x close

เตือน ! โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์ หากติดเชื้อเสี่ยงถึงชีวิต

โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์

          โรคมาลาเรีย โรคระบาดที่ไม่เคยหายไป หากเป็นโรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์ จะมีอาการรุนแรงแค่ไหน ส่งผลกับลูกในครรภ์อย่างไร ไปหาคำตอบกัน 

          ปัจจุบันเราแทบไม่ได้ยินเรื่องการเป็นโรคมาลาเรียเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้จะหายไปหรือไม่มีคนเป็นแล้ว ซึ่งจากสถิติของข้อมูลองค์การอนามัยโลก ยังพบว่ามีการระบาดของโรคนี้อยู่และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโรค และยังพบการเป็น โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์ ด้วย แต่จะมีอาการรุนแรงแค่ไหน ส่งผลกับลูกในครรภ์อย่างไร กระปุกดอทคอมมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ
          จากสถานการณ์ของโรคมาลาเรียยังคงมีการระบาดอยู่เรื่อย ๆ เพราะจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีการระบาดอยู่ โดยพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียถึง 10,919 คน ซึ่งในประเทศไทย พบเชื้อมาลาเรียได้ในเขตที่เป็นป่าเขา โดยเฉพาะแนวเขตชายแดนไทย - พม่า ชายแดนไทย - กัมพูชา และจังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียมาก ได้แก่ ยะลา ตาก กาญจนบุรี ตราด ราชบุรี ระนอง ชุมพร แม่ฮ่องสอน

โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์

          อย่างไรก็ตาม โรคมาลาเรีย แม้จะไม่มีการระบาดในเขตพื้นที่เมือง ทำให้คิดว่าเป็นโรคไกลตัวของแม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็เสี่ยงถึงชีวิตได้ ดังนั้นคุณแม่ควรรู้สาเหตุและอาการของโรค และรู้วิธีป้องกันตัวเองไว้ก่อนดีกว่าค่ะ 

สาเหตุการเกิด "โรคมาลาเรีย"

          ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว พลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่อง เพศเมีย เป็นพาหะนำโรค และสาเหตุที่ทำให้โรคมีการระบาดอยู่ คือ

          - มีการดื้อยารักษาโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น

          - ยุงก้นปล่องเกิดการดื้อยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น

          - สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง

          - มีการเดินทางไปท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวไม่มีภูมิคุ้มกัน

          ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ยังมีการระบาดของโรคอยู่นั่นเองค่ะ

โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์

อาการของ "โรคมาลาเรีย"

แบ่งออกเป็น 4 ระยะ

          1. ระยะฟักตัว : คือตั้งแต่โดนยุงก้นปล่องกัดจนเกิดอาการ ใช้เวลา 10 - 14 วัน อาการถึงจะปรากฏ โดยมีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไป รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ บางคนปวดศีรษะรุนแรง และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย หลังจากนั้นจะเริ่มมีไข้สูง และไข้จะสูงเป็นเวลาคือจะมีไข้ทุก ๆ 2 - 3 วัน ซึ่งการมีไข้เป็นเวลานั้นเกิดจาก เชื้อมีการแบ่งตัวจนเต็มเซลล์เม็ดเลือดแดงจนแตกออกจึงทำให้มีไข้เพิ่มขึ้น 

          2. ระยะหนาวสั่น : คือจะมีอาการตัวซีด ตัวสั่น ปากสั่น เกิดขึ้นนานประมาณ 30 - 60 นาที ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่มีไข้สูง ตรงกับช่วงการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่นั่นเอง

          3. ระยะร้อน : คือจะมีอาการตัวร้อนมาก หน้าแดง ร่างกายมีอุณหภูมิถึง 40 องศาเซลเซียส และมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน โดยจะมีอาการอยู่ประมาณ 2 - 6 ชั่วโมง

          4. ระยะเหงื่อออก : คือไข้จะเริ่มลดลง และมีเหงื่อออกทั่วตัว        

โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์

รุนแรงแค่ไหน ! เมื่อแม่ท้องติดเชื้อมาลาเรีย

          ปัจจุบันพบว่า ในเขตที่มีการระบาดของโรค แม่ท้องแรกจะมีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และง่ายกว่าคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว อาจเป็นเพราะว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน และการตั้งครรภ์จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้สูญเสียภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อโรคมาลาเรีย จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่า

