x close

ไขข้อข้องใจ เรื่องไข้ออกผื่น

ไข้ออกผื่นในเด็ก

ไขข้อข้องใจ เรื่องไข้ออกผื่น (Mother&Care)
เรื่อง : แม่น้องอู๋

           โรคที่แสดงอาการนำด้วยการมีไข้และมีผื่น อาการดังกล่าว เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละโรค ที่คุณแม่อาจไม่รู้ เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่เรียนรู้ว่า มีโรคอะไรบ้าง ควรระวัง ดูแลสุขภาพลูกน้อย ให้ห่างไกลเชื้อโรคอย่างไร ติดตามกันได้เลยค่ะ

           หัด อาจมีไข้สูง (แม้กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยลง) มักมีอาการตาแดง ไอ นอนซม และเบื่ออาหาร จากนั้นก็จะมีผื่นขึ้นช่วงที่มีไข้อยู่ เป็นผื่นแดง ๆ เล็ก ๆ กระจายขึ้นทั่วไป ขึ้นตามหน้าแล้วกระจายไปตามลำตัว และแขนขา

           เรื่องน่ารู้ : โรคหัดมีระยะฟักตัว 8-12 วัน เกิดได้ทุกช่วงอายุ พบได้ตลอดปี จะพบบ่อยในเด็กระหว่าง 2 ถึง 14 ปี ติดต่อได้ง่ายและเร็ว โดยการไอ จาม หายใจรดกัน และการใช้สิ่งของ ส่วนมากเกิดในช่วงฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์และเดือนสิงหาคม

           หัดเยอรมัน จะมีไข้ไม่สูงนัก ลูกจะครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลียได้นิดหน่อย และมีผื่นแดงเม็ดละเอียด ๆ ขึ้นที่หน้า ลำตัว และแขนขา โดยมากจะไม่มีอาการของหวัดหรือไอ อาการไม่ค่อยรุนแรง สามารถกินข้าว วิ่งเล่น เรียนหนังสือได้ปกติ อาการจะหายได้ภายในเวลา 5-7 วัน

           เรื่องน่ารู้ : โรคหัดมีระยะฟักตัว 8-12 วัน เกิดได้ทุกช่วงอายุ พบได้ตลอดปี จะพบบ่อยในเด็กที่อาจระหว่าง 2 ถึง 14 ปี ติดต่อได้ง่ายเชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้ว จะยังไม่เกิดอาการทันที มักพบการระบาดในโรงเรียนติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมัน ในเด็กอาจมีเพียงอาการผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ หรือไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน

           ส่าไข้ อาการสำคัญคือ มีไข้สูง (เฉลี่ย 39.7 องศาเซลเซียส) หลังจากนั้นไข้จะลดลง และมีผื่นกระจายตามใบหน้า คอ แขนและขา ผื่นอาจอยู่นาน 1-3 วัน อาการโดยรวมจะค่อย ๆ ดีขึ้น หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ส่าไข้จะมีผื่นแดง ลักษณะคล้ายหัดและหัดเยอรมัน จนบางครั้งแยกได้ไม่ชัดเจน ต้องสังเกตจาก ...

         icon หัด จะมีไข้สูงตลอดเวลา มีน้ำมูก ไอ หน้าแดง ตาแดง มีผื่นแดงขึ้น หลังมีผื่นขึ้นยังคงมีไข้สูงต่ออีก 3-4 วัน ส่วนส่าไข้ตอนมีผื่นขึ้น ไข้จะค่อย ๆ ลดลง

         icon หัดเยอรมัน จะมีไข้และมีผื่นแดงขึ้น ไข้ไม่สูงมาก ผื่นอาจขึ้นก่อนหรือหลังมีไข้ก็ได้

           เรื่องน่ารู้ : 1-2 วันแรกไข้มักจะขึ้นสูง ฉะนั้น การดูแลในช่วงนี้ คุณแม่ควรเช็ดตัวให้บ่อย เพื่อป้องกันการชักของลูกน้อย

           อีสุกอีใส
อาจมีหรือไม่มีไข้ก็ได้ ผื่นอีสุกอีใส จะมีลักษณะเฉพาะคือ เริ่มจากเป็นผื่นเม็ดสีชมพูและใน 24 ชั่วโมง ผื่นจะกลายเป็นตุ่มใส มีไข้เป็นพัก ๆ และมีตุ่มใส ๆ ขึ้นที่บริเวณหน้าและคอ ขึ้นกระจายตามลำตัวและแขนขา มักจะมีอาการคันร่วมด้วยต่อมาตุ่มจะค่อย ๆ สุก และตกสะเก็ด กินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหาย

           เรื่องน่ารู้ : ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจทำให้ผื่นกลายเป็นหนองมีแผล เชื้อกระจายสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นพิษ และปอดบวมได้ และยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลัง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นหนึ่งทางเลือกในการป้องกันโรค ทั้งนี้ อาจขอคำแนะนำจากคุณหมอ เพื่อเลือกพิจารณาก่อนก็ได้ค่ะ

           มือเท้าปาก ก็จัดเป็นโรคอีกหนึ่งโรค ที่มีอาการนำด้วยไข้และผื่น เป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ที่แตกต่างคือมีแผลภายในช่องปาก เป็นแผลเล็ก กระจายที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก โรคนี้มักไม่พบผื่นบริเวณรอบริมฝีปาก แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมาก จึงทำให้ลูกกินอาหารได้น้อยและไม่ยอมกลืนน้ำและอาหาร

           เรื่องน่ารู้ : เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ๆ แพร่กระจายและระบาดได้ง่าย ในช่วงฤดูฝนซึ่งตรงกับช่วงเปิดเรียนโดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และสถานที่ที่พบการติดเชื้อได้บ่อย ๆ คือสถานที่ที่มีเด็กเล็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียนอนุบาล เนิร์สเซอรี่

วิธีดูแลสุขภาพลูกน้อย

         หากลูกมีไข้สูง ควรเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ ดูแลตามอาการ

         ควรให้ลูกพักผ่อน และดื่มน้ำให้มาก กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค

         หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด ผู้คนอยู่เยอะ ๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคได้ง่าย

         ผื่นที่เกิดขึ้น มักไม่ทำให้เกิดอาการคัน หากมีอาการคันอาจต้องสังเกตให้มากขึ้นว่ามีสาเหตุจากการแพ้ยาหรือไม่และควรเลิกใช้ยาชนิดนั้น ๆ

เรื่องต้องระวัง

           คือภาวะแทรกซ้อน และหากอาการไม่ดีขึ้น มีสิ่งผิดสังเกต เช่น มีอาการกระสับกระส่าย งอแงมาก กินได้น้อย ซึม อาเจียน ชัก หายใจหอบ หรือปัสสาวะขุ่น ควรพาลูกมาพบคุณหมอโดยเร็ว

           ด้วยลักษณะอาการที่คล้ายกัน ดังนั้นเมื่อลูกเจ็บป่วยไม่สบาย คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็ว เพราะการวิเคราะห์อาการแต่ละโรค คุณหมอจะต้องดูประวัติของผู้ป่วย และอุบัติเหตุการณ์การระบาดของโรคประกอบการวินิจฉัยโรค

           ดังนั้น แต่ละครั้งที่ลูกเจ็บป่วย ไม่สบาย อย่าลืมจดบันทึกข้อมูลสุขภาพลูกไว้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูล หนึ่งวิธีง่าย ๆ ในการดูแลสุขภาพลูกน้อยได้ค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.10 No.109 มกราคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อข้องใจ เรื่องไข้ออกผื่น อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15:41:19 2,485 อ่าน
TOP