x close

บอกแม่กับพ่อให้รู้ หนูทนได้

 พัฒนาการทารกแรกเกิด
เรื่องอะไรบ้างนะที่ลูกน้อยวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน ทนไหว ไปดูกันเลย

บอกแม่ให้รู้ “หนูทนได้” (M&C แม่และเด็ก)

          เมื่อลูกน้อยแรกเกิด ความที่เค้าตัวเล็ก ผิวบอบบางอวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ พ่อแม่มือใหม่ย่อมตื่นเต้น วิตกกังวลเป็นธรรมดา พร้อมที่จะช่วยเหลือลูกทุกวิธีเมื่อเค้าร้องเรียก แต่บางครั้งหลายเรื่องก็เป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ซึ่งถ้าทารกน้อยพูดได้คงอยากบอกพ่อแม่ว่า "ไม่ต้องตื่นเต้นไป เรื่องแค่นี้หนูทนได้" แล้วเรื่องอะไรบ้างนะ ที่มักเกิดกับลูกน้อยแรกเกิด-3 เดือน (แต่หนูทนไหว)

ร้อน ๆ หนาว ๆ หนูพร้อมปรับตัว

          อย่างที่รู้กัน อากาศบ้านเราร้อนมาก พอฝนตก อากาศก็ชื้น ๆ ครั้นหนาวก็หนาวแป๊บ ๆ ที่ต้องกังวลก็คือ 2 ฤดูแรก คือ "ร้อน...ร้อนสุดทน" กับ "ฝน...ฝนพาไข้" ช่วงหน้าร้อน บ้านหรือห้องนอนเด็กที่มีอากาศถ่ายเทหรือติดเครื่องปรับอากาศก็สบายใจหน่อย ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะกับทารกไม่ยาก แต่หากบ้านไหนปิดทึบ อับ แดดเลียกำแพงหรือนอนอยู่ชั้นบนสุด ลำบากหน่อย ผู้ใหญ่ยังร้อนมาก ตัวน้อยคงทนไม่ไหวเหมือนกัน

          การดูแลอาจช่วยทารกด้วยการเช็ดตัวเป็นระยะ (แต่อย่าถูแรง) เพื่อไล่ความร้อนที่สะสมในตัว แต่ถ้าเลือกได้ ควรย้ายเค้ามานอนในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และอาจเปิดพัดลมช่วย (แต่อย่าจ่อตรง ๆ ควรเปิดส่าย) สามารถใช้แป้งเด็กทา และควรปลดผ้าอ้อมให้ลูกสัมผัสอากาศบ้าง จะได้ไม่อับชื้นระคายเคือง ส่วนช่วงหน้าฝนต้องระวัง อย่าพาเค้าออกข้างนอกบ่อย ให้อยู่แต่ในบ้านได้จะดี เพราะเด็กเป็นไข้ในช่วงฤดูนี้บ่อยที่สุด

          อย่าตื่นตูมว่าทารกจะทนร้อนไม่ไหว ทนหนาวไม่ได้ แค่คอยระวังถ้าเห็นว่าอากาศร้อนเกินไป ก็ช่วยเค้าให้เย็นสบายเนื้อตัว หรือถ้ารู้สึกว่าห้องหนาวเกินไป ก็ห่มผ้า ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม

ถอดเปลี่ยนผ้าอ้อมตามเหมาะสม

          หลายบ้านใช้ผ้าอ้อมลูกสลับกัน ทั้งแบบผ้าสาลูซักได้และแบบสำเร็จรูป บางบ้านเลือกตามความสะดวก ใช้เฉพาะผ้าอ้อมสำเร็จรูป ก็มีค่าใช้จ่ายสูงหน่อย แต่เลือกแบบไหนก็ไม่ผิด ขอแค่ดูแลเอาใจใส่ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้เค้าตามความเหมาะสม

          ถ้าลูกถ่ายอุจจาระ แม้จะเล็กน้อยก็ควรถอดเปลี่ยนทันที ไม่ต้องรอนาน เพราะทารกมักถ่ายอุจจาระแป๊บเดียว (และนิดเดียว) เป็นน้ำและมีเม็ดเล็ก ๆ จากการกินนม แต่ถ้าถ่ายปัสสาวะ อันนี้ "หนูทนได้" ไม่ต้องเปลี่ยนในทันที รอจนจับดูว่าผ้าอ้อมตุงมากน้อยแค่ไหน หรือกำหนดระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยน เช่น วัยแรกเกิด-1 เดือน เปลี่ยนทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง, 2-3 เดือน เปลี่ยนทุก ๆ 1 ชั่วโมง

          อย่างไรก็ดี ทารกส่วนใหญ่มักจะร้องเมื่อเค้ารู้สึกไม่สบายก้น อับชื้น ระคายเคือง ถ้าได้ยินเค้าร้องเมื่อไหร่ ก็อย่าลืมสังเกตที่ผ้าอ้อม ช่วยเค้าเปลี่ยนทันทีค่ะ

มีเสียงพูดคุยบ้างก็ดีนะ

          ความที่พ่อแม่ไม่อยากรบกวนลูกขณะนอนหลับ ก็มักจะอยู่กันเงียบ ๆ ไม่อยากทำเสียงรบกวนลูก อยากดูโทรทัศน์ ก็อดทน ดูแต่ภาพ ไม่ฟังเสียงหรือบางบ้านก็ใช้วิธีใส่หูฟัง แต่ที่จริง ถึงแม้ลูกน้อยจะนอนหลับ พ่อแม่ก็พูดคุยกันได้นะเพียงแต่อย่าใช้เสียงดัง พูดคุยกันตามปกติ (ไม่ได้เป็นเสียงที่รบกวนการนอนหลับ) ทารกจะได้ยินเสียงเช่นกัน และจดจำคุ้นชินเสียงคุณพ่อคุณแม่ หรืออาจจะเป็นเสียงดนตรีเบา ๆ กล่อมให้เค้าหลับฝันดีก็ได้

          มีอีกหลายเรื่องที่ลูกน้อยต้องใช้เวลาปรับตัวและคุณพ่อคุณแม่มีส่วนช่วยเค้าได้มากเลยค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 508 มิถุนายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บอกแม่กับพ่อให้รู้ หนูทนได้ อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2557 เวลา 16:14:42 4,294 อ่าน
TOP