x close

หยุด! ลูกพูดคำหยาบคาย

baby

หยุด! ลูกพูดคำหยาบคาย (modernmom)

           ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้เป็นประจำในทุกบ้าน เพราะพอเด็กๆ มีเพื่อนหรือไปโรงเรียนก็จะเลียนแบบกับและกัน ยิ่งปัจจุบันมีสื่อให้เห็นทุกวัน สำบัดสำนวนของเจ้าตัวน้อยก็จะสวิงสวายไปตามข้อมูลที่ได้รับ จนพ่อแม่ได้ยินก็มักจะตกใจ บางคนถึงกับคิดไปไกลว่า ลูกจะกลายเป็นไม่มีมารยาทไปไหม อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ มีวิธีแก้ไขครับ

คำหยาบมีที่มา

           การเลือกใช้คำพูด เป็นส่วนหนึ่งของมารยาทสังคม และเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถทางภาษา ซึ่งโยงไปถึงความสามารถในการเรียนรู้และวิเคราะห์ของเด็ก เช่น เด็กที่ใช้คำที่เป็นนามธรรมอย่างเข้าใจ สามารถเรียนรู้เรื่องยากๆ ได้ดีกว่าเด็กที่ยังต้องอธิบายเป็นนามธรรม

           ส่วนการใช้คำพูดสุภาพหรือไม่ เป็นเรื่องของการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม เด็กในสลัมย่อมถูกห้อมล้อมด้วยการใช้คำไม่สุภาพและรุนแรง เด็กก็ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมและอยู่รอด ผมเคยพบครูในโรงเรียนละแวกชุมชนแออัด ที่พยายามสอนให้เด็กพูดสภาพ แล้วถูกแม่ต่อว่า ว่าทำให้ลูกถูกรังแกและรังเกียจจากเพื่อน ๆ เรื่องมารยาทต้องดูบริบท ไม่สามารถคิดลอย โดยไม่ดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้

           ดังนั้น การสอนเด็กในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การสร้างนิสัยให้สุภาพอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาเด็กให้ปรับตัวได้ตามสิ่งรอบตัว ตอนที่ต้องสุภาพก็ทำได้ ตอนออกทะลึ่งทโมนหรือหยาบหน่อยก็ต้องเป็น เคยอ่านบทความของ อาจารย์นิธิเอียวศรีวงศ์ ท่านว่า คำหยาบเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นการแสดงความก้าวร้าวกับคนที่เรารังเกียจแล้ว ยังเป็นคำที่ใช้แสดงความสนิทสนมกับคนที่เราชอบมากๆ ได้ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าท่านเจาะจงเฉพาะวัฒนธรรมไทยหรือทั่วไป

ช่วยลูกเลี่ยงคำหยาบ

           ทีนี้เด็กยังเล็กเราจะให้ชินกับการใช้คำหยาบไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นนิสัย ส่วนที่เป็นนิสัยต้องเน้นความสุภาพ ค่อย ๆ พัฒนาไปตามวัยกับสภาพแวดล้อม ส่วนการพูดคำหยาบหรือสำนวนชวนเป็นลมนั้นก็คงต้องปล่อยบ้าง ไม่ใช่ห้ามตลอด แต่ต้องไม่ปล่อยมากและจำกัดใช้กับคนที่เหมาะสม

อย่าตกใจให้ความสำคัญกับคำหยาบ

           แรก ๆ คำเหล่านี้มักจะมาตอนเข้าโรงเรียน อย่างเร็วก็ชั้นอนุบาลทั่วก็ประมาณประถม พ่อแม่ที่ใกล้ชิดกับลูก จะสังเกตได้แม่นกว่าที่ไม่ใกล้ชิด เวลาได้ยินไม่ต้องตกใจ อาจจะห้ามเล็กน้อย สอนให้เข้าใจว่า "ค่าคำนี้เป็นคำหยาบ เราไม่พูดกัน เราพูดว่า......"

สังเกตคำพูดเพื่อวางแผนการสอน

           จากนั้นให้หมั่นสังเกต เก็บเป็นข้อมูลไว้ก่อนว่า ความหยาบขนาดไหน หรือเป็นสำนวนเฉพาะวัย เช่น "เดี๋ยวตี้บ" แหล่งที่มาคำนี้ได้มาอย่างไร ลูกสามารถเลือกได้ไหม บางคำลูกรู้และเคยได้ยิน แต่เลือกไม่พูดถ้าเป็นแบบนี้ก็ดี แสดงว่าเด็กมีความคิดอ่านเป็นของตัวเองพอสมควร พอได้ข้อมูลครบแล้วค่อยวางแผนการสอนครับ

           กับเด็กเล็กจะยังไม่รู้คำไหนหยาบไม่หยาบ ต้องชี้เป็นคำ ๆ ไป ส่วนเด็กโตจะแยกแยะได้เอง ไม่ต้องสาธยายมาก ทุกครั้งที่แยกแยะ หรือห้ามปราม ต้องสอนด้วยว่าควรใช้คำใดแทน แล้วให้หัดพูดสักครั้งหรือสองครั้ง ส่วนเด็กโตไม่ต้อง

เรียนรู้จากสถานการณ์จริง

           จากนั้นให้สังเกตในสถานการณ์จริง ว่าลูกเลือกคำที่เหมาะสมได้ไหม ถ้าทำได้ก็ไม่ต้องกังวลใจ เด็กยังมีคำแปลก ๆ อีกเยอะให้สังเกตครับ ลองนึกถึงตัวเราเอง โดยเฉพาะคุณพ่อบ้านมีคำหยาบตั้งมากมายที่เราพูดเป็นและพูดกับเพื่อน ๆ แต่พ่อแม่เราไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้เลย ลูกกับเราก็จะเหมือนกัน ยกเว้นเวลาของขึ้นอาจจะได้ยินลูกหลุดออกมาบ้างเป็นครั้งคราว ก็อย่าเอามาเป็นอารมณ์ เพราะเวลาของขึ้นนั้นอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ต้องหัดเวลาลูกของขึ้น คือ พยายามเอาของออก (หมายถึงคำหยาบนั้น ๆ ที่พูดออกมา) ไม่ใช่ไปยุ่งกับรายละเอียด ในเรื่องท่าทางหรือวาจาอื่นที่แวดล้อม

           ที่สำคัญ ตอนคนหนึ่งของขึ้น อีกคนก็อย่าให้องค์ลงก็แล้วกันครับ ไม่อย่างนั้นเกิดศึกอภินิหารแน่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.176 มิถุนายน 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุด! ลูกพูดคำหยาบคาย อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2553 เวลา 14:57:55
TOP