x close

อุ้งเท้าลูก ดูแลอย่างไรดี

อุ้งเท้า

           อุ้งเท้าเด็กอยู่ตรงไหน แล้วดูอย่างไรว่าอุ้งเท้าลูกผิดปกติ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้ในการสังเกตลักษณะอุ้งเท้าที่มีความผิดปกติ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อุ้งเท้าแบนประเภทที่ยืดหยุ่นได้ และอุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึง แล้วจะเสริมสร้างอุ้งเท้าลูกน้อยอย่างไรให้แข็งแรงไปดูเกร็ดน่ารู้จากนิตยสาร modernmom กันเลยค่ะ ^^

         "ลูกเธอมีอุ้งเท้านะ ต้องรีบทำอะไรสักอย่างแล้ว" คำพูดประโยคนี้น่าจะเป็นคำแนะนำที่คุ้นหูสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายท่านใช่ไหมครับ เราจะมาคุยกันว่า ภาวะนี้เป็นอย่างไร ทำไมเป็นปัญหา แล้วจะจัดการอย่างไร

รู้จักอุ้งเท้ากันก่อน

         หลายคนคงสงสัยว่า "อุ้งเท้า" อยู่ตรงไหน จะได้ดูว่าลูกเรามีหรือไม่มีอุ้งเท้า อุ้งเท้าคือส่วนโค้งทางด้านล่างของฝ่าเท้า อันเกิดจากรูปร่างของกระดูกเท้าที่มาประกอบกัน เอ็นที่มายึดกระดูกเหล่านี้เข้าด้วยกัน และกล้ามเนื้อเท้าที่มาดึงให้เกิดอุ้งเท้า ในทางการแพทย์เท้าหนึ่ง ๆ จะมีส่วนโค้งหรืออุ้งเท้าที่ว่าถึง 3 โค้ง แต่ที่เห็นได้ง่ายสุดก็คือบริเวณขอบใต้ฝ่าเท้าด้านใน เนื่องจากมีความโค้งที่สูงขึ้นมามากกว่าส่วนโค้งอื่น ทำให้เห็นรอยเท้าแหว่งไปบริเวณขอบด้านใน เวลาที่เราเท้าเปียกแล้วเดินไปบนพื้นนั่นเอง

         ในเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะเด็กอ้วนจะมองเห็นอุ้งเท้าไม่ชัด เนื่องจากมีไขมันใต้ผิวฝ่าเท้ามาก นอกจากนี้กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง จึงยังไม่สามารถดึงให้เท้าโค้งขึ้นได้มาก และเอ็นยึดกระดูกมีความยืดหยุ่นสูง เวลามีน้ำหนักกดลงก็จะยืดออกได้มาก

         เมื่อเด็กโตขึ้น ไขมันใต้ผิวหนังลดลงก็จะเริ่มเห็นอุ้งเท้ามากขึ้น เมื่อเดินได้ กล้ามเนื้อเท้าได้รับการบริหารให้มีแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรก กล้ามเนื้อเท้าที่มีแรงขึ้นนี้ก็จะมีกำลังดึงกระดูกเท้าให้มีส่วนโค้งชัดขึ้น จนอายุ 10 ปีเอ็นจะลดความยืดหยุ่นลง เท้าแข็งแรงมากขึ้นเวลาเหยียบเท้าลงบนพื้น เท้าก็ไม่แบนราบเหมือนเมื่อแรกเดินใหม่ ๆ โดยปกติรูปร่างของอุ้งเท้าจะเห็นได้ชัดเต็มที่เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น

