x close

เข้าใจลูก แม้ลูกไม่เข้าใจคุณ

พัฒนาการเด็ก
 เด็กมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ควรเลี้ยงดูเขาด้วยความเข้าใจ

เข้าใจลูก แม้ลูกไม่เข้าใจคุณ
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

          มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "หากในโลกใบนี้มีเพียงคนเดียวที่เข้าใจเขา (ลูกของคุณ) ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาดำเนินชีวิตอยู่ในโลกด้วยความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมีความสุข" และถ้ามีถึง 2 คน คือทั้งพ่อและแม่แล้วจะเป็นสิ่งประเสริฐสักเพียงใดสำหรับเด็กคนหนึ่ง

          ความเข้าอกเข้าใจเป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชายหรือหญิง สถานะสูงหรือต่ำ ล้วนปรารถนาทั้งสิ้นความเข้าใจของใครคนหนึ่งจะเป็นแรงพลังให้เรามีกำลังใจรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย รู้สึกได้รับการยอมรับ รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นในส่วนดีของเรา ทำให้สามารถเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตข้างหน้าได้

          เด็กต้องการคนที่เข้าใจเขาเช่นกัน แม้ว่าเด็กไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้ครบถ้วน ผู้ใหญ่ต้องพยายามเข้าใจเด็ก เช่น เด็กทารกซึ่งพูดไม่ได้เลย คนเลี้ยงก็ต้องเรียนรู้ว่า เวลาเด็กหิว ง่วงนอน ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม จะแสดงออกอย่างไร เคยมีคุณแม่ท่านหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ว่า เธอสามารถแยกเสียงลูกของเธอได้ว่า ร้องแบบไหนหมายถึงต้องการอะไร เป็นต้น

          หรือตัวอย่าง มีเด็กเล็กคนหนึ่งวัยเพิ่งหัดพูด วิ่งมาเล่าให้เพื่อนคุณแม่ฟังว่า "เมื่อกี้นี้หนูได้ไปตลาดนัดมาและซื้อตุ๊กตาตัวใหญ่มา 2 ตัว" เมื่อสอบถามจากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ที่บ้านไม่เคยพาเด็กไปเที่ยวตลาดนัดเลย ผู้ใหญ่บางคนจะนึกว่าเด็กโกหก และตำหนิเด็ก หรือพูดใบทำนองไม่ให้เกียรติเด็กว่า "เด็กคนนี้ชอบพูดเรื่อยเปื่อย" เป็นต้น

          ในเรื่องนี้ผมเห็นว่า เด็กไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่อาจเป็นจินตนาการของเด็ก อันอาจจะเกิดจากมีคนมาเล่าให้เขาฟัง หรือเกิดจากความฝันที่เด็กยังแยกแยะไม่เป็น ว่าเรื่องใดเป็นความจริงเรื่องใดเป็นความฝันก็เป็นได้

          ดังนั้น แทนที่จะตำหนิว่า "ไม่จริงมั้ง" "โกหกหรือเปล่า" "อย่ามามั่วเลย" ผู้ใหญ่ควรชี้ชวนคุยสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากพูด อยากเล่า เป็นการเสริมพัฒนาการด้านภาษาและจินตนาการของเด็ก รวมถึงถือโอกาสเล่าเรื่องจริงให้เด็กฟัง เป็นการเพิ่มการเรียนรู้ให้เด็กได้อีกด้วย

          นอกจากนี้ พ่อแม่ควรพยายามเข้าใจลูกในช่วงวัยต่าง ๆ ที่มีบุคลิกนิสัยแตกต่างกัน เช่น

เด็กวัยอนุบาล

          เด็กอาจชอบมีอาการหงุดหงิด งอแง เริ่มแสดงออกถึงการปฏิเสธการต่อต้าน แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา ชอบรื้อค้นของในบ้าน วาดเขียนตามฝาผนังบ้าน ไม่ยอมทานอาหาร หรือเลือกทานแต่ของที่ชอบ

