x close

เฝ้าระวังภาวะเสี่ยง ! โรคไข้เลือดออกในแม่ตั้งครรภ์

โรคไข้เลือดออก ในแม่ตั้งครรภ์

         อากาศชื้นเตือนคุณแม่ตั้งครรภ์ระวังอาการ โรคไข้เลือดออก ที่มาในช่วงหน้าฝน วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาวะความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก กับ 3 ไตรมาส ในช่วงตั้งครรภ์ มาแนะนำกันค่ะ ส่วนจะมีความเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์มากน้อยขนาดไหนและป้องกันอย่างไร เราไปดูข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ ...


         หน้าฝนเช่นนี้ ยุงจะชุมมาก ต้องระวังโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะแม่ท้อง เพราะอันตรายถึงลูกค่ะ

โรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 4 ระยะ

ระยะแรก

         มีไข้สูงกว่า 38 องศา ผ่านไป 3-4 วัน ไข้ยังไม่ลด

         ปวดกระดูกเหมือนกระดูกจะแตก ปวดเบ้าตา

         ผื่นขึ้นเป็นปื้น ๆ

         การรักษาระยะนี้ หากเกล็ดเลือดต่ำ จะให้เกล็ดเลือด ถ้าน้ำในเลือดออก ซึ่งทำให้เลือดเข้มข้นสูง ก็จะให้น้ำเกลือหรือผงเกลือแร่

ระยะที่ 2

         มีจุดเลือดตามผิวหนังทั่วตัวเหมือนรอยยุงกัด แต่มีสีเลือดออกชัดเจนกว่า

         มีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามเหงือก

         อาเจียนเป็นเลือด

ระยะที่ 3

         ไข้จะลงก่อนเกิดภาวะช็อก

         ความดันต่ำลง แต่หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น

         กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก

ระยะที่ 4

         มีภาวะช็อกขั้นรุนแรง

         ความดันต่ำมากจนวัดความดันไม่ได้

         เลือดไม่ไปเลี้ยงตับและไต และเสียชีวิตในที่สุด

         โรคไข้เลือดออกไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงค่ะ แต่รักษาแบบประคับประคองอาการ เพื่อไม่ให้ร่างกายทรุดลง

แม่ท้องเป็นไข้เลือดออก ส่งผลต่อลูก !


         ไตรมาสแรก (12 สัปดาห์แรก) ถ้าเป็นไข้เลือดออก จะทำให้ลูกในครรภ์แท้งได้

         ไตรมาสสอง (12-28 สัปดาห์) แม่ท้องเป็นไข้เลือดออกช่วงนี้ จะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ลูกที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อย แต่ลูกจะปลอดภัย เพราะเชื้อไวรัสยังเข้าไม่ถึงลูก แต่ถ้าแม่ท้องเป็นไข้เลือดออกในระยะที่ 3-4 ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์

         ไตรมาสสาม (29-40 สัปดาห์) หากแม่ท้องช่วงนี้เป็นไข้เลือดออกในระยะที่ 2 ลูกจะติดโรคไข้เลือดออกผ่านทางสายสะดือ

         แต่ถ้าแม่ท้องเป็นไข้เลือดออกระยะที่ 3-4 ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์ หากคลอดเองแม่จะตกเลือด และถ้าผ่าคลอดยิ่งเสียเลือดมากจนอาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

ระวังและป้องกันไข้เลือดออก

         1. หลีกเลี่ยงสถานที่เที่ยวที่มีแหล่งน้ำขัง เช่น น้ำตก เขื่อน แอ่งน้ำต่าง ๆ เนื่องจากมียุงชุม และไม่รู้เลยว่ายุงที่กัดคือยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกหรือไม่

         2. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน ไม่ควรให้มีน้ำขังอยู่ภายในอาคารและสถานที่ ซึ่งยุงลายวางไข่ได้ นอกจากนี้ยุงลายมักหากินกลางวัน ต้องระวังช่วงแม่ท้องนอนกลางวันหรือตอนบ่ายด้วย

         3. เฝ้าสังเกตอาการของตัวเอง หากมีไข้ขึ้นสูงเกิน 38 องศา ไข้ไม่ลงใน 3-4 วัน ปวดเบ้าตา ปวดกระดูก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด

         หากมีไข้ไม่สูง คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ แต่หากไข้สูงไม่ยอมลง ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้ละเอียดค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 392 กันยายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เฝ้าระวังภาวะเสี่ยง ! โรคไข้เลือดออกในแม่ตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2558 เวลา 11:17:50 21,470 อ่าน
TOP