ไขข้อสงสัย ? เหตุใดจึงต้องสนใจศึกษาจุลินทรีย์ Bifidus

จุลินทรีย์ Bifidus

          ไขข้อสงสัย ว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่จึงต้องสนใจศึกษาและต้องเสริมสร้างจุลินทรีย์ Bifidus ให้กับลูกน้อย อยากรู้มาฟังคำตอบกันเลย...

          ในปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา มีสุขอนามัยดีขึ้น พบว่ามีคนเป็นโรคติดเชื้อลดลง แต่กลับพบว่าเป็นโรคภูมิแพ้ โรคที่เกิดจากการที่มีภูมิมากเกินปกติ ทั้งในลำไส้ ระบบข้อ กระดูก และระบบทั่วไปเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้นอกจากสุขอนามัยที่ดีขึ้นแล้วยังมีการคลอดบุตรโดยการผ่าท้องคลอด การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นกันมากขึ้น ส่งผลให้เชื้อดีไวต่อยา แต่เชื้อร้ายจะทนต่อยา ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้รวดเร็ว ซึ่งจากการศึกษาพบข้อมูลว่าการมีจุลินทรีย์ Bifidus ในลำไส้จำนวนมากส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

จุลินทรีย์ Bifidus

          ทางเดินอาหารเป็นอวัยวะที่มีโพรง เริ่มตั้งแต่ปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ซึ่งตรงชั้นเยื่อบุของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ จะประกอบด้วย ชั้นเซลล์เยื่อบุ ชั้นใต้เซลล์เยื่อบุ และชั้นกล้ามเนื้อเรียบ โดยที่ชั้นใต้เยื่อบุลำไส้นี้เองมีเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (Gut Associated Lymphoid Tissue, GALT) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ เนื้อเยื่อ GALT เมื่อได้รับการกระตุ้นจากจุลินทรีย์ที่เกาะติดกับผิวเยื่อบุลำไส้จะปล่อยสารเคมีไปสื่อสารกับเซลล์เนื้อเยื่อน้ำเหลือง ซึ่งใช้วิธีส่งท่อขึ้นมารับสัญญาณ รับตัวอย่าง จะเป็นอาหารหรือสารเคมีของจุลินทรีย์แล้วเกิดกลไกการตอบสนองต่อสิ่งนั้น ๆ ถ้าเป็นอาหารมักตอบสนองไปในด้านทนรับอาหารชนิดนั้นได้ (Tolerance) ถ้าได้รับสารกระตุ้นจากจุลินทรีย์ที่ดี (Good germ,health germ) จะตอบสนองโดยสร้างสารให้การป้องกัน

          ในทางตรงข้ามหากจุลินทรีย์เป็นตัวร้าย (Bad germ) ปล่อยสารเคมี หรือถ้าเป็นสารก่อแพ้ ซึ่งเนื้อเยื่อน้ำเหลืองรับสัญญาณแล้วรู้ว่าเป็นเชื้อร้ายหรือเป็นสารก่อแพ้จะตอบสนองด้วยการต่อสู้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บ เกิดการอักเสบที่ลำไส้แล้วยังสร้างสารซึ่งก่อการอักเสบหรือภูมิแพ้เข้าสู่ระบบไหลเวียน ทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะนอกทางเดินอาหารได้ เช่น ทารกแพ้โปรตีนนมวัว เกิดการอักเสบที่ลำไส้แล้วยังเกิดอาการอักเสบที่นอกลำไส้ ได้แก่ ที่จมูกมีน้ำมูกไหล หลอดลมเกิดอาการไอ ผิวหนังเกิดผื่นกรากน้ำนม เป็นต้น

จุลินทรีย์ Bifidus

          ในลำไส้จะมีเชื้อต่าง ๆ มากมายทั้งดีและร้าย ผลของการตอบสนองนี้จะต้านน้ำหนักระหว่างกัน จะป้องกันหรืออักเสบขึ้นกับว่าใครมีน้ำหนักมากกว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานว่าการที่พบโรคภูมิแพ้และการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลกนั้นน่าจะเกิดจากคนเราไม่ได้รับเชื้อดี ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนในอดีต

