x close

ท้องแบบไหน ต้องดูแลเป็นพิเศษ

ตั้งครรภ์

          เมื่อเริ่มตั้งครรภ์คุณแม่มักจะเกิดความกังวล และกลัวความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่จะตามเมื่อตั้งครรภ์ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ในการรับมือของโรคต่าง ๆ เมื่อตั้งครรภ์ มาแนะนำ ส่วนอาการของโรคแบบไหนต้องดูแลครรภ์เป็นพิเศษ เรามีคำแนะนำดี ๆ จากนิตยสาร MODERNMOM มาฝากกันค่ะ ^^

          การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะดำเนินไปอย่างปกติและราบรื่น แต่ก็มีบางภาวะที่แพทย์คิดว่าอาจจะมีโอกาสเกิดปัญหายุ่งยากซับซ้อนขึ้นได้ จึงต้องมีการติดตามดูแลการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด

         โลหิตจาง ผู้หญิงส่วนมากมักมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อยก่อนตั้งครรภ์ เพราะร่างกายขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เพื่อพร้อมรับมือกับความต้องการธาตุเหล็กที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งการเสียเลือดระหว่างคลอด การป้องกันโลหิตจางทำได้โดยการกินอาหารหลากชนิดให้ครบหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เนื้อแดงไม่ติดมัน ปลาทูน่า ผักโขม ผักปวยเล้ง เป็นต้น ถ้าแพทย์ตรวจพบว่ามีอาการโลหิตจาง อาจจะจัดธาตุเหล็กเสริมให้ โดยควรกินหลังอาหารมื้อหนัก เพราะเหล็กจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และอาจทำให้คลื่นไส้หรืออาเจียนได้

         เบาหวาน หากแม่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว ต้องควบคุมอย่างระมดระวัง โดยการเช็กน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติสม่ำเสมอ โดยแพทย์จะให้อินซูลิน โดยปรับขนาดให้เหมาะสม และคุณแม่ก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินร่วมด้วย และต้องไปตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติ ซึ่งบางรายก็พบภาวะเบาหวานอย่างอ่อน ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะหายไปเองหลังจากคลอดไม่นาน

         ปากมดลูกปิดไม่สนิท ในการตั้งครรภ์ปกติ ปากมดลูกจะปิดสนิทจนถึงเวลาคลอด แต่หากคุณแม่มีอาการแท้งซ้ำหลังช่วง 3 เดือนแรก อาจเกิดจากสาเหตุของมดลูกไม่แข็งแรง และปากมดลูกปิดไม่สนิท แพทย์มักแนะนำให้มีการผ่าตัดเล็ก เพื่อเย็บรูดปากมดลูกให้ปิดสนิทตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และเอาไหมเย็บออกเมื่อเจ็บคลอด

         ครรภ์เป็นพิษ เป็นอาการที่พบบ่อยในการตั้งครรภ์ช่วงท้าย มักมีอาการความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ข้อเท้า เท้า หรือมือบวม ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ถ้ามีอาการเหล่านี้ แพทย์ต้องดูแลเป็นพิเศษ และถ้าความดันโลหิตสูงจนควบคุมไม่ได้ อาจจะเกิดอันตรายมาก ทำให้ชักหรือหมดสติได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนมาก ๆ อาจมีการให้ยาลดความดัน งดอาหารที่มีรสเค็มจัด ถ้าอาการรุนแรงอาจจะต้องรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และแพทย์อาจจะกระตุ้นให้เกิดการคลอดขึ้น

         ทารกเล็กกว่าอายุครรภ์ ทารกบางคนเติบโตไม่ปกติในครรภ์ และจะตัวเล็กเมื่อคลอด เรียกว่า "ทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์" ภาวะนี้เกิดจากแม่ที่สูบบุหรี่ กินอาหารที่มีคุณค่าต่ำ รกไม่สมบูรณ์ หรือมีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ซึ่งถ้าตรวจพบว่าทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ แพทย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์ ดูว่าเลือดไปเลี้ยงที่รกเพียงพอหรือไม่ และถ้ามีอาการหยุดการเจริญเติบโต หรือมีภาวะที่น่าเป็นห่วง แพทย์อาจเร่งให้คลอดเร็วขึ้น

         ฝาแฝด การตั้งครรภ์แฝดอาจทำให้แม่เกิดภาวะโลหิตจาง ครรภ์เป็นพิษ หรือทารกนอนในท่าที่ผิดปกติ จึงควรไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอถ้ามีลูกแฝด การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะทำให้ร่างกายเหนื่อยกว่าปกติ จึงต้องดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น ระวังเรื่องการทรงตัว และพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

         ตกเลือด ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ว่าจะตั้งครรภ์ในระยะกี่สัปดาห์ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และนอนพักที่เตียง ถ้ามีอาการตกเลือดในช่วงก่อน 28 สัปดาห์ อาจจะเป็นอาการนำของการแท้ง ถ้าหลังจากนี้อาจเป็นเพราะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือรกเกาะต่ำได้ ถ้ารกมีปัญหา แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที

         การแท้งลูก คือการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงก่อน 28 สัปดาห์พบได้ 1 ใน 5 ของการตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่จะเกิดในช่วง 12  สัปดาห์แรก ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติของทารกเอง อาการแรกคือ มีการตกเลือด จึงควรรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังอาจมีภาวะที่อาจแท้งซึ่งมีอาการเลือดออกเล็กน้อย ไม่เจ็บปวด มักจะตั้งครรภ์ต่อไปได้ ถ้าทำตามคำแนะนำของแพทย์ และเลือดหยุดไปภายใน 2-3 วัน การแท้งจริงจะมีการตกเลือด และรู้สึกปวด ทารกมักจะไม่มีชีวิตแล้ว จึงควรไปพบแพทย์โดยด่วน


          ถ้านอกเหนือจากนี้ แพทย์ดูว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงคุณหมอก็จะดูแลตามปกติ คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลมากจนเกินไปครับ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.234 เมษายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องแบบไหน ต้องดูแลเป็นพิเศษ อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2558 เวลา 14:25:03 6,287 อ่าน
TOP