x close

ลูกชัก ทําอย่างไร ? รู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้อง เมื่อลูกมีอาการชัก

ลูกชัก ทําอย่างไร

          ลูกชัก ทําอย่างไร เรื่องใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นพ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ มารู้จักวิธีรับมือเมื่อลูกมีอาการชักเอาไว้กันเลย...

          ปัญหาหนักอกหนักใจของคนเป็นพ่อแม่ ทุกครั้งที่ลูกป่วยคงกินไม่ได้นอนไม่หลับกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าแทบจะต้องดูแลเช็กอาการกันทุกชั่วโมง เพราะถ้าขืนนิ่งนอนใจ ปล่อยเอาไว้จากเรื่องเล็ก ๆ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเฉพาะเรื่อง "การชักในเด็ก" ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายและอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งสาเหตุของอาการชักนั้นก็มักจะมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยก็คือภาวะชักจากไข้สูงซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าพ่อแม่บางคนคงจะทำอะไรไม่ถูกอย่างแน่นอน หากต้องอยู่ในสถานการณ์นั้น แต่ถึงอย่างนั้นจะไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้ลูกชักนาน ๆ ก็อาจส่งผลแทรกซ้อนตามมา อย่างเช่น พิการทางสมอง หรือปัญญาอ่อนได้เลยทีเดียว
          ทั้งนี้อาการชักจากภาวะไข้สูงที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เมื่อลูกน้อยชักจะมีอาการชักแบบเกร็ง หรือกระตุกทั้งตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นขณะที่มีไข้สูง โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิในร่างกายจะมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งจะพบได้ในเด็กที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี แต่ในช่วง 1-2 ปีจะพบได้บ่อยที่สุด

ลูกชัก ทําอย่างไร

เมื่อลูกมีอาการชัก ควรรับมืออย่างไร ?

          1. พ่อแม่ควรตั้งสติ อย่าตื่นตกใจ เพื่อจะได้ช่วยเหลือลูกได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

          2. ถอดหรือคลายเสื้อผ้าของลูกน้อยออก

          3. ค่อย ๆ จับลูกนอนลงบนพื้นราบ โดยจับตะแคงตัวเด็ก แล้วจับศีรษะหันข้างให้อยู่ในระดับต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อเปิดทางเดินหายใจและป้องกันการสำลัก


          4. หากมีอาหาร หรือน้ำลายติดอยู่ที่ปากควรรีบเช็ดออกทันที แต่สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดก็คือ ไม่ควรนำวัสดุหรืออุปกรณ์ทุกชนิดงัดหรือล้วงเข้าไปในปากเด็ก เพราะโอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเองนั้นแทบไม่มี แต่การทำแบบนี้อาจทำให้เกิดบาดแผลในปาก หรืออาจทำให้ฟันของลูกน้อยหักได้

ลูกชัก ทําอย่างไร

          5. ห้ามเขย่าหรือตี เพื่อให้ลูกตื่นหรือรู้สึกตัว เพราะจะทำให้ลูกมีอาการชักมากขึ้น

          6. รีบเช็ดตัวเด็ก โดยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดบริเวณข้อพับต่าง ๆ ตามแขน ขา จากนั้นเช็ดตามลำตัว โดยเช็ดในทิศทางย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเปิดรูขุนให้ระบายความร้อนออก ซึ่งการเช็ดตัวเด็กจะช่วยให้ไข้ลดได้ดี และจะทำให้เด็กหยุดชักได้เร็ว

          7. เมื่ออาการชักสงบแล้วให้รีบนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลโดยทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินอาการและรักษาต่อไป

          ทั้งนี้เชื่อว่าคงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่อยากให้ลูกน้อยเกิดอาการชักอย่างแน่นอน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดจึงควรป้องกันเอาไว้ก่อน โดยหากลูกมีไข้สูง ควรให้ทานยาลดไข้ และพยายามเช็ดตัวบ่อย ๆ แต่ถ้าหากไข้นั้นยังไม่มีวี่แววว่าจะลด ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจและรักษาก่อนที่จะเกิดอาการชักจะดีที่สุดค่ะ

ข้อมูลจาก : synphaet.co.th, si.mahidol.ac.th, haamor.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกชัก ทําอย่างไร ? รู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้อง เมื่อลูกมีอาการชัก โพสต์เมื่อ 12 ธันวาคม 2560 เวลา 11:56:23 16,704 อ่าน
TOP