พัฒนาการเด็ก จะเติบโตสมวัยได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร Mother & Care เรื่องโรคไบโพล่าร์ หรืออารมณ์ 2 ขั้ว ที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้หมั่นสังเกตอาการ และตระหนักถึงโรคอารมณ์ 2 ขั้ว เพราะหากรู้ทันและเฝ้าระวังปัญหาก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติในสังคมได้ไม่ยากค่ะ
เราได้ยินหรือรู้จัก โรคไบโพล่าร์ (อารมณ์ 2 ขั้ว) ในกลุ่มผู้ใหญ่พอสมควร ถามว่าในเด็กพบได้หรือไม่ พบได้ค่ะ เพียงแต่อุบัติการณ์ของโรคไม่มากเท่าผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก็คือ รู้ทันปัญหาได้ก่อนที่จะสายเกินแก้ พ่อแม่ คนรอบข้างจะช่วยป้องกันและแก้ไขผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดกับเด็กได้อย่างไรนั้น ฉบับนี้ พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.ศรีธัญญา ให้ข้อมูลและคำแนะนำค่ะ
อุบัติการณ์ กลุ่มผู้ใหญ่มีประมาณ 1-2% หมายความว่า จำนวน 100 คนที่นำมาเรียงกัน จะพบคนที่เป็นโรค 1-2 คน ส่วนในเด็กมีไม่ถึง 1% ประมาณ 0.3-0.5% หมายความว่า ถ้านำเด็กมาเรียงกัน 200 คน จะพบคนที่มีเป็นโรค 1-2 คน
ดังนั้น ผู้ป่วยในกลุ่มเด็กจึงมีจำนวนไม่มาก พบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่วนแนวโน้มความชุกของโรค ปัจจุบันพบว่า ถูกค้นพบและเข้าสู่กระบวนการรักษามากขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งอาจมาด้วยอาการอื่น ๆ โดยที่ผู้ปกครองไม่รู้หรือบางครั้งหมอก็อาจไม่รู้ว่าคือ อาการโรคไบโพล่าร์ อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคไบโพล่าร์ แต่ที่จริงเด็กมีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคไบโพล่าร์
สาเหตุของโรค
ประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น
พันธุกรรม เป็นสาเหตุสำคัญของโรคจิตเวช นั่นคือพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติมีประวัติของโรค ซึ่งทำให้เด็กมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไบโพล่าร์หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ค่อนข้างสูง เช่น พ่อแม่เป็นโรคไบโพล่าร์ เด็กมีความเสี่ยงของโรคประมาณ 4 เท่าของคนปกติ หรือญาติพี่น้องเป็น โอกาสที่เด็กจะเป็นก็มีถึง 2-3 เท่า
ด้านชีวภาพ เป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม เรื่องระบบสมอง ศูนย์ควบคุมการทำงานของอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติจากคนทั่วไปของตัวเด็ก
การเลี้ยงดู เป็นปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น ความกดดัน ความเครียด ถูกทอดทิ้ง เป็นต้น มีส่วนทำให้เกิดอาการ
สังคม เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เด็กแสดงอาการ (ไม่ใช่สาเหตุหลัก) เนื่องจากงานวิจัยพบว่า สิ่งที่มีส่วนในการกระตุ้นให้เด็กแสดงอาการ ไม่ว่ากลุ่มโรคไบโพล่าร์หรือโรคซึมเศร้าก็คือ การสูญเสีย การถูกทอดทิ้ง ส่งผลต่อการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรมหรือทางชีวภาพ เมื่อพบกับภาวะดังกล่าว จึงเกิดการแสดงออกของโรค
อาการสัญญาณเตือน
ความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คือเรื่องของอาการ เพราะอาการและระยะเวลาของผู้ใหญ่สามารถสังเกตเห็นชัดเจนวินิจฉัยได้ง่าย โดยสังเกตจากอารมณ์ทั้ง 2 ด้าน เช่น อารมณ์ที่ครึกครื้นหรือมีความต้องการมากเป็นพิเศษ อีกด้านหนึ่งท้อแท้ เบื่อหน่าย ซึมเศร้า สำหรับเด็กการแสดงอารมณ์ยังเห็นได้ไม่ชัดเจน ยิ่งในเด็กเล็ก (ช่วงประถมศึกษา) อาจแสดงออกในลักษณะของพฤติกรรม เช่น ไม่นิ่ง สมาธิสั้น คิดเร็วทำเร็ว ไม่รอบคอบ พูดมาก หากมีภาวะโรคไบโพล่าร์ก็จะมีเรื่องของอารมณ์ร่วมด้วย เช่น แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ดังนั้น การสังเกตหรือวินิจฉัยโรคไบโพล่าร์ในเด็กจึงค่อนข้างยากโดยคุณหมอจะติดตามในเรื่องของพฤติกรรมเป็นหลัก เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาการของโรคจะเริ่มแสดงชัดเจนมากขึ้น โดยพ่อแม่สามารถสังเกตจากอาการเหล่านี้
