x close

Basic Trust … สร้างพื้นฐานสังคมที่ดีให้เบบี๋

baby

Basic Trust… สร้างพื้นฐานสังคมที่ดีให้เบบี๋
(momypedia)
โดย: ฌาน

          การเตรียมพร้อมให้เจ้าตัวน้อยเป็นเด็กที่รู้จักเข้าสังคม จะต้องมีพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื้อใจ (Basic Trust) ซึ่งจะทำให้เขามองโลกในแง่ดีนั้น และต้องเริ่มตั้งแต่วัยขวบแรกเลยค่ะ

          อย่าเพิ่งขมวดคิ้วนะคะว่า เด็กวัย 0-1 ปี จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสังคมแล้วหรือ?

          เพราะการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสังคมของเด็กวัย 0-1 ปี ไม่ได้หมายถึงการเตรียมพร้อมให้ลูกได้เจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา หรือไปอยู่กับคนนั้นทีคนนี้บ้าง ตรงกันข้ามเลยค่ะ

          การเตรียมพร้อมให้ลูกเข้าสังคมนั้น คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือที่เรียกว่า Basic Trust ซึ่งจะทำได้ก็ในช่วง 0-1 ปีเท่านั้น ถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้วจะไม่สามารถที่จะสร้างได้อีก

ไว้เนื้อเชื่อใจ (Basic Trust) พื้นฐาน สำคัญ?

          มีคนที่ใกล้ชิดผูกพันแนบแน่นอย่างน้อย 1 คน (mother figure) ซึ่งคนคนนี้สำคัญมากนะคะ จะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่พี่เลี้ยงก็ได้ แต่เป็นคนที่เด็กมีความผูกพัน เป็นคนที่เด็กสามารถจดจำได้เป็นคนแรก เป็นคนที่ทำให้เด็กรู้สึกเติมเต็ม และมีความอบอุ่นใจ รวมถึงตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะไม่ว่าจะไปไหนก็จะมีคนคนนี้จะอยู่กับเขาเสมอ ซึ่งเด็กก็จะเกิดความไว้ใจและมั่นใจค่ะ นำไปสู่การสร้างพัฒนาการทางสังคม (social development) ค่ะ

          ในอนาคตเด็กจะชอบแยกตัว หรือเข้าสังคม คนคนนี้มีส่วนมาก เพราะถ้าเด็กเติบโตโดยรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบสนองหรือเอาใจใส่ เขาจะชอบแยกตัว เพราะคิดว่าไม่มีคนสนใจหรือใส่ใจจะให้ดีที่สุด หน้าที่สำคัญนี้ควรเป็นคุณพ่อคุณแม่นะคะ เพราะคงไม่มีใครที่จะใส่ใจดูแลลูกของเราได้ดีมากที่สุดเท่ากับเราหรอกค่ะ

คนเยอะ เปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อยไม่ดี

          ถ้าลูกมีพี่เลี้ยง พยายามอย่าเปลี่ยนพี่เลี้ยงบ่อย เพราะจะมีผลต่อความจำ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนไปแล้ว จะเริ่มจดจำ เพราะฉะนั้นควรจะเป็นสิ่งเดิม ๆ เป็นคนหน้าเดิมๆ  ถ้าเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือส่งลูกไปอยู่กับคนนั้นทีคนนี้ที เขาจะรู้สึกว่าคนที่เขาไว้ใจ คนที่เลี้ยงเขาหายไปไหน สิ่งเหล่านี้จะสร้างความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในจิตใจของเด็กได้ค่ะ

          และ ในวัย 6 เดือน เด็กจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า การไปเจอคนเยอะ ๆ จะไม่เป็นผลดีถ้าคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเขาไม่ได้อยู่กับเขาด้วย เพราะนั่นจะทำให้เขารู้สึกกลัว กังวล ไม่ไว้ใจมากกว่าที่จะยิ้มร่า กล้าเข้าไปเล่นด้วย ลองสังเกตจากผู้ใหญ่อย่างเราก็ได้ค่ะ คนที่เราไม่รู้จัก เราก็คงไม่กล้าที่จะเข้าไปคุยในทันที คงต้องรอดูท่าทีสักพักเหมือนกัน ถ้าเด็กรู้ว่าคนที่เขารักไม่ได้ไปไหนแต่อยู่กับเขาตลอดเวลา แม้ว่าจะมีคนอื่นมาเล่นด้วย แม่ก็ยังอยู่ สิ่งนี้จะทำให้เขายอมเล่นและยิ้มกับคนอื่นมากขึ้นค่ะ เพราะเขามีความอุ่นใจ ปลอดภัยที่แม่อยู่

ช่วยลูกเข้าสังคมได้ดี

0-3 เดือนแรกของชีวิต

          ช่วงแรกเกิด เด็กจะมีความสามารถในการมองได้บ้างแล้ว แต่ยังเป็นภาพเบลอ ๆ อยู่ พอ 2-3 เดือน เขาจะเริ่มโฟกัสได้มากขึ้น เริ่มมองหน้า สบตาได้ดีขึ้น และตอนนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะฝึกค่ะ โดยการยิ้ม (social smile) ช่วงแรกลูกอาจจะยิ้มเพราะยังควบคุมท่ายิ้มไม่ได้ หรือเรียกว่า first social smile

          first social smile คือการที่เจ้าตัวน้อยรู้แล้วว่าคนนี้ยิ้มให้ นี่คือหน้าคนที่เห็นอยู่ตลอดเวลา เด็กก็จะตอบสนองด้วยการยิ้มให้ และถ้าคุณแม่ยิ่งยิ้มให้เขา เขาก็จะยิ่งยิ้มกลับ และนี่ก็คือครั้งแรกของการมีสังคมของเด็ก โดยมีคุณแม่เป็นสังคมของลูก

