x close

ต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก เสี่ยงโรคแทรกซ้อน



           อาการต่อมทอนซิลอักเสบเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู่ใหญ่ และพบได้ในเด็กเล็กเพราะภูมิคุ้มกันยังน้อยและรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเรื่องน่ารู้ของอาการต่อมทอนซิลอักเสบ มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่เฝ้าระวังเมื่อลูกน้อยมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ส่วนจะอันตรายและมีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ เราไปหาคำตอบจากนิตยสารรักลูก กันดีกว่าค่ะ ^^

           คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นเคยกับคำว่า ต่อมทอนซิลอักเสบ โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะกับเจ้าตัวเล็กวัยเข้าโรงเรียน ซึ่งหากดูแลดี ๆ กินยาครบไม่นานก็หายค่ะ แต่ถ้าปล่อยไว้นานไม่รักษา มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้เช่นกัน

ต่อมทอนซิลด่านแรกดักเชื้อโรค

           ต่อมทอนซิล เป็นต่อมน้ำเหลืองอยู่ภายในลำคอมีหน้าที่ดักจับเชื้อโรค อาทิ แบคทีเรีย ไวรัส ทั้งยังทำหน้าที่กรองเชื้อโรคและฆ่าเชื้อโรคไปในตัวก่อนเชื้อโรคจะเข้าสู่ปอด เมื่อเชื้อโรคถูกทอนซิลกักไว้นานบวกกับร่างกายอ่อนแอในช่วงนั้น ทำให้เกิดอักเสบได้

ไวรัสและแบคทีเรียทำทอนซิลอักเสบ

           เชื้อเหล่านี้ส่วนใหญ่มาพร้อมกับการหยิบของสกปรกเข้าปาก อาทิ อาหารไม่สะอาด ช้อนส้อมไม่สะอาด โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ มักจับของเล่น ไม่ล้างมือ หยิบนมใส่ปาก กินน้ำแก้วเดียวกับเพื่อนที่ไม่สบาย รวมทั้งหายใจเอาอากาศที่ไม่สะอาดเข้าไป โดยเฉพาะอากาศที่มีเชื้อโรคเยอะ เช่น ที่โรงเรียนของลูก มีเด็กไม่สบายแล้วไอโดยไม่ปิดปาก เมื่อเด็กอีกคนเดินผ่านแล้วสูดอากาศที่มีเชื้อโรคปะปนเข้าไป ร่วมกับภูมิคุ้มกันร่างกายของเด็กไม่แข็งแรงทำให้ได้รับเชื้อโรคเข้าไปเต็ม ๆ

อาการของทอนซิลอักเสบ

           ในเด็กเล็กมักไม่ยอมกินข้าว เพราะเจ็บคอ ร้องงอแง ไม่ยอมนอน ส่วนเด็กโตจะบอกได้ว่าเวลากลืนน้ำ หรืออาหารจะเจ็บคอ หากติดเชื้อแบคทีเรีย เด็ก ๆ จะมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัวอ่อนเพลีย ไอ มีน้ำมูก ถ้าเกิดอักเสบมากอาจเจ็บหูร่วมด้วย และเมื่ออ้าปากดูคอ จะเห็นว่าทอนซิลโต บวมแดง และอาจมีหนอง

ทอนซิลอักเสบอันตราย ?

           โรคนี้อาจทำให้เด็ก ๆ ขาดสารอาหาร เพราะกินน้ำ กินข้าวได้น้อย ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ไปโรงเรียนไม่ได้ ทำให้เรียนตามเพื่อนไม่ทัน ในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ด้วย ถ้าปล่อยให้เกิดอักเสบนาน ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อกินยาฆ่าเชื้อครบกำหนดตามที่คุณหมอสั่ง พักผ่อนเยอะ ๆ ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ และให้เด็ก ๆ กลั้วคอทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ วันละ 2-3 ครั้ง ก็จะหาย และไปโรงเรียนได้ตามปกติ

ระวัง ! ฝีใต้ต่อมทอนซิล

           มักจะพบในเด็กวัยประถมขึ้นไป ลักษณะคือ ทอนซิลบวมแดง อาจโตข้างใดข้างหนึ่ง แต่บริเวณช่วงระหว่างผนังคอด้านในและต่อมทอนซิล จะเกิดฝึขนาดใหญ่หลบในอยู่ทำให้กลืนไม่ได้ แม้กระทั่งน้ำลาย พูดไม่ชัดจะเจ็บคอมาก ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดไข้สูง การรักษาคือ ดูดเอาหนองออกภายในเวลาครึ่งวัน-1 วัน จะสามารถกินข้าวต้ม และกินน้ำได้

โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

           ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้อวัยวะภายในเสื่อม เป็นไข้รูมาติก จากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ เพราะกินยาไม่ครบคอร์ส (1 คอร์ส = 5 - 7 วัน) ไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-4 สัปดาห์ ทำให้เชื้อแบคทีเรียค้างที่คอ เชื้อแบคทีเรียและสารพิษที่สร้างขึ้นมานี้ จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สร้างภูมิคุ้มกันแอนตี้แบคทีเรีย ซึ่งทำลายระบบหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และไต

           อาการที่พบคือต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ ปวดข้อ อ่อนแรง ยังส่งผลต่อลิ้นหัวใจ เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้พัฒนาเป็นโรคหัวใจ และภาวะไตอักเสบ ปัสสาวะออกมาเป็นสีน้ำล้างเนื้อ คือ ปัสสาวะมีเลือดปน สีปัสสาวะคล้ายน้ำปลา ทั้งหมดเป็นภาวะขั้นรุนแรงซึ่งเกิดจากแค่กินยาฆ่าเชื้อไม่ครบเท่านั้น แต่พบได้น้อยมาก

ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ ผ่าตัดดีมั้ย ?

           การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิออกในเด็ก คุณหมอจะพิจารณาจากเด็กที่มีทอนซิลใหญ่กว่าปกติ ทำให้มีช่องว่างให้อากาศ และอาหารผ่านไม่เพียงพอ ส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่ดีเพราะกินอาหารได้น้อย ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อย และส่งผลต่อการพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในอนาคต หรือทอนซิลอักเสบบ่อยเกินไป ทำให้ต้องรับยาที่ค่อย ๆ แรงขึ้น หรือต้องนอนโรงพยาบาลบ่อย ๆ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่

           ในเด็กเล็กคุณหมออาจพิจารณาผ่าตัดได้เช่นกัน เพราะต่อมทอนซิลในเด็กก่อนอายุ 25 ปีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดักเชื้อโรค แต่ในร่างกายของคนเรา ยังมีอีกหลายส่วนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ต่อมทอนซิลเท่านั้น การตัดเอาต่อมทอนซิลออก ผลของการดักเชื้อโรค อาจลดลงจริง แต่ลดไม่มาก

           สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนลูกเรื่องการดูแลรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือทุกครั้งก่อนนำอาหารเข้าปาก ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เวลาไอต้องปิดปาก เป็นต้น เพื่อฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 385 กุมภาพันธ์ 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก เสี่ยงโรคแทรกซ้อน อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 16:05:43 29,986 อ่าน
TOP