x close

อุบัติเหตุที่พบบ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี

อุบัติเหตุเด็ก

อุบัติเหตุที่พบบ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี (momypedia)

         จมน้ำ

         ตกจากที่สูง

         ไฟฟ้าดูด

         อุบัติเหตุจากรถเข็นเด็ก

จมน้ำ

          เด็กจมน้ำตายส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก มักเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงภายในบ้าน เช่น จมถังน้ำ อ่างอาบน้ำ กะละมัง หรือไม่ก็อาจจะจมน้ำในแหล่งน้ำรอบ ๆ บ้าน เช่น คูน้ำหลังบ้าน บ่อน้ำ หรือสระว่ายน้ำ สิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตราย เพราะไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเล็กที่กำลังซุกซนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

          อุบัติเหตุจมน้ำในเด็กเล็กมักเกิดขึ้นในขณะที่เด็กอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคุณแม่ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่เผอเรอชั่วขณะเด็กก็เกิดการจมน้ำได้ เช่น พ่อแม่เดินไปเข้าห้องน้ำ ไปล้างจาน รับโทรศัพท์ คุยเพลิน หรือเผลอหลับไปเพียงครู่เดียว การปล่อยให้เด็กวิ่งไปมาใกล้แหล่งน้ำที่ไม่มีรั้วกั้นมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำอย่างมาก เด็กที่จมน้ำจะขาดอากาศหายใจ หากเกิน 4-5 นาที สมองจะเกิดภาวะสมองตายซึ่งไม่สามารถกลับฟื้นได้ ทำให้เสียชีวิตหรือพิกลพิการตลอดชีวิต เด็กจมน้ำส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้นทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ควรป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์จมน้ำเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นเด็กจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลและปฏิบัติการกู้ชีพเบื้องต้น ที่ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

imagesการป้องกันเด็กจมน้ำ

          สร้างสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยโดยเฉพาะหากมีลูกในวัยหัดเดิน โดยทำรั้วกั้นให้เด็กมีพื้นที่ที่จำกัด ไม่สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้ หรือปิดประตูห้องน้ำ หรือ ใช้ถังน้ำที่มีฝาปิด มีความสูงเพียงพอที่เด็กจะไม่สามารถปีนขึ้นได้

          ไม่ปล่อยให้ลูกคลาดสายตา การป้องกันเด็กจมน้ำในอ่างอาบน้ำ กะละมัง ป้องกันได้โดยไม่ปล่อยเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เล่นน้ำในอ่างหรือสระว่ายน้ำตื้น ๆ แต่เพียงลำพัง พ่อแม่พึงคิดไว้เสมอว่าระดับน้ำตื้น ๆ สามารถทำให้เด็กจมน้ำได้

          ใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน บ่อน้ำ คู คลองในชุมชนก็เป็นจุดอันตรายที่ทำให้เด็กจมน้ำได้เหมือนกัน อย่าคิดว่า "เรื่องอย่างนี้คงไม่เกิดกับลูกเราหรอก" เพราะอาจจะมีสักวันที่ลูกเราออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านแล้วอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น คนในชุมชนจึงต้องมีความตั้งใจร่วมกันที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานในชุมชนสามารถวิ่งเล่นไปมาได้โดยปลอดภัย เพราะฉะนั้นควรช่วยกันสำรวจรอบชุมชนเพื่อดูว่าตรงไหนบ้างที่เป็นจุดเสี่ยง อาจทำให้เด็กจมน้ำได้ เช่น บ่อน้ำ คูน้ำ แล้วทำรั้วกั้น รั้วต้องสูงอย่างน้อย 150 ซม. ซี่รั้วต้องไม่ห่างเกิน 10 ซม. เป็นต้น

