x close

ลำไส้ขาดเลือดในเด็ก อันตรายถึงชีวิต

โรคลำไส้ขาดเลือดในเด็ก

ลำไส้ขาดเลือด...อันตรายถึงชีวิต (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.ลัดดา ลักษณบุญส่ง กุมารแพทย์

          คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน อาจไม่คุ้มหูกับอาการภาวะลำไส้ขาดเลือดในเด็ก ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนเป็นโรคไกลตัว แต่ถ้าเกิดขึ้นกับลูกของเรา แล้วชะล่าใจปล่อยไว้ไม่รักษามีโอกาสทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้ค่ะ

เมื่อลำไส้ขาดเลือด

          ลำไส้ขาดเลือด คือ การที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงลำไส้ ทำให้ผนังลำไส้เกิดภาวะอักเสบเน่าตาย จนลำไส้ทะลุได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลำไส้ขาดเลือดที่พบบ่อย คือ โรคลำไส้กลืนกัน

          การเกิดโรคลำไส้กลืนกันในเด็กเล็ก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ที่ทำให้ลำไส้เกิดการขาดเลือดนั้น เพราะลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า แล้วถ้าเกิดการกลืนซ้อนกันนาน ๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนนั้นได้ไม่ดี ก็จะเกิดลำไส้ขาดเลือด จนกระทั่งมีการเน่าตายของลำไส้ได้

          มีการรวบรวมช่วงเวลาที่พบโรคนี้บ่อยที่สุด คือ ช่วงฤดูหนาวและต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ อาจมีส่วนทำให้ลำไส้เกิดการติดเชื้อ จนนำไปสู่การเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดได้

          ปัจจุบันพบสถิติการเกิดโรค 1.5-4/1,000 เด็กผู้ชายเป็นมากกว่าเด็กผู้หญิง (ในอัตราส่วน 3/2) และพบได้บ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุ 4-12 เดือน และมักเกิดขึ้นในเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงดี แต่ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้ลูกน้อยเกิดโรคนี้

เช็กอาการลำไส้ขาดเลือด

          อาการที่จะแสดงให้เห็นว่าลำไส้ลูกน้อยกำลังขาดเลือด ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แสดงให้เห็นภายใน 24 ชั่วโมง คือ

         1. อยู่ ๆ ก็มีอาการร้องไห้โยเย ซึ่งในเด็กเล็กเขายังพูดอธิบายไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนสังเกตว่าเขาร้องไห้เพราะอะไร มีอาการท้องอืดหรือปวดท้องร่วมด้วยไหม อาการปวดจะเป็น ๆ หาย ๆ แล้วปวดมากขึ้น

         2.มีการอาเจียน โดยครั้งแรก อาจอาเจียนออกมาเป็นนมหรืออาหารที่กินเข้าไป หลังจากนั้น จะมีการอาเจียนเป็นระยะ ๆ และอาเจียนมีสีเหลืองอมเขียว

         3.อุจจาระคล้ายแยม คืออุจจาระของลูกจะมีลักษณะเหลวเหนียวข้น มีมูกเลือดปน ถ้าหากรุนแรงมากจะมีลักษณะเหลวเป็นสีแดงคล้ำคล้ายแยม เรียกว่า ภาวะ Currant jelly stool เป็นการบ่งบอกว่า ลำไส้มีการกลืนกันมากขึ้น จนลำไส้เริ่มมีการขาดเลือด อาการแบบนี้เกิดจากการที่ลูกน้อยเป็นโรคลำไส้กลืนกันแล้วไม่ได้รักษา ทำให้ลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดการอักเสบติดเชื้อ ทำให้ลำไส้เน่า และถ้าร้ายแรง ลำไส้อาจจะเกิดการทะลุ และเสียชีวิตได้

          ระยะเวลาที่นำไปสู่อาการร้ายแรงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนเพราะสภาพร่างกายเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในเด็กเล็ก ๆ ร่างกายยังอ่อนแอ การต้านทานโรคหรือความเจ็บปวดน้อยอยู่ จึงเป็นการนำไปสู่ภาวะรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น ถ้าพบว่าลูกมีอาการผิดสังเกตต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้ จำเป็นจะต้องรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ

ต้องรักษาโรคลำไส้กลืนกัน ก่อนจะเกิดลำไส้ขาดเลือด

          เด็ก ๆ มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง อาเจียน ร้องโยเย เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระ เพื่อหาสาเหตุว่ามีการติดเชื้ออะไรไหม และแนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ ถ้าให้น้ำเกลือหรือยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ภายใน 24 ชม. แพทย์จะประเมินอาการซ้ำเพราะแพทย์อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง (คือส่วนของลำไส้ที่กลืนกัน) และต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ เพื่อตรวจหาว่ามีภาวะลำไส้กลืนกันหรือไม่ ถ้าพบว่ามีลำไส้กลืนกันก็จะรีบรักษาทันที

การรักษาโรคลำไส้กลืนกัน แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

          1.การสวนแป้ง เป็นวิธีรักษาทางรังสีวิทยา โดยการใช้แป้ง ซึ่งเป็นสารทึบรังสีสวนเข้าไปทางก้นน้อย ๆ ของเด็ก ซึ่งทำให้เกิดแรงดัน ดันลำไส้ให้คลายตัว เมื่อลำไส้คลายตัวอาการก็จะดีขึ้นไม่ต้องผ่าตัด สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน หลังจากการสวนลำไส้

          2.ผ่าตัดลำไส้ หากสวนแป้งแล้วลำไส้ไม่คลายออกจากกันต้องผ่าตัดเพื่อดึงให้ลำไส้คลายออกจากกัน ต้องผ่าตัดเพื่อดึงให้ลำไส้คลายออก แล้วดูว่ามีลำไส้ส่วนอื่นผิดปกติ หรือลำไส้เน่าหรือไม่ ถ้ามีต้องตัดลำไส้แล้วต่อใหม่ เอาส่วนที่เน่าทิ้งไป เรียกว่า การตัดต่อลำไส้ เด็ก ๆ ก็จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นค่ะ

          โรคลำไส้กลืนกันนี้แม้ว่าจะเป็นโรคที่ร้ายแรงและเฉียบพลัน แต่ผลของการรักษาจะดีมากถ้าวินิจฉัยได้เร็ว ปัญหาที่พบบ่อย คือ พ่อ แม่ หรือผู้ดูแลไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ คิดว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบ โรคบิด หรือไวรัสลงกระเพาะ ซื้อยามาให้ลูกกินเอง จนกระทั่งลูกมีอาการของลำไส้ขาดเลือด คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถึงค่อยพามาหาแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาช้าเกินไป ดังนั้น เมื่อใดที่ลูกมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรรีบพามาพบแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะสายเกินไปค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 363 เมษายน 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลำไส้ขาดเลือดในเด็ก อันตรายถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2556 เวลา 16:45:10 5,791 อ่าน
TOP