x close

ตั้งครรภ์แล้วนอนกรน ...รักษาได้

ท้องแล้วนอนกรน

          ท้องแล้วทำไมถึงนอนกรน ? เพราะน้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เวลานอนของแม่ท้องหายใจไม่สะดวกและเกิดเสียงกรน วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้อาการนอนกรนในแม่ท้อง พร้อมทั้งวิธีการรักษาการนอนกรนจากนิตยสาร MODERNMOM มาฝากกันค่ะ

          การนอนกรน เกิดจากเวลาที่คนเรานอนหลับกล้ามเนื้อที่ลิ้นและที่โคนลิ้นจะคลายตัวลงไปด้วย ทำให้ลิ้นตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้อากาศที่เราหายใจผ่านจมูกลงไปยังโพรงจมูกด้านหลัง ผ่านได้ไม่สะดวก เกิดการหมุนวนของกระแสลมคล้ายการกระพือที่บริเวณโคนลิ้น เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทำให้เกิดเป็นเสียงกรน

          ในหญิงตั้งครรภ์เกิดจากการเปลี่ยนแปลทางสรีระ เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบนจะขยายจนอาจมาปิดช่องทางเดินหายใจ ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องปากส่วนบนและหลอดลมบวม และเกิดการหย่อนตัวลงมาปิดขวางช่องทางเดินหายใจ ส่งผลให้เวลานอนจะรู้สึกหายใจไม่สะดวกและเกิดเสียงกรนขึ้น ดังนั้น การปรับท่านอนมีส่วนช่วยในเรื่องการนอนกรนได้ เมื่อเรานอนตะแคงตำแหน่งของลิ้นไม่ตกไปปิดด้านหลังของหลอดลม ทำให้เราหายใจได้สะดวกขึ้น

          นอกจากนี้การนอนตะแคงในช่วงอายุครรภ์มาก ๆ หรือช่วงใกล้คลอด โดยเฉพาะนอนตะแคงทับด้านซ้ายจะช่วยลดการกดทับของเส้นเลือดดำใหญ่ที่อยู่ทางด้านหลัง ที่รับเลือดจากส่วนล่างของร่างกายทำให้ไม่เกิดภาวะหน้ามืดเป็นลมเหมือนท่านอนหงายนาน ๆ และช่วยเพิ่มปริมาณเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ และสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้นทำให้ลูกในท้องได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพที่ดี และการเจริญเติบโตที่ดีของลูกในท้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าให้คุณแม่ทุกคนนอนท่านี้ตลอด เพราะคนไข้หลายคนมาหาหมอด้วยอาการเจ็บบริเวณซี่โครง จนถึงขั้นมีอาการอักเสบของซี่โครง หรือกระดูกอ่อนของซี่โครง ซึ่งเกิดจากการนอนทับด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน ทำให้น้ำหนักตัวแม่และน้ำหนักมดลูกกดทับไปที่ตำแหน่งดังกล่าว

          การนอนที่ดีในขณะตั้งครรภ์จึงควรพลิกเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อลดจุดกดทับ การนอนตะแคงทับซ้ายดังกล่าวเหมาะสำหรับการนอนรอในห้องคลอด ช่วงระหว่างการรอคลอด เพราะเป็นช่วงที่มดลูกมีการบีบตัวหรือหดรัดตัว ปริมาณเลือดจากแม่จึงไปเลี้ยงลูกได้น้อยลง อาจส่งผลให้เสียงหัวใจลูกมีการเปลี่ยนแปลงได้ (เต้นช้าลง) ซึ่งการปรับการนอนของแม่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องหัวใจลูกเต้นช้าลงได้

วิธีการรักษาการนอนกรน

         1. การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ โดยการจำกัดปริมาณอาหารงดรับประทานอาหารหนัก 3 ชั่วโมงก่อนนอน กระเพาะที่เต็มไปด้วยอาหารจะส่งผลให้กะบังลมถูกกดทับ ทำให้การเดินลมในร่างกายตีบตัน

         2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

         3. หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท และยาแก้แพ้ชนิดง่วง

         4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

         5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

         6. ปรับความชันของเตียงนอนให้ส่วนหัวสูงขึ้นจากแนวราบ จะช่วยผ่อนการกดทับของลิ้นและกราม ส่งผลให้ลดอาการกรนระหว่างหลับหลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยพยายามนอนในท่าตะแคงข้าง และนอนศีรษะสูงเล็กน้อย

         7. การรักษาเฉพาะสาเหตุโดยแพทย์ เช่น การใส่อุปกรณ์ภายในช่องปาก เพื่อเลื่อนคางและลิ้นมาทางด้านหน้า การใส่เครื่องอัดอากาศ ขณะหายใจเข้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่อุดกั้นให้กว้างขึ้น (CPAP, Continuous Positive Airway Pressure) การรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และไซนัสอักเสบ หรือการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ในเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต

การนอนกรนมี 2 ประเภท

         1. กรนธรรมดา (Primary Snoring) ไม่อันตราย เพราะไม่มีภาระหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน แต่จะมีผลกระทบต่อคู่นอน ทำให้นอนหลับยาก เนื่องจากเสียงดัง

         2. กรนอันตราย (Obstructive Sleep Apnea) มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย อาจมีการสะดุ้งตื่น กลั้นหายใจ หรือสำลักร่วมด้วย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ถ้าผู้ป่วยไม่รักษาอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้าต้องขับรถ อาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การที่จะแยกว่าผู้ป่วยเป็นนอนกรนประเภทใด สามารถทำได้โดยการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อแยกชนิดของการกรนและบอกความรุนแรงของโรคและช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.235 พฤษภาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตั้งครรภ์แล้วนอนกรน ...รักษาได้ อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2558 เวลา 15:59:51 17,909 อ่าน
TOP