          นอกจากนี้แม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อชนิด Plasmodium falciparum จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าด้วย โดยมีอาการแทรกซ้อน ดังนี้

          - มีภาวะซีด พบในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 16 - 29 และมีความรุนแรงถึง 60% เกิดจากเชื้อมาลาเรียทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว ทำให้ร่างกายสูญเสียเม็ดเลือดแดงมากขึ้น บวกกับช่วงตั้งครรภ์ร่างกายต้องการธาตุเหล็กและโฟเลตเพิ่มขึ้น เลยทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงไม่ทันและเกิดภาวะซีด ส่งผลให้แม่ตั้งครรภ์เสี่ยงเกิดภาวะบวมน้ำ ตกเลือดหลังคลอด ร้ายแรงถึงชีวิตได้

          - มีภาวะปอดบวมน้ำ พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 รวมถึงหลังคลอดด้วย ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในแม่ตั้งครรภ์ถึง 80%

          - มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดจากตับผลิตน้ำตาลให้ร่างกายลดลง แต่ร่างกายต้องการน้ำตาลเพราะอยู่ในช่วงป่วย ทำให้มีอาการ ใจสั่น หน้ามืด เหงื่อออก ระดับน้ำตาลต่ำ เกิดการช็อกได้

          - มีภาวะไตวายเฉียบพลัน เกิดจากร่างกายขาดน้ำ หรือติดเชื้อมาลาเรียที่รุนแรงจนทำให้ไตวายได้       

          - ติดเชื้อหลังคลอด เกิดจากเชื้อมาลาเรียที่เคยอยู่บริเวณรกเข้าสู่กระแสเลือดระหว่างคลอด และการติดเชื้อมาลาเรียจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง จึงอาจทำให้ติดเชื้อหลังคลอดได้ง่ายขึ้น 

โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์

ผลกระทบถึงลูกในครรภ์ ถ้าแม่ติดเชื้อมาลาเรีย

ถ้าแม่ท้องติดเชื้อมาลาเรีย จะมีความรุนแรงและส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้ ดังนี้


          - มีโอกาสแท้งในไตรมาสแรก โดยแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้รับยาต้านมาลาเรีย มีโอกาสแท้ง 35% ส่วนที่ได้รับยาต้านมาลาเรีย มีโอกาสแท้ง 27%

          - ทารกมีการเจริญเติบโตช้า

          - เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ทำให้ทารกตัวเล็ก มีน้ำหนักน้อย และอาจเสียชีวิตได้

          - ทารกมีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียได้ และอาการจะแสดงออกช่วงหลังคลอด - 10 สัปดาห์ โดยมีอาการไข้ ตับ ม้ามโต ซีด ตัวเหลือง ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม อาเจียน ตัวเล็ก ถ้ามีอาการรุนแรง อาจเสี่ยงต่อชีวิตได้

โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์

          น่ากลัวมาก ๆ เลยนะคะ สำหรับโรคนี้ เพราะหากเป็น โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และลูก ดังนั้นวิธีป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียที่ดีที่สุดคือ ถ้าไม่มีความจำเป็นใด ๆ แม่ท้องไม่ควรเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง  หรือไปหลังจากคลอดลูกแล้วจะดีที่สุด ระวังไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุงที่ปลอดภัยกับแม่ท้องเมื่อต้องอยู่ในที่ที่มียุงเยอะ และถ้ามีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ ทั้งนี้แม้จะรู้ถึงอันตรายของโรคมาลาเรียแล้ว แม่ตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะหากอยู่ในเมืองไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง โอกาสเป็นก็น้อยมากค่ะ 

ข้อมูลจาก : med.cmu.ac.th, thaivbd.org, mahidol.ac.th
               
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน ! โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์ หากติดเชื้อเสี่ยงถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 4 มิถุนายน 2561 เวลา 15:58:02 6,775 อ่าน
TOP