         เท้าคนเราจะต้องมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักในเวลาที่เราเดิน วิ่ง หรือกระโดดได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อความนุ่มนวล อุ้งเท้าที่โค้งสูงขึ้นมาจะทำให้มีบริเวณช่องว่างไต้ฝ่าเท้าเพียงพอให้เท้ายืดหยุ่นออกไปได้ขณะยืนลงน้ำหนัก ความโค้งสูงของอุ้งเท้านี้จะไม่เท่ากันในคนแต่ละคน บางคนสูงมากบางคนสูงน้อย แถมบางคนอาจแบนลงจนมองไม่เห็นอุ้งเท้าเลย หรือที่เรียกว่า "อุ้งเท้าแบน" ก็มี ความโค้งมากน้อยนี้ขึ้นกับกรรมพันธุ์ อายุ ภาวะของร่างกาย และเกิดจากการป่วยของโรคเท้าบางประเภท ไม่แน่เสมอไปว่าอุ้งเท้าที่ต่ำมากหรือสูงมากจะทำให้เกิดการปวดเท้า เปรียบไปแล้วคล้ายเรื่องสีของผิวคนเรา ที่มีช่วงความแตกต่างของสีมากตั้งแต่ผิวขาวถึงผิวดำ แต่สีผิวไม่ได้บอกว่าเมื่อโตขึ้นจะเป็นสิวมากหรือน้อยต่างกันอย่างไร เคยมีการศึกษาในกลุ่มคนหนุ่มที่เป็นทหารเกณฑ์ พบว่าคนที่มีเท้าลักษณะเป็นอุ้งเท้าแบนราบสูงถึงร้อยละ 10 แต่ไม่พบว่าคนเหล่านั้นมีอาการปวดเท้ามากไปกว่าคนอื่นที่เหลือ และไม่พบข้อจำกัดของการใช้งานในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น อุ้งเท้าแบนจึงไม่เป็นข้อห้ามของการรับเข้าเป็นทหารในประเทศใด ๆ เลย

ลักษณะของอุ้งเท้าแบน

         เราอาจแบ่งลักษณะอุ้งเท้าแบนตามความยืดหยุ่นของเท้าได้เป็น 2 ประเภทคือ อุ้งเท้าแบนประเภทที่ยืดหยุ่นได้ และสองคืออุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึง

          อุ้งเท้าแบนประเภทที่ยืดหยุ่นได้ : ขณะเด็กนอนหรือนั่งจะเห็นมีอุ้งเท้า แต่เมื่อยืนลงน้ำหนักอุ้งเท้าจะแบนราบไปกับพื้นจนมองไม่เห็นอุ้งเท้า อุ้งเท้าแบนประเภทนี้เกิดจากความยืดหยุ่นมากของเอ็นเท้า พบเป็นเรื่องปกติในเด็ก ไม่ทำให้มีอาการอะไรและไม่ต้องการการรักษา

         อุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึง : มองไม่เห็นอุ้งเท้าทั้งขณะลงน้ำหนักและไม่ลงน้ำหนักไปที่เท้า และเท้าจะบิดเข้าออกไม่ได้เพราะข้อยึดแข็ง อุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึงมักเป็นอาการแสดงของโรคเท้าในเด็ก เช่น โรคกระดูกข้อเท้าชี้ลง, กระดูกเท้าแบ่งชิ้นไม่สมบูรณ์ เป็นต้น โรคเหล่านี้ ทำให้เท้าขาดความยืดหยุ่น มีส่วนของเท้าบางในบริเวณรับน้ำหนักกดมากกว่าส่วนอื่น ผิวใต้เท้าจะหนาขึ้นเป็นตาปลาขนาดใหญ่ และมีอาการปวดเท้าเวลาใช้งาน

         การทดสอบเท้าว่าเป็นอุ้งเท้าแบนประเภทยืดหยุ่นหรืออุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึงทำได้ไม่ยาก เพียงดูอุ้งเท้าขณะลงและไม่ลงน้ำหนักเปรียบเทียบกัน และทดลองจับเท้าบิดเข้าออกดูการเคลื่อนไหวของข้อในเท้า หากลักษณะอุ้งเท้าขยับไม่ได้และไม่เปลี่ยนรูปร่างก็น่าสงสัยว่าจะเป็นอุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึง ควรพาเด็กไปพบแพทย์

อุ้งเท้าแบนดูแลอย่างไร

         โรคที่ทำให้เกิดอุ้งเท้าแบนประเภทแข็งตึงและมีอาการปวดเท้า อาจรักษาโดยการใช้ยา ใส่เฝือก หรือผ่าตัดแล้วแต่ความรุนแรง การใส่รองเท้าเสริมอุ้งเท้าอาจเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แต่ไม่ทำให้เท้าหายแบนหรือหายจากโรค แถมการใส่รองเท้าดังกล่าวยังทำให้ผู้ป่วยบางคนเจ็บเท้าได้ ยังเป็นเรื่องโชคดีที่เท้าแบนที่เกิดจากการป่วยเป็นโรคในเด็กพบได้น้อยมาก ถึงจุดนี้หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นมาทันทีเลยว่า ถ้าอุ้งเท้าแบนที่เกิดจากโรคพบได้น้อย แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมคนจำนวนมากกังวลกับอุ้งเท้าแบน และพูดถึงการใส่รองเท้าเสริมราคาแพง ๆ ให้ฟังบ่อย ๆ และใครกันที่ได้ประโยชน์จากความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เหล่านั้น