          ช่วงแรกเกิดนี้ ชีวิตของเด็กจะกินกับนอนเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือในช่วงตื่น คุณพ่อคุณแม่จึงควรมาเล่นกับลูก ไม่ใช่ตื่นแล้วก็ปล่อยให้ลูกนอนอยู่ในเปล เพราะคิดว่าเด็กทารกคงไม่ได้มีการเรียนรู้อะไร คุณแม่ต้องอุ้มลูกมาเล่น สัมผัส ร้องเพลงเดิมๆ มีการสัมผัสนิ้วของลูกไปด้วย

          ยามที่ลูกตื่นก็ยื่นหน้าเข้าไปหา พูดคุย สบตา ยิ้ม เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องพัฒนาการแล้ว ยังทำให้เขาเรียนรู้เรื่องสังคมด้วยนะคะ

3-5 เดือน

          ช่วงนี้เจ้าตัวเล็กจะแสดงสีหน้าได้แล้ว อาจจะทำท่าขมวดคิ้ว โกรธ หรือตกใจ ตอนนี้การยิ้มของลูกจะยิ้มให้กับคนที่คุ้นเคยถ้า มีคุณตา คุณยาย คุณปู่ คุณย่าเข้ามาคอยดูแล เด็กจะเริ่มไว้วางใจด้วยการยิ้มให้ตอบสนอง แล้วก็ส่งเสียง และคนรอบข้างก็ควรที่จะตอบสนองลูกด้วยนะคะ เช่น เวลาที่เด็กส่งเสียงทักทาย หรือต้องการความสนใจ เราก็ควรตอบสนองด้วยเสียง การสัมผัส หรือการเล่นกับเขานะคะ

5-6 เดือน

          วัยนี้จะเริ่มคว้านู่นคว้านี่ เริ่มนั่งได้แล้วค่ะ เราต้องอุ้ม ลูบศีรษะ มองหน้า ยิ้ม อาจจะหาหนังสือนิทานที่มีรูปสวย ๆ แล้วก็พูดเล่าให้ฟัง แต่ว่าไม่ได้เน้นเนื้อหา แค่ให้เด็กจำเสียง ภาพ กับวัตถุที่เห็น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในเรื่องภาษาต่อไปด้วยค่ะ ยิ่งถ้าเป็นท่วงทำนอง เป็นเพลงง่าย ๆ เช่น เพลงแมงมุมลายตัวนั้น พร้อมใช้มือเป็นท่าประกอบ ขณะเดียวกันเราจะได้สัมผัสมือลูก กระตุ้นประสาทสัมผัส ลูกได้ฟังเสียง หัวเราะ เป็นต้น

6-9 เดือน

          ในช่วงระหว่างการเลี้ยงดู คุณแม่จะเริ่มแยกเสียงได้แล้วว่าร้องไห้แบบนี้ลูกกำลังกังวล หรือร้องแบบนี้อยากให้แม่อุ้ม หรือยิ้มแบบนี้ต้องการสื่อสารอะไร ลูกจะชอบให้เล่นอะไรซ้ำ ๆ หรือเวลาที่ถูกขัดใจจะร้องกรี๊ด ๆ เพราะฉะนั้นสำหรับเด็กวัยนี้ควรตอบสนองทุกอย่างให้มากที่สุดค่ะ นี่เป็นสิ่งสำคัญค่ะที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ตอบสนองอย่างไร ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ลูกเสียนิสัยนะคะ หากเราทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม

9-12 เดือน

          วัยนี้จะเริ่มสังเกตได้ว่าถ้ามีเด็กในวัยเดียวกัน หรือมีน้องในวัยเดียวกันเขาจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้น วัยนี้ยังติดแม่ ซึ่งความกังวลเรื่องการแยกจากจะหายไปตอนสองขวบกว่า เพราะฉะนั้นช่วงนี้การตอบสนอง ด้วยการเล่นกับลูก และการให้ความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ และควรจะยาวต่อเนื่องไปถึงตอน 2 ขวบกว่า ๆ เลยยิ่งดี เพราะช่วงนั้นเขาจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้าน้อยลงแล้ว และเมื่อเขามีความมั่นใจในตัวคุณแม่หรือคนเลี้ยงเต็มที่ ก็จะทำให้เด็กกล้าเปิดประตูออกไปรู้จักกับโลกที่กว้างขึ้นค่ะ

          จริง ๆ แล้วถ้าคุณแม่สามารถให้เวลาในช่วง 1 ปีแรกของชีวิตลูก ด้วยการเลี้ยงเขาเองตลอดอย่างสม่ำเสมอและใส่ใจ จะพบว่าพัฒนาการจะดีในทุกด้าน และยังทำให้ในวัยขวบปีต่อ ๆ มา การเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับลูกเลยค่ะ

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Basic Trust … สร้างพื้นฐานสังคมที่ดีให้เบบี๋ อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2553 เวลา 16:02:54 1,972 อ่าน
TOP