แล้วท้องนี้ของฉัน จะมีปัญหามดลูกบางหรือเปล่านะ
มดลูกบางเสี่ยงมดลูกแตก (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทฆกุล แพทย์เวชศาสตร์ด้านมารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนพอได้ยินเรื่องมดลูกบางหรือมดลูกแตก ย่อมรู้สึกกังวลกับครรภ์ของตนเอง หากพบคุณหมอตามนัด ฝากครรภ์สม่ำเสมอ ก็จะได้รับความรู้และการตรวจเช็กที่สามารถคลี่คลายปัญหานี้ไปได้
มดลูกบางเกิดได้อย่างไร
ปัญหามดลูกบางของคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ 3 สาเหตุ คือ
1. เกิดขึ้นในคุณแม่ที่เคยขูดมดลูกมาก่อน หลังการขูดหากเกิดการอักเสบหรือมีพังผืดขึ้นที่มดลูก อาจส่งผลทำให้ผนังมดลูกบางได้
2. เคยผ่านการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก บริเวณที่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ผนังมดลูกบางลง
3. ผ่าตัดคลอดบุตรมาแล้วหลายครั้ง
สาเหตุที่พบได้บ่อย คือการผ่าตัดคลอดบุตร เนื่องจากการผ่าตัดจะส่งผลให้ผนังมดลูกมีความบางลง จึงมีโอกาสเสี่ยงที่มดลูกจะแตกในจุดที่เคยได้รับการผ่าตัด แต่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผ่าตัดด้วย เช่น คุณแม่ท้องแรกที่ผ่าคลอดแบบผ่าแนวขวางด้านล่าง ซึ่งทำเฉพาะกรณีเสี่ยงรกพันกัน เพื่อไม่ให้เสียเลือดมาก การผ่าตัดลักษณะนี้มีโอกาสที่มดลูกจะแตกในท้องครั้งที่สองเพียง 1%
จากสถิติในไทยพบภาวะมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์น้อย เพราะส่วนใหญ่มีการฝากครรภ์ คุณหมอดูแลใกล้ชิด โอกาสที่มดลูกจะแตกจึงค่อนข้างน้อยมาก แต่หากเกิดแล้วจะมีความรุนแรงอาจเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้
มดลูกบาง...เสี่ยงรกเกาะต่ำ & มดลูกแตก
ปัจจุบันการคลอดโดยการผ่าตัดมีมากกว่าการคลอดด้วยตัวเอง ดังนั้นโอกาสที่จะเจอกรณีผนังมดลูกบาง รกเกาะต่ำ รกฝังตัวแน่น จึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดหลายครั้ง และเจอภาวะรกเกาะต่ำ พบว่า 10% ของแม่ที่มีรกเกาะต่ำนี้ มีรกฝังตัวแน่นผิดปกติควบคู่ไปด้วย ทั้งยังมีความเสี่ยงเกิดรกเกาะต่ำมากกว่าคุณแม่ท้องครั้งแรกหรือคลอดธรรมชาติประมาณ 3 เท่าและส่งผลให้มดลูกบางได้ คุณแม่ที่มีภาวะเสี่ยงมดลูกบาง อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์ผิดปกติ ดังนี้ได้ค่ะ
เสี่ยงรกเกาะต่ำ เมื่อมดลูกบางจุดไหนบริเวณนั้นจะเป็นจุดอ่อน ทำให้รกไปฝังตัวอย่างผิดปกติ คือโดยทั่วไปตำแหน่งที่รกฝังจะอยู่บริเวณด้านบนของมดลูก แต่เนื่องจากบริเวณที่มดลูกบางอาจมีรอยแผลหรือพังผืดเกิดขึ้น อันเป็นจุดที่กระตุ้นให้รกมาเกาะบริเวณนั้นและเกาะแบบผิดปกติ คือเกาะลึกหรือต่ำเกินไป ผลที่ตามมาคือมีความเสี่ยงที่จะตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ และคลอดก่อนกำหนด