          สอนลูกอย่าไว้ใจน้ำ เด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไปควรได้รับการสอนให้รู้จักอันตรายของการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ก็สามารถเรียนว่ายน้ำได้ อย่างน้อยเพื่อให้สามารถช่วยตัวเองให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เมื่อจมน้ำ ทำให้มีผู้พบเห็นและช่วยได้ทัน อย่างไรก็ตามพ่อแม่ไม่ควรวางใจให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ว่ายน้ำเป็นอยู่ในแหล่งน้ำตามลำพัง(แม้ว่าจะว่ายน้ำเป็นแล้วก็ตาม)

การปฐมพยาบาลและการกู้ชีพฉุกเฉินเมื่อเด็กจมน้ำ

          สิ่งที่พ่อแม่ควรตระเตรียมไว้เพื่อความปลอดภัยของลูกคือเรียนรู้วิธีกู้ชีพฉุกเฉิน เพราะหน่วยฉุกเฉินที่ต้องโทรศัพท์เรียกมาห้องฉุกเฉิน และไอ.ซี.ยู.ของโรงพยาบาลจะช่วยลูกได้น้อยมาก ผลการวิจัยพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่หรือผู้อยู่ใกล้ชิดเด็กที่จมน้ำทำการปฐมพยาบาลผิดวิธี มักใช้ท่าอุ้มพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออก บางคนเอาเด็กวางลงบนกระทะคว่ำเพื่อรีดเอาน้ำออก การกระทำดังกล่าวไม่ช่วยเหลือเด็กแต่อย่างไร แต่ทำให้เสียเวลาในการช่วยการหายใจเด็ก นอกจากนั้นผลการวิจัยยังพบว่าในรายที่พ่อแม่พาเด็กที่จมน้ำไปยังคลินิกใกล้บ้าน พ่อแม่มักจะได้รับคำแนะนำให้รีบพาส่งโรงพยาบาลต่อไปโดยที่แพทย์ไม่ได้ช่วยเหลือเบื้องต้นและไม่ได้นำส่งด้วยตัวเองทั้ง ๆ ที่เด็กมีอาการหนัก

อุบัติเหตุเด็ก

ตกจากที่สูง

          เด็กวัย 1-3 ปี ชอบที่จะได้เล่นในสนามเด็กเล่น ได้เล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชิงช้า กระดานหก กระดานลื่น ราวโหน ม้าหมุน ฯลฯ ล้วนแต่มีประโยชน์แก่เด็ก ๆ อย่างมาก แต่สนามเด็กเล่นนั้นก็มีอันตรายเหมือนกัน สาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการล้มทับของเครื่องเล่น สำหรับการบาดเจ็บนั้นกว่า 70% เกิดจากการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่เป็นประเภทแกว่งไกวไปมา มีการเหวี่ยงการชนเกิดขึ้นได้เสมอคือชิงช้า ที่นั่งชิงช้าโยกไปมาควรทำด้วยผ้า ยาง หรือวัสดุที่อ่อนนุ่ม มีขอบมนและมีผิวเรียบซึ่งย่อมปลอดภัยกว่าที่นั่งชิงช้าที่ทำด้วยโลหะหรือไม้แข็ง ที่เสี่ยงต่อการโดนกระแทกหากมีเด็กวิ่งตัดหน้าตัดหลัง หรือพลัดตกลงมาได้ ส่วนในบ้านก็มีที่สูงที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรประมาทเหมือนกัน เพราะสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตของลูกได้

imagesจัดบ้าน...ให้ปลอดภัย

          พื้นบ้านต้องไม่ลื่นเสี่ยงกับการหกล้ม เครื่องใช้ในบ้านควรมีความมั่นคงแน่นหนาเมื่อเด็ก ๆ ปีนป่ายจะได้ไม่ล้มง่ายและไม่เกิดอันตราย

          ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ห่างจากสายตา โดยเฉพาะในจุดที่เสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ห้องน้ำ บันได ห้องครัว ต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด

          ติดตั้งหรือหาอุปกรณ์ป้องกันในบริเวณที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น บันได มุมโต๊ะ ปลั๊กไฟ ประตู หน้าต่าง ฯลฯ

