x close

แก้ปัญหา ลูกนอนกัดฟัน

ลูกนอนกัดฟัน
ลูกนอนกัดฟัน เป็นปัญหาสุขภาพ มาแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีกันดีกว่า

แก้ปัญหา "ลูกนอนกัดฟัน" (M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : ผศ.ดร.ทพญ.เปรมทิพย์ ชลิดา

          คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะต้องสะดุ้งตื่นมากลางดึก เพราะได้ยินเสียงกัดฟันกรอด ๆ ของลูกน้อยที่นอนหลับสนิท จนทำให้ต้องคอยสังเกตลักษณะในการนอนของลูกรัก หลังจากที่ได้ยินเสียงฟันถูไปถูมา โดยที่ลูกมักจะไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นโรคนอนกัดฟัน ซึ่งนี่อาจเป็นบ่อเกิดสำคัญของปัญหาสุขภาพฟันของลูก ที่จะกลายเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต

พฤติกรรมการนอนกัดฟัน

          การนอนกัดฟันจะพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถหาคำอธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการนอนกัดฟันได้ แต่กลับพบปัจจัยเสี่ยงของเด็กที่ชอบนอนกัดฟัน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

         1. สภาพจิตใจ ที่เกิดจากการความตึงเครียด ความวิตกกังวล ก็มีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้

         2. สังเกตทางพันธุกรรม ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่นอนกัดฟัน มีเด็กมีพี่หรือน้องนอนกัดฟัน ลูกจึงมีโอกาสสูงที่จะนอนกัดฟันได้เหมือนกัน

         3. เกิดจากร่างกายของตัวเด็กเอง ที่สมองและระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นมากเกิน ทำให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้นได้

         4. ยาบางชนิด เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัว อาจกระตุ้นการนอนกัดฟัน แต่มักเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟันมากกว่าในเด็ก

          อย่างไรก็ดี เด็กที่ชอบนอนกัดฟันอาจพบร่วมกับโรคและพฤติกรรมที่ผิดปกติในขณะนอนหลับอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น นอนละเมอพูดหรือละเมอเดินปัสสาวะรดที่นอน นอนกรน และโรคทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้หยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะหลับ และโรคสมาธิสั้น ซึ่งสามารถเกิดอาการควบคู่กับการนอนกัดฟันในตัวเด็กได้ ผู้ปกครองควรสังเกตด้วยว่าเด็กมีโรคอื่น ๆ เกิดร่วมหรือไม่ และควรนำลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคนั้น ๆ ด้วย

สังเกตลูกนอนกัดฟัน

          เด็กที่นอนกัดฟันบางคนอาจบ่นว่าปวดตรงข้อต่อขากรรไกร ร้าวไปที่ในหู หรือปวด ๆ เมื่อย ๆ เวลาอ้าปาก เคี้ยวอาหาร บริเวณแก้มหรือขมับ เพราะกล้ามเนื้อบดเคี้ยวเมื่อยล้าจากพฤติกรรมนอนกัดฟัน หรือบ่นปวดศีรษะบ่อย ๆ อาการนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าลูกนอนกัดฟัน เด็กที่นอนกัดฟันจนเสียงดังมาก ก็อาจจะทำให้ฟันของลูกเริ่มมีขนาดสั้นลง ก่อให้เกิดอันตรายถึงโครงสร้างของฟันได้ จนสามารถไปทะลุถึงโพรงประสาทฟันเลยก็ได้

          ทั้งนี้โครงสร้างของฟันภายนอกจะประกอบไปด้วย เคลือบฟัน เนื้อฟัน และเส้นประสาทที่อยู่ตรงกลาง เมื่อได้รับการสึกกร่อนากเกิน ผลที่จะได้รับก็คือ เกิดอาการเสียวฟัน ฟันบิ่นแตก และฟันร้าว หรือกัดลิ้น กัดแก้ม เกิดเป็นแผลในปากบ่อย ๆ เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันฟันสึกและลดอาการปวดเมื่อยขากรรไกรและปวดศีรษะ อาจจะจำเป็นต้องใส่เฝือกสบพันในขณะนอน ทั้งยังลดเสียงกัดฟันได้ด้วย

นอนถูกสุขลักษณะป้องกันได้

          วิธีการนอนที่ถูกสุขลักษณะสำหรับบ้านที่มีลูกชอบนอนกัดฟันไว้ คือ

        ลักษณะห้องที่นอนต้องเหมาะสม เงียบ สงบ แสงไม่จ้า เพื่อให้ลูกนอนหลับได้ดี

        ไม่ควรกินอาหารมื้อหนัก ก่อนจะนอนภายใน 3 ชั่วโมง แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นดื่มนมอุ่น ๆ แทน เพื่อให้นอนหลับสบายมากขึ้น

        ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กจะชอบวิ่งเล่นก่อนเข้านอน อาจทำให้เด็กนอนไม่หลับได้

        เมื่อถึงเวลานอนก็ควรให้เด็กได้เข้านอนเป็นเวลา ไม่ควรให้มาดูหนัง ดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สิ่งพวกนี้มันยังทำให้เขายังมีความตื่นเต้นอยู่ได้


 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 511 กันยายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แก้ปัญหา ลูกนอนกัดฟัน อัปเดตล่าสุด 13 ตุลาคม 2557 เวลา 15:49:30 27,424 อ่าน
TOP