ปัญหาคนตั้งครรภ์ เมื่อว่าที่คุณแม่มือใหม่เริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ มักจะมีอาการหงุดหงิดง่ายและอารมณ์แปรปรวน แต่คุณแม่อย่างเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะอาการเหล่านี้จะเป็นในช่วง 3 เดือนแรก เท่านั้นค่ะ แต่ต้องอาศัยกำลังใจ คนใกล้ชิดโดยเฉพาะว่าที่คุณพ่อคือกำลังสำคัญที่สุดวันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับในการเตรียมรับมือในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ มาฝากว่าที่คุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ไว้เตรียมรับมือกันค่ะ
ทันทีที่แน่ชัดแล้วว่าตั้งครรภ์...ความดีใจมักจะมาปนเปกับความกังวล ยิ่งอยู่ในโลกสังคมข่าวสารอยู่ในมือแล้วละก็ ยิ่งอ่านก็ยิ่งเครียด "แล้วฉันจะทำได้ไหม" "แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ" ฯลฯ
ท้องอ่อน ๆ กับอารมณ์แปรปรวน
เมื่อแรกเริ่มท้องใน 3 เดือนแรก ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง และอารมณ์ที่เปลี่ยนไปสุดขั้ว บางทีรู้สึกมีความสุขแว๊บเดียวก็เศร้าได้ อาการซึมเศร้าฟูมฟาย ร้องไห้ไม่มีเหตุผล เนื่องมาจากความกังวลจากการตั้งครรภ์ของคุณแม่มือใหม่สารพันปัญหาความกังวล เช่น จะคลอดลูกอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร จะต้องย้าย หรือแยกห้องไหม ฯลฯ ในช่วงนี้ต้องอาศัยกำลังใจ คนใกล้ชิดโดยเฉพาะว่าที่คุณพ่อคือคนที่เป็นกำลังสำคัญที่สุด
ใช้เวลาไม่นานหรอก จะปรับตัวได้
หลังจากการปรับตัวตลอดช่วงเวลา 3 เดือนมาแล้ว และก้าวสู่เดือนที่ 3-6 คุณแม่เริ่มคุ้นชินกับบทบาท "ฉันคือแม่ตั้งครรภ์" คุณแม่ส่วนใหญ่เริ่มอารมณ์ผ่อนคลายขึ้น เริ่มเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ตามมาได้ง่ายขึ้น รู้สึกถึงสิ่งมีชีวิตน้อย ๆ ที่อยู่ในครรภ์ ยามลูกดิ้นเป็นวินาทีอันยิ่งใหญ่ที่ยากจะบรรยายถึงความหมายของความเป็นแม่และลูก
ใกล้คลอด ขอกอดอีกที (นะพ่อ)
เมื่อความอุ้ยอ้ายมาเยือน ร่างกายคุณแม่เริ่มมีเนื้อมีหนัง น้ำหนักตัวมากขึ้น เดินเหินหยิบจับอะไรไม่สะดวก ช่วยตัวเองไม่ได้เหมือนก่อน ยิ่งใกล้คลอดก็จะกังวลเรื่องการคลอด กลัวลูกไม่แข็งแรงสารพันปัญหากังวล
การเอาใจใส่ และกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ คนรอบข้าง คือยาชูกำลังที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์ปรับอารมณ์ในแต่ละวันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะคุณพ่อให้ดูแลใส่ใจคุณแม่เป็นพิเศษ อย่าให้มีการน้อยใจเป็นอันขาด ควรใช้คำพูดที่ให้ความเชื่อมั่นว่าจะอยู่เคียงข้างเป็นพลังทางบวกให้คุณแม่ผ่านทุกสิ่งไปได้
ออกกำลังกาย ควบคู่การตั้งครรภ์
การออกกำลังกายทำได้หลายรูปแบบ การออกกำลังกายสำหรับแม่ท้องก็ควรเป็นอะไรที่เบา ๆ ผ่อนคลาย แขน ขา และจิตใจไปด้วย จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินชมสวน ชมธรรมชาติ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ รวมถึงการทำจิตใจให้สงบสบาย
หากเมื่อใดที่คุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ หรือมีควรกังวลขึ้นมา ลองใช้วิธีเรียนง่าย ๆ ที่ทำได้เองทุกเวลาอย่างการนั่งพักทำใจสบาย ๆ ในมุมที่โปรด ห้องที่มีอากาศถ่ายเท ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ค่อย ๆ หลับตา หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ คิดถึงแต่เรื่องราวดี ๆ ภาพที่สวยงาม ครั้งละประมาณ 5-10 นาที ไปพร้อม ๆ กับเสียงเพลงเบา ๆ จะพบว่าความสุขอยู่ใกล้ ๆ นี่เอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.23 Issue 272 มีนาคม 2559