พัฒนาการเด็ก สุขภาพ และการเจริญเติบโตของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้ามองอยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัย วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ในการเสริมสร้างภูมิต้านทานลูกวัยกำลังซนให้มีความแข็งแรง ในช่วงที่อากาศแปรปรวนแบบนี้มาแนะนำกันค่ะ พร้อมแล้วเรามาดูข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ กันเลยค่ะ
ในฐานะพ่อแม่... คุณอาจเคยคิดสงสัยว่า "มีทางใดไหมที่จะปกป้องลูกของเราจากสารพัดเชื้อโรคที่เขาต้องพบอยู่ทุกวัน" คำตอนที่น่าเศร้าก็คือ คุณไม่มีทางกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเด็ก ระบบภูมิต้านทานของลูกตั้งแต่แรกเกิด ก็ไม่ประสีประสา และไม่มีประสบการณ์เหมือนกับเจ้าตัวน้อยของเรานั่นเอง การเจ็บป่วยจึงเป็นวิธีที่ระบบภูมิต้านทานในร่างกายของลูกต่อสู้ และเรียนรู้ที่จะพัฒนาให้มีความแข็งแรงมากขึ้นทุกวัน ๆ และนี่เองจึงสาเหตุที่การเป็นไข้ปีละ 6-8 ครั้งของลูกถือเป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งนี้ หากคุณแม่รู้วิธีก็อาจลดจำนวนครั้งการเจ็บป่วยของลูกให้น้อยลงได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้
กินผัก และผลไม้ คุณแม่หลายท่านอาจจะส่ายหน้าเมื่อเห็นหัวข้อนี้ จริงอยู่ค่ะ ใคร ๆ ก็รู้ว่าผักผลไม้มีประโยชน์เพียงใด แต่การจะฝึกให้ลูกยอมกินสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก่อนที่จะถอดใจ คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ค่ะว่า แครอท ถั่วฝักยาว ส้ม สตอร์เบอร์รี่ ล้วนอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทาน ทั้งวิตามินซี และแคโรทีนอยด์ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามให้ลูกได้รับประทานผัก และผลไม้ทุกวัน ในปริมาณ 2 ช้อนโต๊ะสำหรับหนูน้อยวัยเตาะแตะ และ 1 ถ้วยตวงสำหรับเด็กโต
นอนหลับให้สนิท การศึกษาในผู้ใหญ่พบว่าการนอนน้อยทำให้ป่วยง่ายขึ้นเนื่องจากเซลล์ที่จะไปต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นไม่แข็งแรงพอ ซึ่งการศึกษานี้ใช้ได้เช่นเดียวกันกับเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่เข้าเนอร์เชอรี่ หรือไปโรงเรียน เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันอาจทำให้คุณหนู ๆ ตื่นตัวมากเกินไปจนไม่ยอมนอนกลางวัน ในแต่ละวันหนูน้อยวัยเตาะแตะควรได้นอนหลับให้ได้รวม 12-13 ชั่วโมง และหนูน้อยวัยเรียนควรนอนหลับให้ได้รวม 10 ชั่วโมง
ให้การออกกำลังเป็นกิจกรรมหลักของครอบครัว มีการศึกษาที่พบว่าการออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากต้องการให้ลูกมีนิสัยรักการออกกำลังกาย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีค่ะไม่ใช่บอกลูกให้ออกไปวิ่งเล่น แต่ว่าคุณยังคงนั่งกดมือถืออยู่ในห้องแอร์ ลองหากิจกรรที่ทุกคนในครอบครัวชื่นชอบเหมือนกัน เช่น ว่ายน้ำ ตีแบตฯ วิ่ง ฯลฯ และเลือกสัก 2-3 วันในสัปดาห์ ที่ทุกคนต้องมาออกกำลังกายพร้อมกัน ไม่เพียงร่างกายแข็งแรง แต่ยังเป็นการสร้างความแข็งแรงทางจิตใจให้สมาชิกในครอบครัวผูกพันกันยิ่งขึ้นด้วย
หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ถ้าสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ หากเป็นไปได้ควรป้องกันลูกน้อยจากควันบุหรี่มือสอง เพราะในควันบุหรี่มีสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด และส่วนใหญ่สารพิษเหล่านี้สามารถฆ่าเซลล์ในร่างกายของผู้ที่สูดดมควันเหล่านั้นได้ ซึ่งเด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับควันพิษมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะอัตราการหายใจของเด็กเร็วกว่า ไม่เพียงควันบุหรี่มือสองจะส่งผลต่อภูมิต้านทานของลูกเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อสติปัญญา และพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็ก ๆ อีกด้วย
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ น้ำนมแม่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มก้นให้ทำงานได้ดีขึ้นเป็นสองเท่า ป้องกันอาการหูติดเชื้อ ท้องร่วง ภูมิแพ้ ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมถึงภาวะไหลตายในทารก (Sudden Intant death syndrome) ด้วย มีงานวิจัยที่พบว่าน้ำนมแม่ยังอาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง และลดความเสี่ยงที่อาจเป็นโรคมะเร็งต่อไปในอนาคต
สอนลูกเรื่องสุขอนามัย จริงอยู่ว่าเราหลีกหนีเชื้อโรคสารพัดไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้เชื้อโรคนั้นเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงการล้างมือ สอนเจ้าตัวน้อยให้ล้างมืออย่างถูกวิธีทุกครั้งหลังกลับถึงบ้าน หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง หลังใช้ห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร อาจทำให้ดึงดูดใจขึ้นด้วยการให้ลูกเลือกสบู่ล้างมือสำหรับเด็กที่มีสีสดใสล่อตาล่อใจ พกกระดาษเปียกติดกระเป๋าไว้เสมอเมื่อออกนอกบ้าน
อย่าใช้ยาแก้อักเสบพร่ำเพรื่อ พ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อลูกเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มักจะหายาแก้อักเสบ (antibiotic) มาให้ลูกกิน ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ โดยหารู้ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของเด็กนั้น มักเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาแก้อักเสบนั้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การให้ลูกกินยาแก้อักเสบเมื่อเจ้าตัวน้อยเป็นไข้ตัวร้อนจึงไม่มีประโยชน์ หนำซ้ำยังอาจทำให้ร่างกายของลูกมีอาการดื้อยาแก้อักเสบ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียขึ้นมาจริง ๆ การรักษาด้วยยาแก้อักเสบจึงไม่ได้ผล ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยาให้ลูกกินเอง หากไม่แน่ใจว่าลูกป่วยเพราะอะไร ควรหาหมอและให้คุณหมอจัดยาให้จะดีที่สุดค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.23 Issue 267 ตุลาคม 2558