          หิ้งวางของที่แขวนตามข้างฝา ควรติดตั้งให้มั่นคง ไม่ควรใส่ของมากจนรับน้ำหนักไม่ไหว และบอกให้ลูกรู้ว่าหิ้งไม่ใช่ที่ปีนป่ายเล่นสำหรับเด็ก ๆ

          ให้ติดประตูกั้นตรงบริเวณทางลงบันได และลงกลอนให้แน่นหนาทุกครั้ง เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกลงมา

          อย่าปล่อยให้ลูกเล็กขึ้นลงบันไดตามลำพัง ถึงแม้ว่าจะเริ่มขึ้นบันไดเป็นบ้างแล้วก็ตาม

          ติดยางที่ขอบบันไดเพื่อกันลื่นและปิดเหลี่ยมคม ๆ ของบันได

ไฟฟ้าดูด

          เรื่องฟืนไฟเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรระวังอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแค่เด็กวัยซนเท่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราก็ตกเป็นเหยื่อของไฟฟ้าดูดมามากมาย ซึ่งเราต้องหาทางป้องกันให้ดีที่สุด

          ถ้าปลั๊กไฟอยู่ต่ำใกล้มือเด็ก ควรใส่ที่ครอบปลั๊กไฟไว้ เพื่อป้องกันเด็กถูกไฟดูดจากการเล่นปลั๊กไฟ

          บริเวณใดในบ้านที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้า หรือนาน ๆ ถึงจะใช้ที ก็ควรสับสะพานไฟลงเสีย

          ย้ำเตือนถึงอันตรายของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม เครื่องดูดฝุ่น เตาร้อนต่าง ๆ ฯลฯ ให้ลูกจดจำและระวังตัวอยู่เสมอ

          หลังใช้งานควรเก็บให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยสายไฟยาวเกะกะ เพราะสายไฟอาจจะทำให้สะดุดหกล้ม หรือพันคอเด็กจนหายใจไม่ออกได้

          หากในบ้านมีเด็กเล็ก ที่เสียบปลั๊กไฟควรสวมที่ครอบหรือติดเทปหนาที่ใช้สำหรับติดสายไฟ ซึ่งดึงออกยาก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอานิ้วหรือวัสดุต่าง ๆ แหย่เข้าไปในรูปลั๊ก

          สายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ไม่ควรวางไว้ที่พื้นหรือแขวนไว้ในระดับที่เด็กอาจเอื้อมหยิบได้ หรือนำสายไฟมาเคี้ยวเล่นจนได้รับอันตรายถึงชีวิตหากไฟดูด หรือปากไหม้ได้รับบาดเจ็บ

          ต้องสอนลูกอยู่เสมอว่าห้ามแตะต้องอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อตัวหรือมือเปียก เพราะไฟจะดูดเอาได้

          เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อใช้เสร็จแล้ว ให้ดึงปลั๊กออก เพราะการเสียบปลั๊กค้างไว้ นอกจากจะทำให้เปลืองไฟแล้ว ยังทำให้เครื่องสึกหรอเร็วขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้เมื่อลูกไปจับต้อง

การป้องกันและการปฐมพยาบาลเมื่อเด็กถูกไฟดูด

          หาทางตัดกระแสไฟฟ้า เช่น สับสะพานไฟลงทั้งหมด หรือรีบดึงปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นออก ก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือ และสัมผัสร่างกายลูก มิฉะนั้นเราอาจจะเป็นอันตรายจากกระแสไฟฟ้าไปด้วย

          หากหาทางตัดแหล่งกระแสไฟไม่ได้ ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ท่อนไม้แห้ง ผ้าแห้ง ถุงมือยางหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ม้วนเป็นแท่ง ดึงหรือเกี่ยวสายไฟออกจากตัวลูก

          หากจำเป็นต้องดึงลูกให้พ้นจากการถูกไฟดูด ให้คนช่วยยืนบนฉนวนไฟฟ้า เช่น ผ้าห่ม กล่องไม้ กระดาษหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ จากนั้นใช้วัสดุที่ไม่เป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้กวาด ผ้าแห้ง ถุงกระดาษ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ห่อมือ แล้วดึงลูกให้พ้นจากการถูกไฟดูด

