x close

5 สัญญาณสุขภาพลูก ที่ไม่ควรมองข้าม

สุขภาพเด็ก

           เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเด็กเล็กจึงมีความเสี่ยงสูงมากที่สุด วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้การดูแลสุขภาพลูกน้อยและเฝ้าระวังให้ลูกน้อยห่างไกลโรค มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ พร้อมแล้วมาเตรียมตัวรับมือกับ 5 สัญญาณอันตราย จากนิตยสารรักลูก กันเลยดีกว่าค่ะ ...

           5 สัญญาณอันตรายต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปโรงพยาบาลทันทีเลยนะคะ

สัญญาณ 1 ไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส

           ถ้าลูกน้อยมีไข้ต่ำ ๆ หน้าแดง แต่วัดอุณหภูมิได้ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ให้เช็ดตัว กินยาแก้ไข้ และให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ ทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง

           ถ้าหากวัดอุณหภูมิแล้วไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสข้ามวันกินอาหารไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาล โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีไข้สูงมาก ต้องรีบส่งโรงพยาบาลภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าปล่อยไว้นาน อาจชัก และเกิดภาวะขาดน้ำ สมดุลเกลือแร่ผิดปกติ ซึ่งอาการไข้ขึ้น มักเป็นอาการนำของโรคต่าง ๆ ได้ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก

สัญญาณ 2 หายใจผิดปกติ

           ไอมากต่อเนื่อง เวลาไอแล้วเสียงไอบ่งชี้ว่ามีเสมหะเยอะหายใจหอบ หายใจไม่เป็นจังหวะ หายใจเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม หัวใจเต้นเร็ว ตัวเขียว และซึม นี่คือสัญญาณของ "ภาวะหายใจล้มเหลว" ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวม

สัญญาณ 3 อาเจียนรุนแรง

           ถ้าลูกน้อยอาเจียนมากและบ่อยขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาวะขาดน้ำ ส่งผลทำให้ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ เป็นอันตรายมาก ที่สำคัญควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้นสูง ปวดหัวมาก ชัก อาจเป็นอาการของโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ติดเชื้อในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

สัญญาณ 4 ปวดรุนแรง

           ปวดท้อง : ในทารกจะร้องกวนมากขึ้น ต่อเนื่องและนานขึ้น ส่วนเด็กโตจะนอนตัวงอ กำมือแน่น เท้าจิก ไม่กินอาหาร ไม่กินนม ระบบขับถ่ายผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องนานประมาณ 3-4 ชั่วโมง และมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของไข้หวัดลงกระเพาะ โรคลำไส้อักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบได้

           ปวดหัว : ลูกเล็กปวดหัว ให้กินยาแก้ปวดแล้วนอนพักผ่อนมาก ๆ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ร้องกวนมากขึ้น ซึมลง ไม่แจ่มใส กินอาหารไม่ได้ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สับสน มองไม่ชัด เดินผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท หรือหากมีไข้สูงในตอนกลางคืน อาเจียน คอแข็ง ร่วมกับปวดหัวมาก ๆ ลูกอาจติดเชื้อรุนแรง เช่น อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

สัญญาณ 5 เกิดผื่นลมพิษ

           ผื่นทั่วไปมักขึ้นที่แขน หรือเท้าของลูก แต่ถ้ามีผื่นสีแดงเป็นปื้นหนา ๆ ขึ้นทั่วตัว นานเกิน 1-2 วัน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ บวมที่ริมฝีปาก ใบหน้า หายใจไม่ออก อาเจียนอย่างหนัก อาจเกิดอาการแพ้รุนแรง หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

           สัญญาณทั้ง 5 เป็นภาวะฉุกเฉินที่คุณพ่อคุณแม่ต้องประเมิน และเฝ้าสังเกตอาการทุกอย่างที่เกิดขึ้นของลูก เพื่อดูแลเบื้องต้นตามอาการที่เกิดขึ้นก่อนรีบพาไปโรงพยาบาลค่ะ

การดูแลลูกเบื้องต้นก่อนส่งโรงพยาบาล

         ไข้ขึ้นสูง เช็ดตัวบ่อย ๆ ด้วยน้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่น อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี และระวังอาการชัก

         ไอหนัก ให้จิบน้ำอุ่นทีละน้อย และหมั่นสังเกตอาการหายใจของเด็ก

         อาเจียน ใช้ช้อนหรือ syringe ค่อย ๆ ป้อนเกลือแร่ หรือให้เด็กจิบน้ำทีละน้อยไปเรื่อย ๆ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 386 มีนาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 สัญญาณสุขภาพลูก ที่ไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2558 เวลา 17:11:19 26,956 อ่าน
TOP