะ ๆ ของเล่นในกลุ่มที่มีเสียง ช่วยสร้างอารมณ์สุนทรีย์ให้กับลูกน้อย ขณะที่ฟังเพลงเองก็ช่วยให้เด็กเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีความจำที่ดี

           ชุดของท้าทายเชาวน์ปัญญา เช่น แท่งเล่นโดนัท (สวมโดนัทผ้าลงในแกนกลางที่ทำจากไม้) หรือบล็อกผ้า ต่อให้สูงเป็นภูเขา เรียกว่าเป็นของเล่นที่จะช่วยพัฒนาทักษะ ด้านการแก้ปัญหาให้ลูกได้เป็นอย่างดี ทั้งการต่ออย่างไรไม่ให้บล็อกหล่นลงมา หรือการสวมแท่งโดนัตให้ได้ในครั้งแรก เด็กต้องใช้ทดลอง ใช้ความคิด ซึ่งระหว่างนั้นก็ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่จะเล่นกับของเล่นชิ้นนั้นได้

8-12 Month เล่นเพื่อสนุกและได้เรียนรู้

           พัฒนาการของหนูสมบูรณ์ขึ้นทุก ๆ วันจนเกือบพร้อมทุกอย่าง เหลือแต่ความแข็งแรงและความเชี่ยวชาญในการใช้ร่างกายเท่านั้น วัยนี้จึงสามารถเล่นของเล่นได้หลากหลาย ของเล่นก็อาจจะยากและท้าทายความสามารถ และช่วยพัฒนาสมองได้มากขึ้นด้วย

 เล่นกระตุ้นสมอง

           ลูกบอลเล็ก ๆ ในฝักถั่ว หรือรูปทรงเรขาคณิต หยอดรูปทรงลงไปในกล่องที่มีช่องรูปร่างเฉพาะ เด็กต้องใช้หลักเหตุและผล ดูความเหมาะสม ว่าจะใส่ลงไปได้อย่างไร ขณะเล่นจะได้เรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหา ทักษะที่เมื่อพัฒนาบ่อยครั้งจะช่วยให้เจ้าหนูฉลาดขึ้นมาได้

           Pulls Toys ของเล่นดึงลาก ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อในส่วนของการทรงตัว เพราะเป็นช่วงที่เด็กพยุงตัวเองให้ยืนขึ้นได้ และสามารถไถลเคลื่อนตัวก้าวไปพร้อม ๆ กัน ควรเลือกของเล่นที่มีลักษณะถอดออกใส่เข้าได้ด้วย เพื่อสร้างความสนุกและการเรียนรู้ขณะเล่น

1-3 Year เล่นหลากหลายเสริมสมองรอบด้าน

           กล้ามเนื้อแขนและขา สามารถควบคุมให้คล่องแคล่วได้อย่างใจ ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาทางสมองที่ต้องการการพัฒนามากยิ่งขึ้น วัยนี้เน้นที่ความสนุกเป็นหลัก จึงควรใส่ใจเลือกของเล่นที่สนุกและเหมาะกับวัย

 เล่นกระตุ้นสมอง

           เล่นสนามสมองเบ่งบาน เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สมองชื่นชอบค่ะ เพราะการเล่นสนามได้พัฒนาครบรอบด้านตั้งแต่พัฒนาการด้านร่างกาย การสัมผัสพื้นดินพื้นหญ้าก็ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 พื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้เรื่องความจำ ขณะเล่นกับเพื่อนได้เรื่องทักษะการเข้าสังคม การคิดกิจกรรมการเล่นก็ช่วยกระตุ้นทักษะการแก้ปัญหาต่าง ๆ พ่อแม่อาจจะเห็นลูกร่วมกันค้นหาพื้นที่และของเล่นต่าง ๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้งงว่าเล่นอะไรกัน อาจจะถือกิ่งไม้เล็ก ๆ สักกิ่งเดินเขี่ยพื้นทรายเล่น หรือนั่งเล่นอยู่ในอ่างน้ำ มีแก้วพลาสติกสักใบเทน้ำสลับไปมา ซึ่งก็เป็นการเล่นที่ช่วยสร้างสมาธิให้กับลูกน้อย เป็นพื้นฐานจำเป็นสำหรับทักษะด้านอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น

3-6 Year เล่นสร้างสมาธิความจำ และกระตุ้นทักษะการแก้ปัญหา

           เกือบจะเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเรียนรู้โลกภายนอกอย่างเต็มตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่โดยเฉพาะสมองนั้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

 เล่นกระตุ้นสมอง

           ชุดเครื่องครัว ชุดตัวต่อวิศวกรน้อย หรือของเล่นกลุ่มที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่น หนังสือนิทานประเทืองปัญญา เรื่องเล่านานาชาติ ล้วนมีผลต่อสมองลูกที่จะได้หยุดคิด ติดตาม และต่อยอดประสบการณ์ที่จะมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจในอนาคตได้ แน่นอนว่าของเล่นเหล่านี้เองที่ระหว่างเล่นจะเกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดความจำก็เกิดตามมา ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา เรียกว่าทั้งสามสิ่งนี้เอง ที่เป็นทักษะจำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

           ชิงช้า บันไดลื่น เครื่องเล่นปืนป่าย เป็นที่ชื่นชอบของวัยนี้ เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่แล้ว ขณะเล่น สมองทุกส่วนทำงาน โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าทำงาอย่างเต็มที่ เพราะขณะเล่นนั้น เชื่อไหมว่าเด็กกำลังสนุกที่จะคิดค้นหาวิธีการเล่นเดิม ๆ ให้สนุกมากขึ้น เหล่านี้ล้วนพัฒนามาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ที่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่การมีสมาธิ ความจำ รวมถึงการแก้ปัญหามาตั้งแต่เด็ก

Tips

 เล่นเพิ่มกระบวนการสร้างพลังสมอง

         เล่นกระตุ้นสมาธิ กิจกรรมหรือของเล่นที่เด็กได้จดจ่อ ตั้งใจ เช่น วาดภาพ ระบายสี หรือเล่นปั้นดินน้ำมัน

         เล่นสร้างความจำ เช่น ต่อบล็อกไม้สีสันกล่องหยอดรูปทรง เด็กจะได้เรียนรู้และจดจำรูปทรงต่าง ๆ

         เล่นกระตุ้นทักษะ การแก้ปัญหาของเล่นที่ท้าทายความสามารถของสมองให้คิดหรือแก้โจทย์ เช่น ของเล่นที่มีสองชิ้นขึ้นไปแล้วต้องประกอบกัน เด็กต้องคิดว่าจะเล่นอย่างไรให้สำเร็จ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.185 มีนาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล่นเสริมสมองลูกน้อย โพสต์เมื่อ 25 พฤษภาคม 2554 เวลา 15:17:29
TOP