x close

10 เรื่องที่คุณครูของลูก อยากบอกกับคุณ

แม่และเด็ก



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          แม้ว่าใน 1 วัน ลูกคุณจะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนนานถึง 8 ชั่วโมง แต่อย่าละเลยและคิดว่าคุณครูจะสามารถสอนทุกสิ่งทุกอย่างกับลูกเราได้ เพราะเด็ก ๆ จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้ากับเพื่อน ๆ หรือสังคมได้หรือไม่นั้น การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย ในหลายครอบครัวที่พบว่าเด็กมีปัญหา เอาแต่ใจตัวเองบ้าง เกเรบ้าง หรือบางทีมีอาการเก็บกด มักเกิดจากการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ร่วมด้วย ฉะนั้น พ่อแม่ควรมาร่วมมือจับเข่าคุยกันกับคุณครู โดยฟังความในใจจากท่านที่อยากบอกเกี่ยวกับลูกของคุณในโรงเรียนกันดีกว่า...   

   1. หมั่นฝึกฝนทักษะให้เด็ก

          พ่อแม่หลาย ๆ คนมักจะคิดง่าย ๆ ว่าหน้าที่การสอนทักษะต่าง ๆ ทั้งการอ่าน การฟัง การพูด และการเขียน เป็นหน้าที่ของครูทั้งหมด แต่ที่จริงแล้วการสอนทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน เพราะเด็ก ๆ ควรได้ฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บ้านและโรงเรียน

   2. จับทางการเรียนรู้ของเด็กให้ถูกต้อง

          พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูก ๆ ทำตามความต้องการของตัวเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน เช่น เด็กบางคนอาจจะถนัดการคำนวณ แต่เด็กบางคนอาจถนัดเรื่องของศิลปะก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกเพื่อหาความถนัดของเด็ก ให้เจอและหาทางสนับสนุนความถนัดในด้านนั้น ๆ ให้กับเด็ก วิธีนี้ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว และมีความสุขมากกว่าการเรียนที่โดนบังคับ

   3. ให้โอกาสคุณครูได้พูดคุยกับพ่อแม่บ้าง

          พ่อแม่ควรหาเวลาเข้าไปพุดคุยกับครู เพื่อแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ๆ บ้าง ว่าเด็กมีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน และควรเสริมทักษะด้านใดเพิ่มเติมบ้าง เพื่อช่วยดูแลประคับประคองให้เด็กเติบโตอย่างมีศักยภาพและมีพัฒนาการที่สมวัย

   4. หาเวลาไปดูแลลูกที่โรงเรียน

          พ่อแม่หลาย ๆ คนอาจรู้สึกไม่พอใจ หรือไม่เข้าใจ การกระทำของคุณครู ว่าทำไมต้องตี ต้องดุ ฉะนั้นวิธีแก้ไขปัญหาความไม่พอใจ และไม่เข้าใจได้ดีที่สุดคือ พ่อแม่ควรหาเวลาไปดูแลเด็กที่โรงเรียนด้วยตัวเองบ้าง เพราะวิธีนี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่ไม่หาโอกาสไปดูแลลูกที่โรงเรียน มัวแต่ปิดหูปิดตาเข้าข้างเด็กอยู่แบบนี้ แล้วคุณครูจะอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดีได้อย่างไร

   5. ลงโทษเด็ก ๆ บ้างตามความเหมาะสม

          พ่อแม่บางคนนั้นไม่กล้าลงโทษเด็ก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเด็กทำผิด เด็กก็จะคิดว่าที่เขาทำนั้นถูกแล้ว จนติดเป็นนิสัย สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขนิสัยนั้นได้ ดังนั้นก่อนที่เขาจะติดนิสัยแย่ ๆ ไปจนโต พ่อแม่ก็ควรตักเตือนและลงโทษบ้างเมื่อเด็กทำผิด ตามความเหมาะสม

   6. โรงเรียนไม่ใช่คำตอบเสมอไป

          บางครั้งการเข้าเรียนโรงเรียน หรือมหาวิยาลัยที่มีชื่อเสียงก็ไม่ได้รับรองว่าเด็กจะประสบความสำเร็จเสมอไป ฉะนั้นควรให้เด็กมีโอกาสเลือกเรียนด้วยตัวเองดีกว่า โดยประเมินจากความถนัดและความสนใจของเด็ก 

   7. ควรแจ้งครูทันทีหากมีอะไรเปลี่ยนแปลง

          ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว หรือพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไป เพราะพ่อแม่เป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ฉะนั้นหากเกิดปัญหาอะไร ที่ต้องการการแก้ไข หรือดูแลเป็นพิเศษ ควรแจ้งให้ครูทราบทันที ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย จนยากที่จะแก้ไข 

   8. ควรฟังสิ่งที่คุณครูบอกบ้าง

          นอกจากสิ่งที่คุณฝากฝังให้ดูแลแล้ว คุณครูก็มีเรื่องที่อยากให้คุณพ่อ คุณแม่ช่วยดูแล ตอนอยู่บ้านด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากด้านวิชาการแล้ว ด้านอื่น ๆ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งพฤติกรรม การแสดงออก และอาหารการกิน

   9. อย่าดูพฤติกรรมที่บ้านของเด็กเพียงอย่างเดียว

          ควรดูพฤติกรรมตอนอยู่ที่โรงเรียนของเด็กด้วย เด็ก ๆ เขาก็ต้องมีสังคม ต้องการเพื่อน ๆ เช่นกัน ดังนั้นพฤติกรรมบางอย่างอาจแสดงออกมาเฉพาะตอนอยู่ที่โรงเรียน เพราะเขาอาจจะทำเพื่อเอาใจเพื่อน ๆ หรือต้องการเข้ากลุ่มก็ได้  เพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง หรือพฤติกรรมที่เป็นอันตราย ก็ควรฟังครู และช่วยกันดูแลเด็กด้วย

   10. ครูมีประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กมากกว่าพ่อแม่

          ประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับเด็ก ๆ ของครู ย่อมต้องมีมากกว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว ฉะนั้นครูจึงรู้ดีว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อเข้าหาเด็ก และจัดการเด็กได้ดีที่สุด ฉะนั้นพ่อแม่ควรให้ความเคารพในการกระทำของครูด้วย ถ้ามีเรื่องข้องใจ สงสัย ก็ถามครูตรง ๆ ไปเลย


          ถ้าอยากจะให้ลูก ๆ ของคุณเป็นเด็กที่มีอีคิวดี ไอคิวเลิศละก็ พ่อแม่ควรเปิดใจรับฟังในสิ่งที่คุณครูพยายามจะบอกคุณบ้างนะคะ เพราะสถาบันหลักยังไงก็หนีไม่พ้นครอบครัว เสียสละเวลามาดูแลลูกของคุณสักนิดก็ยังดี ก่อนที่ปัญหาเรื่องเล็ก ๆ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เรื่องที่คุณครูของลูก อยากบอกกับคุณ อัปเดตล่าสุด 22 สิงหาคม 2555 เวลา 14:19:17 3,248 อ่าน
TOP