คุณแม่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ควรเดินหรือยืนนาน ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้ขาบวมมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับน่ารู้ มาแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ หากเกิดอาการปวดเมื่อยเท้าเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น และท่าออกกำลังกาย ป้องกันเข่าเสื่อมในแม่ตั้งครรภ์ มาแนะนำกัน พร้อมแล้วไปดูวิธีแก้ไขและหลีกเลี่ยงอาการเสี่ยงจากนิตยสารรักลูก กันเลยดีกว่าค่ะ ^^
ยามตั้งครรภ์ทั้งเสรีระและฮอร์โมนของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลง การยืนหรือเดินนาน ๆ เกิน 30 นาที จึงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพคุณแม่ได้ค่ะ
4 ปัญหา ถ้ายืน...เดินนาน
ข้อเข่าเสื่อม
โดยเฉลี่ยน้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์อย่างน้อย 11-15 กิโลกรัม ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นตลอด 9-10 เดือน ทั้งยังมีกิจกรรมต้องทำทุกวัน ยิ่งคุณแม่เดินมาก ก็จะยิ่งทำให้น้ำหนักลดลงที่เข่ามากขึ้น คุณแม่จึงมักมีอาการปวดข้อเข่า คล้ายเข่าเสื่อม หรืออาจเกิดการเสื่อมของเข่าขึ้นจริง ๆ ได้
วิธีแก้ไข
ไม่ควรเดินเยอะ หรือขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
ไม่ควรยกของหนัก หรือนั่งยอง ๆ
ควรควบคุมน้ำหนักให้ขึ้นตามเกณฑ์ขณะตั้งครรภ์ (สัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม) เพราะอาการปวดจะมากขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไป
ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง เพื่อรองรับน้ำหนักตัวแทนข้อเข่า ซึ่งจะป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อม หรือในกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ช่วยให้ไม่เสื่อมมากกว่านี้ และลดอาการปวดได้
เลือดคั่ง เท้าบวม
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป มดลูกจะยืดเอียงไปทางขวา ทำให้กดทับเส้นเลือดดำใหญ่ในอุ้งเชิงกราน ที่นำเลือดกลับสู่หัวใจ และถ่ายเทเป็นเลือดดี เพื่อสูบฉีดเลี้ยงร่างกายต่อไป เมื่อถูกกด การไหลเวียนเลือดจากขาส่วนล่างกลับสู่หัวใจทำได้น้อย จึงมีโอกาสเลือดคั่งที่ขาและเท้า ทำให้เกิดปัญหาขาหรือเท้าบวมได้ง่าย ยิ่งคุณแม่ยืนนาน ๆ หรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งทำให้ขาบวมมากขึ้น
วิธีแก้ไข
หลีกเลี่ยงการยืนนาน หรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน
หลีกเลี่ยงการนั่งห้อยขานาน ๆ ควรนั่งพาดขาสูง เช่น พาดขา วางบนเก้าอี้
ขณะนอนหลับ ควรเอาหมอนหรือผ้าห่มมารองหนุนขาให้สูง จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีกว่า
หากมีอาการขาบวมและปวด ให้แช่ขาในน้ำอุ่นก่อนนอน จะช่วยลดอาการปวดลงได้
ท่าออกกำลังกาย ป้องกันเข่าเสื่อม
1. ยืนตรง มือเกาะกับพนักเก้าอี้ ย่อตัวลงให้เข่างอเล็กน้อย ค้างไว้ นับ 3-6 แล้วยืนตรงทำซ้ำ 3-6 ครั้ง
2. นั่งบนเก้าอี้ เหยียดเท้าข้างหนึ่งและเกร็งไว้ 10 วินาที แล้วจึงงอเข่า แล้วสลับข้าง ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
เจ็บขาหนีบ
เมื่อตั้งครรภ์มดลูกจะยืดขยายขึ้น เส้นเอ็นที่ยืดมดลูกไว้กับกระดูกเชิงกรานก็จะถูกดึงให้ยืดไปด้วย โดยเฉพาะบริเวณเหนือขาหนีบทั้งสองข้าง คุณแม่จึงมักรู้สึกเจ็บท้องน้อยบริเวณเหนือขาหนีบสองข้าง
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น หลัง 20 สัปดาห์ไปแล้ว มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นและเอียงไปทางขวา ทำให้เอ็นด้านซ้ายถูกดึงยืดตึงมากกว่า จึงรู้สึกเจ็บเหนือขาหนีบซ้ายมากกว่าขวา
ซึ่งระหว่างวันคุณแม่ต้องเดินทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ยิ่งเดินมาก อาการเจ็บปวดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เวลาเดินหรือขยับเปลี่ยนอิริยาบถ จะรู้สึกเจ็บแปล๊บ ๆ แม้ไม่เจ็บปวดมาก แต่ก็ทำให้กังวล และรำคาญได้
วิธีแก้ไข
เลือกสวมกางเกงที่พยุงหน้าท้อง หรือสวมเข็มขัดพยุงหน้าท้อง เพื่อไม่ได้เอ็นตึงมาก อาการปวดขณะขยับตัวจะลดลง
เวลากลางคืน เป็นโอกาสทองที่จะพักเส้นเอ็นนี้ คุณแม่ควรจัดท่านอน เช่น ถ้านอนหงายก็นอนงอเข่าและสะโพก หาหมอนสักใบหนุนใต้เข่า หรือถ้านอนตะแคง ควรนอนตะแคงซ้าย งอเข่าและสะโพก กอดหมอนข้าง เพื่อหย่อนเส้นเอ็น จะทำให้คลายปวดในแต่ละวันได้ดี
เส้นเลือดขอดที่ขา
คือมีเลือดคั่งที่เส้นเลือดดำ ทำให้หลอดเลือดโป่งพอง คุณแม่อาจมีอาการคัน หรือรู้สึกหนัก ๆ ที่ขา ซึ่งเกิดจากมดลูกกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ในอุ้งเชิงกราน และจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้เวลายืนหรือนั่งห้อยขานาน ๆ จะยิ่งมีอาการมากขึ้น
นอกจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ในคุณแม่ที่เดินมาก ๆ ส่งผลให้ข้อเท้าและฝ่าเท้ารับน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อเท้า จึงเกิดอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เจ็บส้นเท้า เวลาเดินแล้วปวดเท้าได้
วิธีแก้ไข
หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่งห้อยขานาน ๆ ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาที ใส่ผ้ารัด (support) ที่ขา บริเวณตำแหน่งเส้นเลือดขอด ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ควรสวมรองเท้าที่ใส่สบาย พื้นเสมอ หนานุ่ม กันลื่น และรองรับการขยายตัวของเท้าได้ดี
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะลดอาการปวด หรือการอักเสบที่เกิดจากการเดินระหว่างตั้งครรภ์ หากปฏิบัติตามวิธีข้างต้นจนถึงหลังคลอด 3 เดือน จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 386 มีนาคม 2558