         หลายคนคงเคยได้ยินอีกเช่นกันว่า "เด็กไม่มีอุ้งเท้าต้องใส่รองเท้าเสริมอุ้งเท้า" คำพูดประโยคนี้มีข้อแท้จริงอย่างไร เรามาลองพิจารณากันดู จากข้อมูลที่เกริ่นไว้แล้วข้างต้น อุ้งเท้าสูงหรือต่ำส่วนหนึ่งเป็นจากกรรมพันธุ์ที่ได้รับจากพ่อแม่ เหมือนที่เด็กมีหน้าตาคล้ายพ่อแม่ ถ้าอยากให้ลูกมีหน้าตาเหมือนดาราคงเป็นการยากที่จะให้ลูกใส่หน้ากากตามแม่พิมพ์หน้าดาราแล้วหน้าจะเปลี่ยนไปอย่างนั้น อุ้งเท้าจะพัฒนาตามอายุที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระดูกเท้า เพื่อให้เกิดอุ้งเท้าเป็นไปโดยธรรมชาติและยังไม่มีวิธีบังคับให้กระดูกเจริญเติบโตไปเป็นรูปร่างตามใจนึกได้ แต่การฝึกกล้ามเนื้อเท้าให้แข็งแรงเพื่อให้มีแรงดึงกระดูกให้เกิดความโค้งน่าจะอยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้บ้าง กล้ามเนื้อเท้าจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อได้รับการใช้งานเป็นประจำ กล้ามเนื้อเท้าส่วนต่าง ๆ จะถูกกระตุ้นให้ทำงานโดยทั่วกันเมื่อเดินเท้าเปล่า โดยเฉพาะการเดินแบนพื้นทราย หรือสนามหญ้า ซึ่งมีความไม่เรียบเล็กน้อย จะทำให้กล้ามเนื้อทุก ๆ ส่วนได้รับการกระตุ้นและแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกที่เท้ามีพัฒนาการมาก ควรส่งเสริมให้เด็กได้วิ่งเล่นเท้าเปล่าในสถานที่ที่สะอาดและปลอดภัย

         มีการศึกษาที่อินเดียพบว่า เด็กที่ใส่รองเท้าและมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อเท้าได้ดีกว่าใส่รองเท้าหุ้มส้น เชื่อว่าเป็นจากการที่เด็กต้องพยายามเกร็งนิ้วเท้าขณะเดินใส่รองเท้าแตะมากกว่าขณะใส่รองเท้าหุ้มส้น เนื่องจากการใส่รองเท้าแตะจะต้องคอยระวังไม่ให้รองเท้าหลุดออกจากเท้าขณะที่เดิน ดังนั้น การใส่รองเท้าที่มีตัวพยุงอุ้งเท้าจะเกิดประโยชน์หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเราว่าเราจะฝึกกล้ามเนื้อของเด็กให้แข็งแรงโดยใช้วิธีการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อออกแรงทำงาน หรือใช้วิธีให้รองเท้าช่วยพยุงอุ้งเท้าไว้เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พัก

         ขอย้ำอีกครั้งว่า อุ้งเท้าเด็กจะค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้นตามการเติบโตรูปร่างของเท้าที่ไม่สัมพันธ์กับอาการเจ็บเท้าในเด็ก การให้เด็กฝึกกล้ามเนื้อเท้าบ่อย ๆ โดยการวิ่งเล่นเท้าเปล่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาของเท้ามาก เท้าที่มีลักษณะแข็งตึง มีอาการปวดและมีผิวหนาขึ้นแบบตาปลา บ่งบอกว่าอาจมีโรคของเท้าซ่อนเร้นอยู่ควรพาเด็กไปพบแพทย์ครับ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.235 พฤษภาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุ้งเท้าลูก ดูแลอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2558 เวลา 11:58:25 3,475 อ่าน
TOP