x close

ติดโซเชียลหลังคลอดเสี่ยง FOMO & ซึมเศร้า

โรค FOMO

           โรค FOMO หรือ Fear Of Missing Out เป็นอาการติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป และจะเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องอยู่คนเดียว เลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีที่ปรึกษา ทำให้เกิดภาวะเครียดและกังวลได้ค่ะ แล้วโรค FOMO คืออะไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้ และเกราะป้องกันจากนิตยสาร รักลูก ที่จะทำให้คุณแม่หลังคลอดห่างไกลจากอาการของโรค Fomo และภาวะซึมเสร้าหรือโรคซึมเศร้า มาฝากกันค่ะ

          ปัจจุบันคนเราติดการใช้เครื่องมือสื่อสาร ในโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยเปิดเล่น เปิดหาข้อมูลข่าวสาร หรือติดตามความเคลื่อนไหวของคนอื่น ๆ กันตลอดเวลา แต่สำหรับคุณแม่หลังคลอด ถ้าเปิดเล่นมากไป อาจเสี่ยงอาการ Fomo และซึมเศร้าหลังคลอดได้นะคะ

FOMO คืออะไร

          Fomo ย่อมมาจาก Fear of Missing Out คือกลุ่มอาการที่กลัวว่าตัวเองไม่สำคัญ กลัวไม่มีใครคิดถึง กลัวว่าตัวเองจะตกกระแสไม่อินเทรนด์เหมือนคนอื่น ทำให้ติดการใช้โซเชียลมีเดีย ต้องคอยโพสต์รูปว่าไปที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา

          คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหาข้อมูลในการเลี้ยงลูก หรือเป็นช่องทางสื่อสารกับคุณแม่คนอื่น ๆ เพื่อขอคำปรึกษา บางคนไว้เป็นพื้นที่ส่วนตัวในการโชว์รูปภาพลูก หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว แต่ถ้าเล่นมากเกินไปอาจเกิดอาการ Fomo ได้ เช่นโพสต์รูปลูกอยู่ตลอดเวลา เพราะอยากให้คนอื่นสนใจ หากมีคนเข้ามาคอมเมนท์ หรือกดไลค์เยอะก็ยิ่งพอใจ และรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ

อาการ FOMO หลังคลอด

          อาการ Fomo จะตรงข้ามกับภาวะซึมเศร้า แต่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งภาวะซึมเศร้าเกิดจากการที่คุณแม่ต้องอยู่คนเดียว เลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีที่ปรึกษา ทำให้เกิดภาวะเครียดกังวล และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

          แต่อาการ Fomo ของแม่หลังคลอด เกิดจากการอยู่ในสังคมที่คนเยอะเกินไป มีความคิดหลากหลาย ดูสื่อเยอะ ดูสิ่งต่าง ๆ ของคนอื่นเยอะเกินไป แล้วนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าทำไมเราไม่มี ไม่เป็นแบบนั้นบ้าง เช่น ทำไมมีแต่คนพาลูกไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ทำไมเขามีรูปร่างกลับมาสวยได้เร็วจัง คุณแม่บางคนเห็นแล้วอยากจะทำแบบนั้นบ้าง ก็พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นแบบคนอื่น และอยากแชร์ให้คนอื่นเห็น

          แต่ในบางคนที่เห็นคนอื่นมากเกินไปแล้วทำไม่ได้อย่างเขาก็จะรู้สึกเครียด กลัวว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากดูแลลูก อยากจะออกไปสังสรรค์ไปเที่ยวพบปะผู้คนมากกว่าที่จะอยู่เลี้ยงลูก เพื่อจะได้เหมือนกับคนอื่น ๆ ทำให้ไม่ใส่ใจดูแลลูกเท่าที่ควร ซึ่งในคุณแม่บางรายที่มีอาการเบื่อหน่าย และเป็นบ่อย หากปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

เกราะป้องกันอาการ FOMO & ซึมเศร้า

          โดยส่วนใหญ่แล้ว คนทั่วไปหรือคุณแม่หลังคลอดที่มีอาการ Fomo จะปรับตัวได้เอง และอาการซึมเศร้าจะหายได้เอง เพราะอาการมักไม่เด่นชัด จะเกิดขึ้นเมื่อมีการรับสื่อเยอะ หรือมีกระแสนิยมอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และอยากทำตาม เช่น มีกระแสการถ่ายรูป Breasffie คือคุณแม่ถ่ายรูปขณะให้นมลูกแล้วโพสต์ลงในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ พอเห็นกระแสเยอะก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการโพสต์รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อหมดช่วงความนิยมนั้นอาการ Fomo ก็จะหายไปเอง กลับมาดูแลลูกอย่างเดิม

          อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันให้คุณแม่ห่างไกลจากอาการ Fomo และภาวะซึมเสร้า แนะนำเกราะป้องกันให้ดังนี้ค่ะ

         1. คุณพ่อและคนในครอบครัวควรเป็นเพื่อนคุยที่ดี ไว้คอยปรับทุกข์ ระบายความกังวล และคอยรับฟังความคิดเห็นของคุณแม่ เวลาที่คุณแม่มีภาวะเครียด หรือกังวลเรื่องต่าง ๆ ควรปลอบใจ หรือหากิจกรรมที่ทำด้วยกันแล้วมีความสุข จะช่วยให้คุณแม่ไม่หมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป และมีกำลังใจในการดูแลลูกมากขึ้น

         2. หาผู้ช่วยแบ่งเบาภาระ อาจจะเป็นคุณพ่อ หรือคนในครอบครัวมาคอยช่วยทำงานบ้าน ช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือคอยช่วยดูแลลูก เพื่อให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อน และทำกิจกรรมส่วนตัวบ้าง จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นไม่เครียด และมีพลังในการเลี้ยงดูลูกได้ดีด้วย

         3. หาที่ปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูก คุณแม่ท้องแรกอาจมีภาวะกังวลใจเรื่องการเลี้ยงลูก ลองพูดคุยสอบถามคุณย่าคุณยาย หรือเพื่อน ๆ ที่มีลูกแล้ว เพื่อนบอกเล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูก ว่าถ้าลูกแสดงท่าทีแบบนี้คืออะไร เพื่อคุณแม่จะได้เตรียมพร้อมและมีความมั่นใจที่จะดูแลลูกมากขึ้น

         4. อยู่ไฟหลังคลอด การอยู่ไฟเป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียดอย่างหนึ่ง เพราะมีคนมาคอยช่วยดูแล มานวดผ่านคลาย ขัดผิวพรรณให้สวยเปล่งปลั่ง ทำให้คุณแม่รู้สึกสบายใจมากขึ้น

          ลองทำดูค่ะ คุณแม่จะได้ไม่ต้องไปโฟกัสคนอื่นมากมายจะได้มีเวลาพักผ่อน ไม่เครียด และพร้อมที่จะดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างเต็มที่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 390 กรกฎาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดโซเชียลหลังคลอดเสี่ยง FOMO & ซึมเศร้า อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 15:37:49 2,587 อ่าน
TOP