x close

5 ไม้เด็ด เทคแคร์ลูกน้อย

แม่และเด็ก


5 ไม้เด็ด เทคแคร์หนูน้อย
(Mother&Care)

 1. อ่านความหมายการร้องไห้ของหนู

          การร้องไห้คือเครื่องมือสื่อสารของหนูที่แม่ต้องรับฟังและแปลความหมายทุกครั้งที่หนูร้องไห้ คุณแม่อย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องหยุดเสียงร้องของหนูให้ได้เร็วที่สุดอย่างเดียว ควรฟังเสียงร้องของหนูให้ดี แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ว่าร้องแบบนี้หมายถึงอะไร เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการของหนูได้อย่างถูกต้อง

         How to care : คุณพ่อคุณแม่ควรจะหัดอ่านสัญญาณที่มักเกิดขึ้นก่อนการร้องไห้ เช่น ปากแบะ สีหน้าวิตกกังวล การกางแขนหรือโบกมือเรียก การหายใจถี่ เป็นต้น การวิเคราะห์ถึงสาเหตุนำไปสู่การตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกได้อย่างเหมาะสม เช่น ร้องเพราะผ้าอ้อมเปียก- แม่เปลี่ยนผ้าอ้อมแล้วอุ้มปลอบ, ร้องเพราะกังวลไม่เห็นแม่อยู่ใกล้ - แม่เข้ามาอุ้มแล้วพูดปลอบว่าแม่อยู่นี่นะจ๊ะ เมื่อลูกหยุดร้องแม่ก็ยังส่งเสียงให้ลูกได้ยินใกล้ ๆ การตอบสนองต่อสัญญาณเรียกหรือร้องให้พ่อแม่อุ้มเหล่านี้ ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างแม่กับลูก

 2. มองตาหนูด้วย

          เมื่อหนูลืมตาตื่นขึ้น ใบหน้าของคนที่หนูอยากเห็นเป็นคนแรกก็คือพ่อกับแม่เสมอ ใบหน้าของพ่อแม่คือใบหน้าแรกที่หนูอยากจะจดจำ ซึ่งแต่ละครั้งที่หนูจ้องมองใบหน้าของพ่อกับแม่ หนูก็จะบันทึกความทรงจำไว้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แค่เพียงมองหน้าสบสายตาหนูสักครู่

         How to care : การประสานสายตาระหว่างพ่อแม่กับลูก จะทำให้ลูกรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับคุณและเกิดการสื่อสารความรู้สึกผ่านทางสายตาระหว่างกัน เชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกค่ะ

 3. อุ้มกล่อมปลอบโยน 

          ความรักที่พ่อกับแม่แสดงออกมาให้หนูได้สัมผัสผ่านการโอบกอดนั้น ช่วยทำให้หนูรู้สึกอบอุ่น การโอบอุ้ม กอดจูบ ปลอบโยน ยามเมื่อหนูร้องไห้งอแง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็จะช่วยทำให้หนูรู้สึกมั่นใจ และช่วยให้หนูสงบลงได้ทุกที

         How to care : การอุ้มให้ศีรษะของลูกอยู่ทางด้านซ้ายของแม่ จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นขึ้นได้ค่ะ เพราะลูกได้ยินและสัมผัสได้ถึงเสียงหัวใจของแม่ ถ้ายังไม่หยุดร้องให้ใช้มือลูบหลังปลอบโยนและพาลูกเดินไปมาให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย หรือโยกตัวไปมาช้า ๆ ที่สำคัญอย่าคิดว่าการโอบกอด อุ้มลูกบ่อย ๆ เป็นการทำให้เสียเด็กหรืออุ้มติดมือ เพราะความรักที่แสดงออกมานั้นช่วยให้เกิดความรู้สึกที่อบอุ่น มั่นคงต่อไปในชีวิตข้างหน้า ดังนั้น การกอดลูก มีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน

 4. เล่นกับหนูบ่อย ๆ

          นอกจากของเล่นกองโต ทั้งโมบายสีสวย ตุ๊กตาผ้าแสนน่ารัก ที่พ่อกับแม่สรรหามาให้หนูแล้ว รู้ไหมว่าของเล่นที่ดีที่สุดในโลกสำหรับหนูนั้นคือ "พ่อกับแม่" ต่างหาก มาเล่นกับหนู หัวเราะกับหนูบ่อย ๆ เพราะการได้เห็นปฏิกิริยาตอบสนองของพ่อแม่ทำให้หนูสนุกเหลือเกิน

         How to care : นอกจากของเล่นกระตุ้นพัฒนาการตามวัยของลูกแล้ว การใช้ร่างกายของพ่อแม่เป็นเครื่องเล่นของลูกก็สามารถกระตุ้นพัฒนาการและสร้างสายสัมพันธ์ได้อย่างดีค่ะ เช่น การฝึกให้ลูกบริหารร่างกายโดยพ่อแม่นอนราบลงไปบนพื้น และปล่อยให้ลูกน้อยพยายามคลานข้ามตัวไปมา ก็จะช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อให้ทำงานสัมพันธ์กัน หรือการเล่นเลียนแบบท่าทางของลูก เช่น ท่าหาว ท่าคลาน ท่าหัวเราะ หรือทำเสียงเลียนแบบก็ทำให้ทั้งพ่อแม่และลูกสนุกสนานไม่น้อย

 5. อ่านหนังสือให้หนูฟังที

          พ่อแม่อาจสงสัยว่า การอ่านหนังสือหรือการเล่านิทานให้หนูยังตั้งแต่ยังแบเบาะนั้น หนูจะได้ประโยชน์หรือรับรู้นิทานที่พ่อแม่เล่าได้หรือ หนูก็อยากบอกว่าช่วงแรกนั้นสมองของหนูยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่หากมีการอ่านหนังสือให้หนูฟัง หนูก็รับรู้มากขึ้น ได้ยินเสียง เห็นภาพในหนังสือ ก็จะช่วยให้หนูพัฒนาสมองได้เร็วขึ้นนั่นเอง

         How to care : การอ่านหนังสือให้ฟังช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้จริง ๆ ค่ะ มีผลการวิจัยออกมาว่า แม้กระทั่งเด็กอายุ 8 เดือน ก็สามารถเรียนรู้จดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรจัดเวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ อาจเล่านิทานเรื่องโปรดของลูก ด้วยเสียงดังฟังชัด เน้นน้ำเสียงสูงต่ำเป็นจังหวะ หรือลองใส่ชื่อของลูกลงไปแทนที่ชื่อตัวละครตัวสำคัญของเรื่อง เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกสนานและสนใจไปกับชื่อของตัวเองในนิทานด้วยก็ได้ค่ะ





ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ไม้เด็ด เทคแคร์ลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2555 เวลา 14:00:20
TOP