x close

ระวังสารพิษในบ้านให้ลูกวัยซน

สารพิษในบ้าน

ระวังสารพิษในบ้านให้ลูกวัยซน
(Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง

         สำหรับลูกน้อยวัยซน สิ่งที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ ก็คือความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยในบ้านที่คุณแม่อาจนึกไม่ถึง เช่น สิ่งของที่มีในบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นภัยร้ายใกล้ตัวลูก จะเป็นผลกระทบในรูปแบบไหน อย่างไร มาลองเช็กความปลอดภัยภายในบ้านกันค่ะ


สารตะกั่ว : ของเล่น ของใช้ลูก

         อุปกรณ์ศิลปะ เช่น สีหรือดินน้ำมัน ต้องเลือกให้ดี ควรเลือกแบบไม่มีสารตะกั่ว non-toxic เพราะเจ้าตัวเล็กอาจจะอยากลองชิม เพราะสีสวย ๆ ของดินน้ำมันนั่นเอง

         รถบังคับ ตุ๊กตา หรือรีโมทที่ใช้ถ่าน มีสารปรอทและแคดเมียมเป็นส่วนประกอบ คุณแม่ต้องตรวจดูความเรียบร้อย เช่น ถ่านที่นำมาใส่เก่าจนมีน้ำเยิ้มออกมาหรือไม่ ตัวปิดถ่านแน่นหนาดีหรือไม่ เป็นต้น

         ของใช้ในบ้าน เช่น จานหรือชามใส่อาหาร หรือม่านบังแดดที่ทำจากวัสดุไวนิล อุปกรณ์ของเล่นนอกบ้าน ของเหล่านี้ อาจทาด้วยสีที่มีส่วนผสมประเภทตะกั่ว ควรเล่นด้วยความระมัดระวัง ตรวจเช็กอยู่เสมอ และหมั่นล้างมือหลังจากการเล่น

สารให้กลิ่น, สารลดแรงตึงผิว : ผงซักฟอก

         สารให้กลิ่น, สารลดแรงตึงผิว ถ้าเป็นชนิด Non-lonic และ Anionic ถึงจะมีพิษไม่ร้ายแรง แต่มีอันตรายเมื่อมีการสำลักฟองเข้าหลอดลมโดยเฉพาะสารแคลเซียมคาร์บอเนต สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และหากฟุ้งกระจายเข้าตาก็ทำให้เกิดการอักเสบของดวงตา นอกนั้นแล้วยังมีเอนไซม์ หากสารเหล่านี้ปนเปื้อนไปกับอาหาร ก็อาจทำได้เกิดอาการท้องร่วงได้เช่นกัน

สารฟินอล : น้ำยาทำความสะอาด

         มักมีสารฟินอล (Phenol) เป็นตัวผสมหลัก หากสัมผัสในปริมาณไม่มากจะไม่ทำอันตราย แต่หากได้รับในปริมาณมากและสัมผัสอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้อาการที่แสดงจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่ร่างกายได้รับสารเคมีนั้น ๆ เช่น กินหรือสูดดมเข้าไป จะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ไอ สำลัก อาเจียน มีภาวะเลือดเป็นกรด ปอดอักเสบจากการสำลักหรือไตวาย ซึมและอาจหมดสติ หากเข้าตา อาจทำให้ตาบอด หรือสัมผัสทางผิวหนังก็ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน

สารระเหย : ทินเนอร์, กาว

         เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นลักษณะของเหลวไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน เป็นสารระเหยที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มีพิษรุนแรงกว่าสารระเหยประเภทเบนซิน จะผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ใช้ผสมสีทาบ้าน, น้ำยาล้างเล็บ หรือกาวซ่อมรองเท้า หากสัมผัสโดยตรง อาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนังอักเสบเป็นพิษต่อตา หู และระบบทางเดินหายใจเมื่อสูดดม

เชื้อเพลิง : น้ำมัน

         ผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันเครื่อง, น้ำมันดีเซล, น้ำมันหล่อลื่น โดยส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากนัก แต่จะเกิดอันตรายได้ก็ต่อเมื่อมีการสำลัก ทำให้เกิดปอดอักเสบ ถึงอย่างไรก็ไม่ควรมองข้ามความซุกซน เพราะลูกน้อยอาจเผลอทำหก ทำหล่น นอกจากทำให้ลื่นล้ม บาดเจ็บแล้ว อาจกลายเป็นชนวนเชื้อเพลิงต้องระวังเป็นพิเศษค่ะ

อาการแบบไหน "เป็นพิษ"

         สิ่งแปลกปลอมที่เราเรียกว่าสารพิษ ไม่ว่าอะไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านการกินการหายใจ หรือการเปื้อนที่ดวงตา ผิวหนัง แล้วทำให้เกิดอาการ จะมีลักษณะของอาการที่เกิดขึ้นหลายลักษณะ เช่น

         ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดง หรือไหม้

         เยื่อบุตา ปาก จะทำให้ไหม้ บวม และแดง

         ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายท้อง

         ระบบประสาท จะมีตั้งแต่อาการชัก ซึม ไปจนถึงหมดสติ

         ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจมีเสียงดัง จนถึงไม่หายใจ

         หลักการดูแลความปลอดภัยให้ลูกในเรื่องของสารพิษในชีวิตประจำ ก็คือ คุณแม่ต้องหมั่นตรวจความเรียบร้อยภายในบ้าน จุดไหนสิ่งไหนที่สุ่มเสี่ยง เป็นอันตราย ควรเก็บใส่ตู้ที่มีกุญแจล็อกให้เรียบร้อย เก็บให้พ้นมือลูกจอมซน และหากเกิดปัญหาจากสารพิษต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็กร่างกาย






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.9 No.107 พฤศจิกายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวังสารพิษในบ้านให้ลูกวัยซน อัปเดตล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 15:02:14 5,247 อ่าน
TOP