x close

ปลอบโยนลูกแรกคลอด แบบคุณแม่มือโปร



ปลอบโยนลูกแรกคลอดแบบคุณแม่มือโปร
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : นลัน ภาพ : พี่ไม้

          ทารกแรกเกิดอาจร้องไห้โยเย เพราะไม่คุ้นกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ต่างจากในครรภ์แสนอบอุ่นที่เขาเคยอยู่อย่างสิ้นเชิง ทั้งสิ่งแวดล้อม แสง และเสียงรอบตัวทำให้เขาผวาตกใจได้บ่อย ๆ เขาจึงต้องใช้การร้อง เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคุณแม่ หลาย ๆ ครั้งที่การร้องของลูกสร้างความกังวลใจ แต่ก็สามารถทำให้ลูกน้อยสงบลงได้โดย

หนูโยเยเพราะอยากอ้อนแม่

          ก่อนอื่นคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่เขาร้องนั้นเป็นเพราะอะไร ซึ่งคุณแม่มักจะเดาว่า เขากำลังหิวหรือไม่สบายตัวเนื่องจากผ้าอ้อมที่เปรอะเปื้อน แต่บางครั้งให้กินนมก็แล้ว เปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว เจ้าตัวเล็กก็ยังไม่ยอมหยุดร้อง แสดงว่าเขากำลังเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่อยู่ค่ะ เพราะทารกแรกเกิดยังไม่สามารถสื่อสารหรือบอกสิ่งที่ต้องการให้คุณแม่รู้ได้ด้วยคำพูด แต่เขาก็ฉลาดพอที่จะรู้ว่า ทุกครั้งที่เขาส่งเสียงร้องไห้ คุณแม่จะเข้ามาปลอบโยนทันที ถ้าลูกร้องแบบนี้ล่ะก็ ลูบเนื้อลูบตัวเขา โอบกอด ชวนลูกคุย ก็จะทำให้เขาเงียบลงได้

          หรือจะใช้วิธีที่คุณแม่ทุกยุคทุกสมัยทุกเชื้อชาติทำกันก็คือ การอุ้มเขาโยกตัวเบา ๆ แล้วร้องเพลงกล่อม ก็ได้ค่ะ ทั้งเสียงและสัมผัสจากแม่ แล้ว ค่อย ๆ สงบลงแล้ว เคลิ้ม หลับไปเอง

ข้อดีของการร้องเพลงกล่อม

          การร้องเพลงกล่อมลูกเป็นวิธีที่ที่ได้ผลมากค่ะ เพราะเสียงของคุณแม่เป็นเสียงที่เขาคุ้นเคย บวกกับเนื้อหาและทำนองเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งมักเป็นคำคล้องจองฟังเพลิน ทำให้ผู้ฟังตัวน้อยซึ่งกำลังโยเย อารมณ์ดีขึ้นได้แม้ว่าจะยังฟังไม่เข้าใจ นอกจากนี้การร้องเพลงกล่อมยังมีข้อดีอีกมากมาย เช่น ช่วยให้ทารกผ่อนคลายความวิตกกังวล ช่วยให้รู้สึกอบอุ่น มีความสุข ช่วยให้เป็นเด็กอารมณ์ดี ใจเย็น ไม่งอแง ไม่ร้องอาละวาดบ่อย ๆ แถมยังช่วยพัฒนาทักษะด้านการฟังและความจำด้วย

          ลองสังเกตดูสิคะ หากเขาชอบเพลงไหน แค่คุณแม่ร้องให้ฟังไม่กี่ท่อน เขาจะจำได้และอารมณ์ดีขึ้นทันที นอกจากนี้ ยังช่วยเรื่องการออกเสียง เพราะอีกไม่กี่เดือนเขาก็จะพยายามส่งเสียงอ้อแอ้ตามคุณแม่ไปด้วย ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของพัฒนาการด้านการพูดเลยค่ะ และระหว่างที่ร้องเพลงกล่อม ตัวคุณแม่เองก็จะได้ผ่อนคลายไปด้วย ได้ประโยชน์แบบนี้ อย่าลืมร้องเพลงกล่อมเมื่อลูกโยเยนะคะ

ลูกตื่นมาร้องบ่อยเพราะพ่อแม่

          ถึงลูกวัยแรกเกิดจะตื่นมาร้องบ่อยจนคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้นอนไปด้วย แต่ก็สบายใจได้ค่ะเพราะพอลูกอายุได้ 3-4 เดือนเค้าจะเริ่มหลับยาวได้เกือบตลอดคืน แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังตื่นขึ้นมาร้องกลางคืนไปเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นเพราะตัวคุณพ่อคุณแม่เอง คือ เวลากลางคืนพอลูกร้องปุ๊บก็รีบเอานมป้อนให้ปั๊บ ทำให้เด็กชินกับการตื่นขึ้นมาร้องขอกินนมกลางคืนเรื่อยไป ทางที่ดี ถ้าลูกส่งเสียงร้อง ให้สำรวจก่อนว่าเขาร้องเพราะอะไร เช่น ผ้าอ้อมเปียก มดหรือยุงกัด หรือเป็นเพราะอากาศร้อน-เย็นเกินไป ถ้าไม่เจอสาเหตุ ลองตบก้นเบา ๆ หรืออุ้มเขาไกวเบา ๆ ซักพัก ถ้ายังไม่หยุดร้อง ลองให้เขาให้ดูดน้ำจากขวดนม อาจช่วยให้เขาหลับต่อได้ โดยไม่ต้องกินนมและไม่ติดนิสัยต้องตื่นขึ้นมาดูดนมกลางดึก

          และควรฝึกให้ลูกหลับบนที่นอน ไม่ใช่อุ้มกล่อมจนหลับแล้วค่อยเอาเขาไปวางบนเบาะ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับเช่น เงียบ ไม่มีเสียงรบกวน อากาศเย็นสบาย ควรปิดไฟนอน ก่อนเข้านอนไม่เล่นกับลูกมากเกินไป เพราะหากสนุกตื่นเต้นมากเกินไป อาจมีผลต่อการนอนหลับได้

เมื่อเจ้าหนูร้องไห้ไม่หลับไม่นอน

          ถ้าลูกตื่นขึ้นมาร้องงอแงตอนกลางคืน การร้องเพลงกล่อมอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้ทารกวัยแรกเกิดสงบลงได้ เช่น

          ห่อตัวลูกให้กระชับ อย่างที่บอกค่ะว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกแรกเกิดอาจร้องไห้โยเย เป็นเพราะเขาไม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนั้น การใช้ผ้าห่อตัวลูกให้กระชับ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยคล้ายกับตอนที่อยู่ในครรภ์

          อุ้มโยกไกวไปมา พร้อมทั้งเอามือลูบศีรษะหรือตบกันเบา ๆ

          จัดให้ลูกนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ โดยมีคุณแม่ประคองใกล้ ๆ นอกจากจะช่วยให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกอบอุ่นแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องอุ้มเขาไว้ตลอดเวลา

          พูดคุยหยอกล้อ เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 36 ฉบับที่ 497 กรกฎาคม 2556
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลอบโยนลูกแรกคลอด แบบคุณแม่มือโปร อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2556 เวลา 15:26:06 1,105 อ่าน
TOP