          เมื่อตัดกระแสไฟฟ้าออกจากตัวลูกแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่สำรวจร่างกายลูกว่ามีร่องรอยแผลไหม้หรือไม่ ถ้าพบว่ามีแผลไหม้ที่แขนหรือขาข้างหนึ่ง ต้องตรวจดูแขนหรือขาอีกข้างด้วย

          ทำให้แผลไหม้นั้นเย็นลงโดยเร็ว โดยอาจเอาแผลไปรองอยู่ใต้ก๊อกน้ำนาน 10-15 นาที ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ แล้วนำลูกส่งโรงพยาบาล

          แผลไหม้จากที่เกิดจากไฟฟ้าดูดจะดูเป็นรอยไหม้เล็ก ๆ แต่แผลไหม้มักจะลึกกว่าแผลไฟไหม้ธรรมดา นอกจากนี้รอยไหม้ยังไม่ได้เกิดเฉพาะตำแหน่งที่กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่ตำแหน่งที่แล่นออกจากร่างกายด้วย แผลไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าดูดนี้เสี่ยงกับการติดเชื้อมาก ดังนั้นแม้จะเป็นแผลขนาดเล็กก็ควรพาลูกไปพบแพทย์

          หากหมดสติแต่ยังหายใจอยู่ ให้จับลูกนอนในท่าพักฟื้น เพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวก ลิ้นของลูกไม่ตกลงไปปิดทางเดินหายใจ และป้องกันลูกสำลักของเหลวหรืออาเจียน โดยจะช่วยให้ของเหลวหรืออาเจียนไหลออกจากปากได้สะดวก และทำการปฐมพยาบาลบาดแผลที่ถูกไฟดูดหรืออาการบาดเจ็บอื่น ๆ

รถเข็นเด็ก

อุบัติเหตุจากรถเข็นเด็ก

          รถเข็นเด็กถือเป็นหนึ่งในผู้ช่วยของคุณแม่ไปแล้ว แต่การจะใช้งานรถเข็นนั้น มีข้อควรระวังและรูปแบบการใช้งานเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ควรเรียนรู้อุปกรณ์ของรถเข็นให้ครบทุกจุด สายรัดอยู่ตรงส่วนใดบ้าง ล็อกล้อรถเข็นแบบใด และที่สำคัญคุณแม่ควรใช้งานให้คล่องแคล่วในบ้านก่อนจะพาเจ้าตัวเล็กออกนอกบ้าน และเมื่อลูกนั่งควรรัดให้ครบทุกสาย อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาถึงแม้จะเป็นการนั่งเพียงช่วงทางเดินสั้นเดินไปที่รถก็ไม่ควรประมาท

          อย่างไรก็ตามรถเข็นลูกไม่ใช่รถเข็นของ จึงไม่ควรวางของหนักเกินไป แต่หากกรณีจำเป็นมีเทคนิคการวางของคือให้วางของในตำแหน่งด้านหลังล่างของรถเข็น อาจจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของล้อหลัง หรือพอดีกับล้อหลัง แต่ไม่ควรแขวนที่ด้ามของรถเข็น เพื่อป้องกันไม่ให้รถเข็นเสียสมดุลจนอาจจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

          คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำรถเข็นที่มีเด็กนั่งในรถลงบันไดเลื่อน ยอมช้าและอดทนรอลิฟต์เพื่อความปลอดภัยของลูกจะดีกว่า แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรอุ้มลูกไว้แทนที่จะให้นั่งบนรถเข็น พยายามจับล็อกล้อรถเข็นให้ตรงกับบันไดเลื่อน เพื่อป้องกันรถเข็นหล่นร่วงกรณีที่บันไดเลื่อนสะดุดหรือหยุดกะทันหัน จนเป็นเหตุให้กลิ้งตกลงมาทั้งหมดได้






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุบัติเหตุที่พบบ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2556 เวลา 10:37:35 11,568 อ่าน
TOP