x close

ตั้งครรภ์แฝด ดูแลตัวเองอย่างไรดี

ตั้งครรภ์แฝด

         การตั้งครรภ์แฝดคุณแม่ต้องดูแลตนเองเป็นสองเท่า โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินคุณแม่ครรภ์แฝด วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้มาฝากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดพร้อมดูแลลูกน้อยในครรภ์มาแนะนำกัน พร้อมแล้วไปดูวิธีการดูแลครรภ์จากนิตยสาร Mother & Care กันเลย ^^

         ฉบับนี้ เจาะจงโดยตรงถึงคุณแม่ครรภ์แฝด เพื่อแนะนำถึงขั้นตอนการดูแลตัวเองตั้งแต่เริ่มแรกที่ตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมและสิ่งที่คุณแม่ควรรู้ ที่สำคัญเราได้ข้อมูลและคำแนะนำจาก พญ.ลลิตา กุลมาลา สูติ-นรีแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ส่งต่อถึงคุณแม่ค่ะ

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แฝด

         ทันทีที่คุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์แฝดควรคุยและรับคำปรึกษาจากคุณหมอ เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ และคุณแม่ควรทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดแบบใด เพราะแต่ละแบบมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะและการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน

ดูแลคุณแม่

ช่วงอายุครรภ์ก่อน 14 สัปดาห์

        คุณแม่อาจคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ จึงควรกินอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารมัน

        ช่วงนี้คุณแม่มีโอกาสแท้งสูงกว่าครรภ์ปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ และสังเกตว่ามีอาการปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบคุณหมอ

ช่วงอายุครรภ์มากกว่า 14 สัปดาห์

        คุณแม่มีโอกาสเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จึงควรสังเกตอาการของมดลูกบีบตัว หากมีอาการท้องแข็งเป็นพัก ๆ ราว 5-6 ครั้งต่อชั่วโมง (อาจมีมูกเลือดหรือน้ำเดินร่วมด้วย) ควรรีบมาโรงพยาบาล

        คุณแม่ควรระวังเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เพราะมีโอกาสเกิดเบาหวานในขณะตั้งครรภ์มากกว่าปกติ และอาจตรวจคัดกรองเบาหวานช่วงอายุครรภ์ 6-7 เดือน

        มีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษมากขึ้น คุณแม่ควรระวังไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มเกินเกณฑ์มาตรฐาน ฝากครรภ์สม่ำเสมอและคอยสังเกตเรื่องความดันโลหิต อาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบไปพบคุณหมอ

อาหารการกินคุณแม่ครรภ์แฝด

         ควรเพิ่มปริมาณพลังงาน และสารอาหารที่ต้องการมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ โดยกินให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารปรุงไม่สุก หรือไม่สะอาด และเพิ่มสารอาหาร เช่น

        พลังงาน : โดยเพิ่มจากก่อนตั้งครรภ์ 500 กิโลแคลอรี

        กรดโฟลิก : 1,000 ไมโครกรัม/วัน

        ธาตุเหล็ก : 60-100 มิลลิกรัม/วัน

        น้ำหนักตัว : สามารถเพิ่มขึ้นได้ 16-20 กิโลกรัม ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ หากน้ำหนักมากกว่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ และมีปัญหาเรื่องการคลอดได้

ดูแลลูกน้อยในครรภ์

แฝดไข่คนละใบ หรือแฝดไข่ใบเดียวกันแต่ใช้รกแยกกัน

         ควรตรวจติดตามอัลตราซาวด์เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกเทียบกันเป็นระยะ เพราะมีโอกาสที่ทารกคนใดคนหนึ่งจะตัวเล็กกว่าปกติ จากการได้รับสารอาหารจากรกไม่เท่ากัน

แฝดไข่ใบเดียวกันใช้รกร่วมกันแต่อยู่คนละถุง

         มีโอกาสเกิดการถ่ายเทเลือดระหว่างทารกที่ไม่เท่ากันได้ ทำให้ทารกคนหนึ่งซีดและน้ำหนักน้อยเนื่องจากเป็นคนให้เลือด ส่วนทารกอีกคนตัวแดง น้ำหนักตัวมากกว่าปกติและอาจมีภาวะบวมน้ำ เนื่องจากเป็นคนรับเลือด จึงต้องเฝ้าระวังโดยการตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะ

แฝดไข่ใบเดียวกัน ใช้รถร่วมกันและอยู่ในถุงเดียวกัน

         มีโอกาสเกิดสายสะดือพันกันและอาจเป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิต จึงต้องตรวจอัลตราซาวต์หลายครั้งขณะตั้งครรภ์ และอาจจำเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนด

แฝดไข่ใบเดียวกันอยู่ในถุงเดียวกัน ตัวติดกัน (แฝดสยาม)

         มีโอกาสเสียชีวิตสูงเนื่องจากอาจใช้อวัยวะร่วมกันบางส่วน เช่น หัวใจ สมอง ตับ การรักษาขึ้นกับส่วนของอวัยวะที่เชื่อมกัน

         ถึงแม้ว่าการตั้งครรภ์แฝด จะทำให้คุณแม่มีลูกมากกว่า 1 คน แต่ก็ต้องดูแลตัวเองมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไปและต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงและได้รับการรักษาโดยเร็ว






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.124 เมษายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตั้งครรภ์แฝด ดูแลตัวเองอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 20 เมษายน 2558 เวลา 18:53:03 26,285 อ่าน
TOP