มดลูกแตก ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมดลูกบางจะมีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะต่ำและรกฝังตัวผิดปกติ อาจมีอาการตกเลือด และเกิดภาวะเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด หากมีอาการแทรกซ้อนอาจรุนแรงนำไปสู่ภาวะมดลูกแตกได้
สังเกตอาการ มดลูกแตก
ปกติแล้วการวินิจฉัยมดลูกแตกค่อนข้างยาก สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก่อนที่มดลูกจะแตก คือ หัวใจทารกจะเต้นผิดปกติ หลังจากนั้นจะมีเลือดออกในช่องท้อง ทำให้แม่ช็อก ความดันแตก เสียเลือดมาก หากรักษาช้าอาจเสียชีวิตทั้งแม่และลูก
เมื่อมดลูกแตกโอกาสที่ลูกจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลอกตัวของรก ถ้ารกยังไม่ลอกตัว เด็กจะยังได้รับออกซิเจนตลอดเวลาโอกาสรอดก็จะสูง แต่ถ้ามดลูกแตกแล้วรกลอกตัวเลย โอกาสที่จะเสียชีวิตมีประมาณ 50-75% เนื่องจากรกเป็นตัวขนส่งอาหารและออกซิเจน ดังนั้นเมื่อรกลอกตัวทารกก็จะขาดออกซิเจนและอาหาร หากผ่าตัดช้าอาจทำให้ทารกมีความพิการทางสมอง หรือถ้าร้ายแรงผ่าตัดไม่ทันอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
เคยผ่าตัดมาแล้ว ดูแลตัวเองอย่างไร
ในคุณแม่ที่เคยมีประวัติผ่าตัดมดลูก ขูดมดลูก ผ่าตัดคลอดควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. เลือกวิธีการคลอด หากเลือกการคลอดแบบธรรมชาติจะมีโอกาสเสี่ยงที่มดลูกจะแตกประมาณ 1% ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดน้อยมาก แต่ถ้าเกิดจะเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่จะไม่เลือกวิธีนี้แต่จะเลือกวิธีผ่าตัดคลอดก่อนเจ็บครรภ์จะปลอดภัยมากกว่า
2. การฝากครรภ์ โดยต้องมาตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัด เพื่อตรวจเช็กตำแหน่งของรก ว่ามีปัญหาเรื่องรกเกาะต่ำหรือรกฝังตัวแน่นผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีทั้งสองอย่างความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และมดลูกแตกระหว่างการตั้งครรภ์ก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
3. เลือกเวลาคลอดที่เหมาะสม คือฝากครรภ์ตั้งแต่ช่วงแรกจะทำให้สามารถรู้อายุครรภ์ที่แน่นอน และเลือกเวลาคลอดที่เหมาะสมได้ เพราะหากคลอดช้าเกินไปก็มีโอกาสตกเลือดก่อนคลอด และมีโอกาสที่ทารกจะไม่สมบูรณ์สูงตามไปด้วย
4. ไม่ได้ออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อการหกล้ม เพราะหากเกิดการกระแทกมีโอกาสที่มดลูกจะแตกได้มากกว่าคนทั่วไป แต่หากเกิดการหกล้มที่ไม่ได้กระแทกโดยตรงก็ไม่น่าจะทำให้มดลูกแตกได้ง่าย เนื่องจากมดลูกมีกล้ามเนื้อและไขมันคอยปกป้องโอกาสที่มดลูกจะแตกจึงมีน้อย
คุณแม่ที่เคยผ่าตัดมดลูกหรือผ่าคลอดมาก่อน เมื่อไปฝากครรภ์คุณหมอจะถามประวัติโดยละเอียดว่าการคลอดครั้งที่แล้วเป็นการคลอดโดยการผ่าคลอดหรือไม่ มีการผ่าคลอดแบบไหน เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูกหรือขูดมดลูกหรือไม่ หากมีภาวะเสี่ยงคุณหมอจะดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 380 กันยายน 2557