อารมณ์แปรปรวนง่าย ๆ
มีความต้องการที่มากเป็นพิเศษ
พูดหรือคิดอะไรที่เกินจริง
เศร้า เสียใจได้ง่าย
ทำอะไรที่จับจด เปลี่ยนแปลงบ่อย
ป้องกันและดูแลได้
การเลี้ยงดู แม้ไม่มีสาเหตุจากโรคเป็นพื้นฐานหรือเด็กไม่มีความเสี่ยงของโรค แต่การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมจนทำให้เด็กขี้โมโหง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว เอาแต่ใจตัวเอง อดทนหรือรอคอยไม่เป็น (เป็นไบโพล่าร์แบบเทียม) ก็อาจส่งผลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้
วิธีหนึ่งที่จะลดความเสี่ยง ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของเด็ก คือ การสร้างสภาพจิตใจและอารมณ์ที่มั่นคง เช่น
สอนให้ลูกสามารถปรับตัว กับภาวะความเครียด ความกังวลต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
สอนการจัดการ แก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยของลูก
สร้างปฏิสัมพันธ์ โดยการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัวที่ลูกสามารถพูดคุยปรึกษากับพ่อแม่ได้ หรือการมีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดี
ยา การดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอารมณ์แปรปรวน ยาเป็นสิ่งสำคัญที่จะประคับประคองอาการปรับสารเคมีในสมอง ทั้งนี้ การใช้ยาขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการรักษาด้วย เช่น เด็กเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เร็ว กินยาสม่ำเสมอ โอกาสที่จะหายขาดโดยไม่ใช้ยาก็มีความเป็นไปได้ นอกจากนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการด้วย เมื่ออาการดีขึ้นก็จะลดปริมาณยาลง ดังนั้น หากไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคถูกต้องตั้งแต่ยังเด็ก โอกาสที่จะหายขาดค่อนข้างยาก แต่อาการจะดีขึ้นโดยการใช้ยาควบคุมไปตลอดชีวิต
วิธีเหล่านี้ไม่ได้ช่วยป้องกันเฉพาะโรคไบโพล่าร์และภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคจิตเวช ก็สามารถช่วยได้ แม้การเลี้ยงดูจะไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคโดยตรง
ทางออกของคุณหมอ
มาฟังข้อคิด วิธีป้องกัน และดูแลลูกน้อยจากคุณหมอที่มากประสบการณ์การการทำงาน และการดูแลผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ รู้ทันและเฝ้าระวังปัญหา หรือหาทางออกดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกน้อยที่เหมาะสมค่ะ
กระบวนการทำงานและการดูแลของหมอ
เมื่อผู้ปกครองนำบุตรหลานมา หมอจะต้องประเมินอาการโดยการซักประวัติของเด็ก ถามเรื่องของความรู้สึกของตัวเองและต่อผู้อื่น เรื่องของอารมณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองของตัวเองและต่อคนอื่น ส่วนเรื่องของพฤติกรรมนั้นจะเป็นการสอบถามจากคนรอบข้างและผู้ปกครอง ถึงอาการโดยรวมและพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก จากนั้นคือขั้นตอนการรักษาหลัก ๆ หมอจะให้ยาเพื่อเป็นการปรับสมดุลในสมองให้สามารถควบคุมอารมณ์และแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม
หลังจากนั้นคือ การทำจิตบำบัดกับเด็กและครอบครัว กับเด็กคือ สอนให้เด็กสามารถจัดการกับความเครียดของตัวเองหรือสามารถปรับตัวกับการอยู่กับผู้อื่น รวมถึงการแก้ปัญหาเพื่อลดแรงกดดันในตัวเด็ก ในด้านครอบครัว คือทำอย่างไรให้เกิดการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์มีบรรยากาศที่ดีในครอบครัว เพราะบางครั้งปัจจัยด้านครอบครัวไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อพ่อแม่คนใกล้ตัวพบปัญหาของเด็กก็อาจจะทำให้พ่อแม่ป่วยเพิ่มอีกหนึ่งคนตามมา เพราะอยู่ในภาวะวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวลูก
พ่อแม่ต้องทำอย่างไรกับปัญหา
ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะทางสื่อออนไลน์ หนังสือ หรือเอกสารเรื่องการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคนี้ ยอมรับว่ามีเพิ่มมากขึ้นและสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วย แต่ในเส้นทางการปฏิบัติและการตระหนักถึงสำคัญที่สุด เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณได้ยินเสียงคนรอบข้างบอกว่า ลูกของคุณไม่ทำตามกฎ ดื้อ ไม่ทำตามกติาของโรงเรียน แตกต่างจากเด็กทั่วไป คุณต้องถามตัวเองด้วยว่า การเลี้ยงดูของคุณมีผลให้เกิดปัญหาหรือเปล่า เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มักคิดว่าลูกปกติ ไม่มีปัญหาอะไร (กลไกการป้องกันโดยธรรมชาติของมนุษย์) ทว่า พ่อแม่ต้องมีสติเป็นที่ตั้งในการเลี้ยงลูก ถามตัวเองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และค่อย ๆ ค้นหาคำตอบ ยิ่งตระหนักได้เร็ว แก้ไขได้เร็ว ปัญหาก็จะจบลงได้เร็วเช่นกัน
อย่ามองข้าม สารเสพติด
ไม่ว่ากลุ่มยาชนิดใด ๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำหนัก (ที่มีสารแอมเฟตามีน) ยาบ้า เป็นต้น มีฤทธิ์เกี่ยวกับระบบประสาท ล้วนมีผลกระทบต่อสารเคมีในสมอง ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ก็คือ สมองจะมีการกระทบกระเทือนมากน้อยเพียงไรจากการใช้สารเสพติด และจะรู้ได้อย่างไรว่า จะไม่เกิดผลอะไรกับเด็ก ถึงแม้ว่าจะเลิกใช้สารเสพติดแล้วก็ตาม เพราะเด็กบางคนใช้สารเสพติดเพียงครั้งสองครั้งก็มีผลแล้ว หรือหยุดใช้สารเสพติดเป็นปีก็มีอาการเกิดขึ้นได้เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่เด็กมีภาวะความเครียด กดดัน ทำให้แสดงอาการออกมา และไม่ใช่เฉพาะโรคไบโพล่าร์เท่านั้น อาการของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ก็สามารถพบได้
ทัศนคติและวินัยในการดูแลเด็กของพ่อแม่นั้นมีส่วนสำคัญ ที่จะแก้ไขปัญหากรณีโรคไบโพล่าร์และโรคทางจิตเวช เพราะจากเคสที่มารักษาแล้วพบว่า อาการไม่ดีขึ้น เกิดจากการดูแลของพ่อแม่ เช่น ไม่ได้ให้ลูกกินยา มาพบคุณหมอไม่สม่ำเสมอหรือต่อเนื่อง ก็มีส่วนทำให้อาการของโรคยังคงอยู่หรือเกิดขึ้นได้อีก
เด็ก ๆ กับสังคมโรงเรียน
จากความคิดและประสบการณ์ของหมอคิดว่า สิ่งสำคัญ คงขึ้นอยู่กับทัศนคติของคุณครูที่จะมองปัญหาของเด็กอย่างไร เพราะหากบุคลิกภาพของเด็กไม่ได้ส่งผลกับเพื่อนหรือครูที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องระบุถึงตัวโรคให้ครูรับรู้โดยตรงว่าลูกมีปัญหาเรื่องนี้ เพราะความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวชนั้น (สำหรับบางคน) อาจเป็นภาพติดลบส่งผลต่อตัวเด็กได้ ดังนั้น ควรจะต้องให้หมอประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กก่อน
แนวทางที่แนะนำคือ การเฝ้าระวังหรือป้องกัน เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องของอารมณ์ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ อาจให้ครูเป็นผู้ช่วยในการสื่อสารระหว่างเด็กกับเพื่อน ๆ มีวิธีจัดการกับอารมณ์ของเด็ก เพื่อไม่ทำให้เด็กรู้สึกกดดันหรือเครียด นอกจากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ปัญหาเริ่มมากขึ้น ขยายวงมากขึ้นทุกสังคมที่เด็กไป เช่น การกระทบกระทั่งกับเพื่อนหรือครู การทะเลาะวิวาท ลักษณะแบบนี้ไม่ควรเพิกเฉย ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา
สิ่งที่คุณหมอฝากบอกมาก็คือ โรคไบโพล่าร์หรือโรคจิตเวชไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่เราทุกคนจะทำอย่างไรให้เด็กสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติในสังคม เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและร่วมด้วยช่วยกัน เข้าใจตรงกันนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.130 ตุลาคม 2558