x close

วิจัยพบลูกน้อยมีแนวโน้มฟันผุง่าย เมื่อถูกเลี้ยงด้วยนมแม่

นมแม่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           นมแม่นับเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ไม่ว่าจะองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือกุมารแพทย์ทั่วโลก ต่างแนะนำให้คุณแม่ใช้นมจากเต้าเลี้ยงดูลูกน้อยไปอย่างต่ำจนถึงอายุ 6 เดือน และหากให้ลูกกินนมแม่ต่อไปจนถึงวัย 2 ขวบหรือหลังจากนั้นอีกได้ก็ยิ่งดี แต่ผลการศึกษาชิ้นใหม่ ที่ได้รับการเผยแพร่ในบันทึกประจำปีด้านระบาดวิทยา (Annals of Epidemiology) อาจทำให้คุณแม่ชักลังเลกับการเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง เมื่อพบว่า เด็กที่กินนมแม่มีโอกาสฟันผุง่ายกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่เสียอีก !


          เบนจามิน แชฟฟี ผู้เชี่ยวชาญจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แคลิฟอร์เนีย เบอร์เคลีย์ ได้ศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการให้นมแม่กับฟันผุในเด็ก โดยติดตามเก็บผลตรวจฟันในเด็กเล็กชาวบราซิล จากเมืองปอร์โต อะเลเกร จำนวน 458 ราย สำรวจสภาพฟันเมื่อเด็กอายุ 6, 12 และ 38 เดือน และให้มารดาของเด็กให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ลูกรับประทานด้วย โดยจำแนกออกเป็น 29 ชนิด เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว เนื้อสัตว์ ช็อกโกแลต คุกกี้ น้ำผึ้ง น้ำอัดลม ขนมปังกรอบ เป็นต้น

          จากการศึกษาพบว่า เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ได้กินนมชงสำหรับเด็กก่อนอายุ 6 เดือน และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงถูกเลี้ยงด้วยนมแม่เมื่ออายุมากกว่า 1 ขวบ โดยนักวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่ดื่มนมแม่นั้นช่วงอายุ 6-24 เดือน ประสบปัญหาฟันผุ 40% และเพิ่มเป็น 48% ในกลุ่มที่ยังดื่มนมแม่หลังอายุ 2 ขวบขึ้นไป

          อย่างไรก็ดี ดอกเตอร์แชฟฟีไม่ได้สรุปว่าการดื่มนมแม่เป็นสาเหตุของฟันผุ เพราะอาหารอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ กินเข้าไปย่อมมีส่วนทำให้ฟันผุได้เช่นกัน แต่ก็ได้ให้ข้อสังเกตที่อาจเป็นไปได้ไว้ 2 ประการว่า น้ำนมแม่อาจมีสารบางตัวที่ทำให้เกิดการสึกกร่อนของฟัน แต่มีอยู่ในปริมาณน้อยมาก และท่าทางการดูดนมของเด็ก ไม่ว่าจะดูดนมแม่จากเต้าหรือดูดจากขวดนม เป็นท่าที่ทำให้น้ำลายภายในปากไม่สามารถเข้าถึงฟันของเด็กได้ ซึ่งน้ำลายมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปากซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของฟันผุ เมื่อน้ำลายไม่สามารถเข้าถึงฟัน ฟันจึงผุได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

          แต่ถึงจะพบว่าฟันของเด็ก ๆ อาจผุได้ด้วยการดื่มนมแม่ วิธีแก้ปัญหาก็ช่างง่ายดาย นั่นคือการทำความสะอาดช่องปากของลูกน้อยด้วยการใช้ผ้าเนื้อนิ่มชุบน้ำหมาด ๆ เข้าไปกวาดทำความสะอาดภายในปาก ทั้งที่เหงือก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม เท่านี้ก็ช่วยให้ปากสะอาดป้องกันฟันผุได้ และเมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มมีฟันน้อย ๆ ขึ้นมาเยอะแล้ว ก็สอนให้แปรงฟันด้วยแปรงหัวเล็กขนนิ่ม ๆ เป็นการปลูกฝังให้เขาดูแลสุขภาพช่องปาก และฟันของตัวเองอย่างถูกวิธีนั่นเองค่ะ




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยพบลูกน้อยมีแนวโน้มฟันผุง่าย เมื่อถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2558 เวลา 16:04:47 2,567 อ่าน
TOP