          เพราะเด็กรุ่นหลัง ๆ ได้รับการเลี้ยงดูสะอาด แทบไม่ได้เชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ เรียกว่าไม่ได้สัมผัสดิน ซึ่งมีจุลินทรีย์ดี ๆ เลย แม้แต่จะปั้นวัว ปั้นควาย ก็ใช้ดินน้ำมันปั้นแทนดินเหนียวกันแทบหมดแล้ว สุขอนามัยที่ดีขึ้น มีน้ำดื่มที่สะอาด มีหน้ากากอนามัย มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยลดการติดเชื้อ กระตุ้นความต้านทานเพื่อป้องกันโรคพร้อม ๆ กับกระตุ้นภูมิต้านทานซึ่งก่อการอักเสบ ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ซึ่งฆ่าเชื้อดี ๆ ให้ลดน้อยลง ทำให้เชื้อฉวยโอกาสก่อโรคเพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลให้ดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้เสียไปอย่างมาก ซึ่งถ้าหากภูมิด้านก่อการอักเสบมีน้ำหนักมากกว่าภูมิด้านป้องกัน จะนำไปสู่การเกิดโรคภูมิแพ้และการอักเสบที่เนื้อเยื่อต่าง ๆ มากขึ้นในปัจจุบัน เรียกสมมุติฐานนี้ว่า Hygiene Hypothesis

จุลินทรีย์ กลุ่มไหนดี กลุ่มไหนร้ายบ้าง ?

          นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาประชากรของจุลินทรีย์ในลำไส้โดยการดูดของเหลวจากโพรงลำไส้มาเพาะเชื้อ ซึ่งทำได้ยากจึงเพาะเชื้อจากอุจจาระแทน ซึ่งสามารถแยกกลุ่มต่าง ๆ ได้ดังภาพนี้ 

จุลินทรีย์ Bifidus

จุลินทรีย์ที่พบจัดได้เป็น 4 กลุ่ม

          จุลินทรีย์สุขภาพ (Health germ, good germ) ซึ่งกินอาหารจำพวกแป้ง ได้แก่กลุ่มจุลินทรีย์ที่ผลิตกรด Lactic (Lactic acid bacteria) ประกอบด้วยจุลินทรีย์กลุ่ม Lactobacilli, Eubacteria และ Bifidobacteria ซึ่งได้ถูกจัดให้เป็น Probiotic ซึ่งหมายถึง จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อบริโภคในปริมาณที่เพียงพอจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ

          จุลินทรีย์กลุ่มที่ก่อโรค (Pathogenic bacteria) เช่น เชื้ออหิวาต์ และบิด เป็นต้น เชื้อกลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่ลำไส้จำนวนมากพอจะเกิดโรค ในภาวะปกติไม่พบ

          จุลินทรีย์กลุ่มฉวยโอกาสก่อโรค (Opportunistic bacteria) ซึ่งกินอาหารพวกโปรตีน ได้แก่ กลุ่ม Clostridia, Pseudomonas เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีเชื้อกลุ่มดีๆลดลง เชื้อกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนฉวยโอกาสก่อโรค

          จุลินทรีย์กลุ่มนี้อยู่กลาง ๆ (Borderline) กินทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเป็นอาหาร ให้คุณเมื่อมีจำนวนน้อย และให้โทษเมื่อมีจำนวนมาก ได้แก่ Bacteroides และ Klebsiela เป็นต้น

          ควรสร้างให้สิ่งแวดล้อมในลำไส้ของลูกน้อยให้มีประชากรจุลินทรีย์สุขภาพโดยเฉพาะ Bifidus โดยการให้ทารกเกิดทางช่องคลอด กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ให้อาหารเด็กตามวัยที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ให้ดื่มนมที่เสริมจุลินทรีย์ที่ศึกษามาแล้วว่าช่วยป้องกันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้


เรียบเรียงโดย ศ. เกียรติคุณ พญ. วันดี วราวิทย์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย ? เหตุใดจึงต้องสนใจศึกษาจุลินทรีย์ Bifidus อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10:41:30 3,065 อ่าน
TOP
x close