x close

ลูก...อยู่ในสายตาตลอดเวลาหรือไม่



ลูก...อยู่ในสายตาตลอดเวลาหรือไม่ (Mother&Care)
เรื่อง : ม่านบาหลี

            เชื่อว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะเมื่อลูกเติบโตจนเข้าสู่วัยเรียน ลูกต้องออกไปสู่สังคมใหม่ ต้องพบเจอเพื่อน คุณครู เจ้าหน้าที่ หรือคนแปลกหน้ามากมาย ทำให้ลูกไม่ได้อยู่ในสายตาพ่อแม่เหมือนช่วงที่ยังเล็ก

            เชื่อว่าคุณแม่ส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วย เพราะรู้ดีว่าเป็นไปได้ยากที่จะให้ลูกอยู่ในสายตาตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อต้องก้าวไปสู่รั้วโรงเรียน ทำให้ลูกมีสังคมเป็นของตัวเอง มีเพื่อน มีคุณครู มีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นี่

            เพราะความที่ลูกไม่ได้อยู่ในสายตาพ่อแม่ตลอด ย่อมทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลเป็นห่วงไปสารพัดว่าลูกอาจได้รับภัยเมื่อไหร่ก็ได้ ยิ่งได้เห็น ได้รับรู้ ได้ฟังข่าวเด็กหาย เด็กหลงทาง เด็กได้รับอุบัติเหตุจมน้ำ รถชน พลัดตกตึก หรืออื่น ๆ ยิ่งรู้สึกเป็นทุกข์ แต่จะให้ใช้วิธีสวมบทเป็นบอดี้การ์ด คอยระวังภัยให้ลูกเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้อีก

 แล้วจะทำอย่างไร...เมื่อลูกอยู่นอกสายตา ?

            ต้องฝึกให้ดี...ยามเมื่อเผชิญคนแปลกหน้า

            ฝึกทักษะชีวิตให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเองให้ได้ โดยพูดสั่งสอนย้ำวิธีแก้ปัญหาถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น

            ถ้าคนแปลกหน้าบอกพ่อแม่ได้รับบาดเจ็บให้มารับแทน ห้ามลูกเชื่อหรือไปกับเขาเด็ดขาด แต่ควรไปหาครู เล่าให้ฟัง ถ้าอยู่ข้างนอกให้รีบไปรวมกลุ่มกับคนอื่น แล้วโทรเช็คกับพ่อแม่ทันที

            ถ้าคนแปลกหน้าเดินหรือขับรถตาม บอกให้ลูกเดินหนี ถ้าเขาเรียกให้หยุด ห้ามหยุดพูดคุยโต้ตอบ แต่ให้หาบ้านที่มีคนอยู่แถวนั้น แล้วเดินเข้าไปเลย บอกเขาว่าลูกเจอเหตุการณ์อะไร แล้วขอให้ช่วยโทรแจ้งตำรวจด้วย

            ถ้าคนแปลกหน้าจับเนื้อต้องตัว ต้องให้ลูกปฏิเสธเด็ดขาด และร้องดัง ๆ แล้วรีบวิ่งหนีทันที โดยไม่จำเป็นต้องรักษามารยาท แต่ต้องสอนให้รู้ว่าลูกมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ใครจับ โดยเฉพาะในส่วนลับใครจะมาจับหรือขอดูไม่ได้

 อุบัติภัยใด ๆ .. ฝึกให้รู้จักระวัง

            โดยเฉพาะอุบัติเหตุรถรา เช่น สอนให้ลูกรู้จักขึ้น-ลงรถให้ดี โดยให้รถจอดสนิทก่อน อย่าเล่นซนในรถ สอนให้ลูกข้ามถนนในที่ปลอดภัย เช่น ข้ามสะพานลอย ข้ามทางม้าลาย โดยไม่ข้ามทันที แต่ให้มองซ้ายมองขวาก่อน แล้วข้ามให้เร็ว แต่อย่าวิ่ง เพราะอาจทำให้รถเบรกไม่ทัน ไม่ควรข้ามถนนตรงหัวโค้ง มุมถนนที่มองไม่เห็นรถ หรือถ้าลูกต้องรอพ่อแม่มารับที่ริมถนนให้ยืนรอบนบาทวิถี ห้ามลงไปบนถนน ลูกอาจถูกรถชนได้

 ตั้งโจทย์...ฝึกลูกแก้ไขปัญหาล่วงหน้า

            พ่อแม่หมั่นตั้งคำถามให้ลูกรู้จักแก้ปัญหา เช่น ถ้าลูกหลงทางกับพ่อแม่ กับเพื่อน กับคุณครูที่โรงเรียนลูกจะทำอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ลูกคิด แล้วค่อยบอกให้ลูกรู้วิธีแก้ไข พ่อแม่ต้องบอกลูกว่าต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ อย่าร้องให้ อย่าหวาดกลัว เพราะจะทำให้คิดไม่ออก อาจเล่นเป็นเกมจำลองสถานการณ์ภัยต่าง ๆ การเล่าข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ ให้ฟัง ซึ่งจะช่วยเตรียมตัวลูกให้ตัดสินใจได้เร็ว ทำให้ลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาได้

 สนามเด็กเล่น...ฝึกเล่นแบบระวัง

            เด็กวัย 5-9 ปี มักได้รับอุบัติเหตุจากสนามเด็กเล่นมากที่สุด โดยเฉพาะบาร์ห้อยโหนที่สูงเกินไปหรือพื้นเป็นปูนคอนกรีตยางมะตอยที่แข็งเกิน พ่อแม่ คุณครูหรือผู้ปกครองจึงต้องอยู่ดูแลเด็ก สอนให้เด็กรู้จักเล่นอย่างระวัง พร้อมตรวจชิ้นส่วนว่าแข็งแรงดีไหม ชำรุดเสียหายหรือไม่ ดูว่ารอบ ๆ มีเศษแก้ว เหล็กแหลม ขวด กระป๋อง พื้นแข็งไปหรือไม่ ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยควรปูด้วยทราย หญ้า ฟาง กรวด สนามเด็กเล่นอยู่กลางแจ้งมากไปหรือไม่ เพราะทำให้ผิวไหม้ เป็นอันตรายได้ด้วยค่ะ


             

ขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.8 No.91 กรกฎาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูก...อยู่ในสายตาตลอดเวลาหรือไม่ อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2555 เวลา 14:33:40
TOP