x close

คุณแม่ช่างคุย...ช่วยลูกน้อยฉลาดสมวัย

วิธีเลี้ยงลูก

           วิธีเลี้ยงลูกให้เก่งและฉลาดสมวัยคุณพ่อคุณแม่ช่วยได้ค่ะ เพราะการพูดคุยส่งเสียงจะทำให้ลูกน้อยรับรู้และสื่อถึงอารมณ์ได้เป็นอย่างดีค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเคล็ดลับดี ๆ จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ กับเทคนิคการสร้างพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยมาฝากกันค่ะ

           เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เล่นกับลูก พูดคุย และฟังเสียงอ้อแอ้ของเจ้าตัวเล็ก ไปจนถึงการกอดหนูน้อยไว้แนบอก คือวิธีที่ดีในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกรัก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองให้กับลูกได้อีกด้วย

           การพูดคุยเล่นกับลูก ถือเป็นธรรมชาติในคุณแม่แทบทุกคน เมื่อได้มองตาใสแป๋วคู่นั้น คุณแม่ทั้งหลายคงอดไม่ได้ที่จะส่งเสียงทักทายหนูน้อย ยิ่งหากเป็นการพูดช้า ๆ ชัด ๆ ด้วยโทนเสียงที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย ก็จะยิ่งเรียกความสนใจจากเจ้าตัวเล็กได้เป็นอย่างดี ลูกน้อยจะยิ่งสนใจเป็นพิเศษ หากคุณแม่ทำสีหน้าท่าทาง แสดงอารมณ์ออกทางแววตา ประกอบการพูดไปด้วย ซึ่งสิ่งง่าย ๆ เหล่านี้เองที่เป็นวิธีการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองที่คุณแม่เล่นกับลูกได้ทุกวัน

พูดคุย พัฒนาสมองลูกได้อย่างไร

           การพัฒนาสมองของเจ้าตัวน้อยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมองมีการเชื่อมโยงใยประสาท หรือ Neural Pathways ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกใยประสาทเหล่านั้นจะเกิดการเชื่อมโยงกัน และกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเจ้าตัวน้อยในอนาคต ยิ่งคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีการสร้าง Neural Pathways เพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าตัวน้อยพร้อมที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมนั่นเอง

สร้างบทสนทนา แม้ว่ายังฟังไม่เข้าใจ

           ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะยังพูดไม่เป็นภาษา ได้แต่ส่งเสียงอ้อแอ้ไปวัน ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีบทสนทนากับลูกค่ะ ไม่ใช่เป็นผู้พูดให้ลูกฟังเพียงฝ่ายเดียว แต่คุณควรหยุดระหว่างประโยค แล้วรอดูว่าหนูน้อยจะส่งเสียงอ้อแอ้ตอบมาว่าอย่างไร คล้าย ๆ ว่าคุณกำลังสนทนากับลูกนั่นเอง คุณอาจพบว่าเจ้าตัวน้อยพยายามจะพูดตามคำที่คุณเพิ่งพูดไป เช่น หม่ำ ๆ แม่ ๆ ฯลฯ วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาให้กับลูก และยังเป็นการฝึกทักษะทางสังคม ให้ลูกเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟัง และผู้พูดในบทสนทนาอีกด้วย

เทคนิคสร้างสมองลูก ด้วยการพูดคุย

           สบตาเจ้าตัวน้อย ขณะพูดสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ คุณต้องสบตาเจ้าตัวน้อยไปด้วย เพราะจะช่วยทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่ออยู่กับคุณได้นานขึ้น เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ แม้ว่าลูกอาจจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงชื่อเข้ากับตัวเองได้ จนอายุเกือบ 1 ขวบ แต่กระนั้นการได้ยินชื่อตัวเองบ่อย ๆ หนูน้อยจะเรียนรู้ว่าคำคำนี้ มีความหมายพิเศษเฉพาะเจาะจงถึงเขาเท่านั้น

           อ่อนหวาน และกระชับ ใช้ประโยคสั้น ๆ ที่มีคำไม่เกิน 5-6 คำ หรือเลือกใช้คำไม่เกิน 2 พยางค์ แต่พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน ช้า ๆ ชัด ๆ ซ้ำกัน หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งจะเรียกความสนใจจากเจ้าตัวน้อยได้ดีกว่าการพูดประโยคยาว ๆ

           ท่าทางประกอบ หากคุณทำได้ ควรแสดงท่าทางประกอบคำพูดเมื่อคุยกับเจ้าตัวน้อยด้วย เช่น "บ๊ายบายคุณพ่อสิคะ" พร้อมกับยกมือบ๊ายบาย หรือ "หม่ำ ๆ กันดีกว่า" พร้อมกับทำท่านำอาหารใส่ปาก เพราะเด็กเล็กมักจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น เมื่อมีการเชื่อมโยงคำพูดกับภาพที่เห็น

           พูดบรรยาย ขณะที่คุณอาบน้ำให้ลูก คุณอาจพูดบรรยายไปด้วยว่าคุณกำลังทำอะไร เช่น "มาถูสบู่กันดีกว่า ถูแขน และมือของลูก แล้วก็ถูขาสองข้าง" อาจจะฟังดูแปลก ๆ ที่จะต้องบรรยายทุกอย่างที่ทำ แต่อย่าลืมว่าทุกคำที่คุณแปล่งออกมาช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกได้

           ร้องเพลง เด็ก ๆ ชอบฟังเพลงที่คุ้นเคย ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากลูกจะดีอกดีใจทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงโปรดซ้ำ ๆ ยิ่งหากคุณร้องเพลงให้ลูกฟังด้วยแล้วเบบี้จะดีใจสุด ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.23 Issue 268 พฤศจิกายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณแม่ช่างคุย...ช่วยลูกน้อยฉลาดสมวัย อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2559 เวลา 16:23:54 8,448 อ่าน
TOP