          สำหรับเด็กวัยนี้พ่อแม่ต้องใจเย็น และหาวิธีจูงใจลูกโดยการให้รางวัล หรืองัดเทคนิคต่าง ๆ ออกมาใช้จูงใจลูกแทนการบังคับ การให้รางวัลก็ต้องไม่ใช่เป็นการจ้างลูกให้ทำสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เช่น ถ้าวันนี้ไปโรงเรียน เดี๋ยวพ่อจะซื้อตุ๊กตาให้ 1 ตัว เป็นต้น ควรสอนให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ควรทำ ก็ต้องทำ แม้ไม่มีรางวัล และหากพ่อแม่เห็นว่า ลูกเป็นเด็กดีตลอด 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน แล้วพ่อแม่ก็สามารถให้รางวัลตามโอกาสอันเหมาะสมได้ โดยไม่ต้องบอกลูกล่วงหน้า

เด็กวัยประถม

          ถ้าเป็นผู้ชายก็จะเป็นวัยซุกซน ชอบทดลอง ถ้าเป็นผู้หญิงก็เริ่มรักสวยรักงาม บางครั้งสิ่งที่เด็กทำ "อาจดูไม่เข้าท่า" ในสายตาผู้ใหญ่ชอบทำเละเทอะ ชอบทำอะไรแผลง ๆ ชอบเถียง

          เมื่อดูเหมือนลูกทำสิ่งที่จะก่อความวุ่นวายขึ้น พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และพ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้สอนให้คิดในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องใจเย็น มีสติ อย่าวู่วาม

          นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจมีความตั้งใจมากที่พยายามทำสิ่งดีให้พ่อแม่ชื่นชมคน แต่อาจทำได้ไม่สำเร็จ หรือผิดพลาดมากกว่าเดิม พ่อแม่ไม่ควรซ้ำเดิม แต่ควรให้กำลังใจเด็กมากกว่า ต้องตระหนักว่าความตั้งใจสำคัญกว่าผลลัพธ์ เพราะหลายอย่างเราไม่สามารถคาดผลลัพธ์ได้ เช่น ลูกพยายามตั้งใจสอบให้ได้คะแนนดี แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ พ่อแม่ควรชมเชยในความตั้งใจของเด็กมากกว่าผลงาน เป็นต้น

เด็กวัยรุ่น

          เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เรียกว่า รูปร่างผู้ใหญ่ แต่ความคิดวุฒิภาวะยังเป็นเด็ก วัยรุ่นไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำการดำเนินชีวิต ด้วยการคอยดูอยู่อย่างห่าง ๆ และพร้อมที่จะให้คำปรึกษาแก่ลูกเสมอ ต้องทำให้วัยรุ่นรู้ว่า พ่อแม่เข้าใจเขา ยอมรับในตัวเขาได้ทุกอย่าง ทำให้เขากล้าคุยกับเราได้ในทุกเรื่อง แม้ในความผิดพลาดของเขา

          ในช่วงวัยนี้ พ่อแม่ต้องไม่ตื่นตระหนกกับความผิดที่ลูกเล่าให้ฟัง หากเกิดขึ้นจริงก็ต้องช่วยกันคิดแก้ปัญหา บางครอบครัวใช้เวลากับลูกโดยร่วมทำกิจกรรมในสิ่งที่ลูกชอบ อาทิ นั่งดูละครด้วยกัน ไปเที่ยวห้างหรือโยนโบว์ลิ่งกับลูก เปิดโอกาสให้ลูกเลือกซื้อเสื้อผ้าด้วยตนเองในแบบที่ลูกชอบ แต่ไม่ล่อแหลมจนเกินไป ให้ลูกพาเพื่อนมาเที่ยวที่บ้าน ทำความรู้จักกับพ่อแม่ ในวัยนี้เด็กอาจมีความกังวลเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง พ่อแม่ต้องคอยเป็นที่ปรึกษาหรือสอนให้ลูกรู้ก่อนจะถึงวัย เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเกิดกับทุกคน

          พ่อแม่ควรตระหนักว่า เด็กมีความเป็นบุคคลที่มีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เราจึงต้องให้เกียรติ และเลี้ยงดูเขาด้วยความเข้าใจ เพื่อให้ลูกเติบโตทั้งด้านร่างกาย ความคิด สติปัญญา อารมณ์ มีความภาคภูมิใจในตนเองและดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุขตลอดไป




 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 510 สิงหาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เข้าใจลูก แม้ลูกไม่เข้าใจคุณ อัปเดตล่าสุด 5 กันยายน 2557 เวลา 14:23:54 1,469 อ่าน
TOP