x close

เคล็ดลับแม่มือใหม่ หัวใจไม่อ่อนแอ

คุณแม่มือใหม่

เคล็ดลับ...แม่มือใหม่หัวใจไม่อ่อนแอ
(modernmom)
เรื่อง : กิ่งกาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์ ภาพ : หวาย

          ร่างกายที่เปลี่ยนแปลง นำพาหัวใจของคุณแม่ให้อ่อนแอได้ แต่อย่าปล่อยให้ภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหวมาทำลายเรื่องดี ๆ และความสุขของการเป็นแม่ของลูกไปอย่างน่าเสียดาย

          ภาวะความเครียด วิตกกังวลในหญิงตั้งครรภ์นั้น เป็นที่รู้กันดีว่าแทบไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้พ้น บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนเป็นเรื้อรังยาวนาน บางคนก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ ซึ่งในทางการแพทย์นั้นอธิบายว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รวมไปถึงความพร้อมที่แตกต่างกันของคุณแม่แต่ละคน เช่น เหตุผลด้านความเป็นอยู่ ฐานะ การเงิน เป็นต้น

          เมื่อเครียดมากผลกระทบก็ย่อมมาก และหากทิ้งไว้นานเข้าคุณจะกลายเป็นคุณแม่ที่จิตใจอ่อนแอ เปราะบางได้ง่ายมาก

          เมื่อถึงจุดนั้นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที อะไรที่กระตุกต่อมความน้อยใจ โศกเศร้า คุณก็แทบจะยั้งไม่ไหว รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่นั่งจมอยู่กับน้ำหูน้ำตาร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คาดไม่ถึงทีเดียวค่ะ

          ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้นี้ สิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรไม่ได้ภาวะความอ่อนแอนั้นกลืนกินตัวเราจนเสียสมดุลในตัวเอง ฟังดูเหมือนไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปหรอกค่ะ

          ก่อนอื่นเราอยากให้เริ่มต้นที่การบอกตัวเองว่า "ฉันกำลังจะเป็นแม่ และแน่นอน ฉันต้องเป็นแม่ที่เข้มแข็ง มีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลูกจะได้แข็งแรงและอารมณ์ดี" จากนั้นหาเวลาว่าง ๆ สักวันพิจารณาตัวเองและลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

1. ฟังเสียงหัวใจตัวเอง

          สำคัญมากที่คุณจำเป็นต้องรู้ว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไรกับตัวเองบ้าง คุณรักตัวเองที่กำลังจะมีลูกหรือไม่ คุณกำลังเกลียดตัวเองหรือเปล่า ไม่ว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้จะเป็นไปตามแผนหรือเกิดจากความผิดพลาด คุณคิดว่าจะรักเด็กน้อยที่เกิดมาได้มากน้อยแค่ไหน มันสำคัญที่คุณจะได้เข้าใจภาวะจิตใจที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อได้อย่างถูกต้องโดยไม่หลอกตัวเอง
2. ไม่ว่าจะอย่างไร อย่ารู้สึก "แย่" กับตัวเอง

          เป็นเรื่องจริงที่คุณไม่ควรรู้สึกแย่กับตัวเอง แน่นอนว่าหากคุณฟังเสียงตัวเองแล้วพบว่าคุณมีเรื่องให้คิดและเครียดมากมาย สิ่งที่คุณต้องทำต่อจากนี้คือการนำตัวเองให้พ้นจากสภาวะความเครียดด้วยการคิดในเชิงสร้างสรรค์ เชื่อเถอะค่ะว่าการรู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่ได้ช่วยอะไรเลย จำไว้เสมอว่า "การเป็นแม่" นั้นคือเรื่องดี ๆ ในชีวิต และหากผ่านช่วงนี้ไปได้ คุณจะมองเห็นสิ่งดี ๆ อีกมากมายที่จะตามมา

3. อย่าเปิดช่องว่างให้ "ความอ่อนแอ"

          ภาวะอ่อนไหวเปราะบางนั้นไม่มีใครโทษใครได้ แต่คุณคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "อ่อนไหว แต่ไม่อ่อนแอ" ใช่ไหมคะ ประโยคนี้ยังใช้ได้เสมอ ต้องแยกให้ออกระหว่างการรู้สึกรู้สากับอะไรได้ง่าย (ตามประสาคนท้อง) กับความอ่อนแอ นั่นถือเป็นคนละเรื่องกัน ความอ่อนไหวจะทำให้คุณใส่ใจกับทุกอย่าง มีอารมณ์ร่วมได้ง่ายกับสิ่งที่มากระทบ แต่ความอ่อนแอคือการยอมแพ้ ท้อถอย โทษตัวเอง และปล่อยให้ตัวเองก้าวสู่ภาวะซึมเศร้า เมื่อไรที่พบว่ากำลังจะอ่อนแอ ขอให้หาอะไรทำทันที เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์นั้นให้ได้

4. เบียดมันให้ตกขอบ

          "มัน" ในที่นี้คือ ความอ่อนแอ ท้อถอย การยอมแพ้ในปัญหาที่คุณกำลังเจอนั่นแหละค่ะ หากพบว่าสุขภาพไม่ดีนักก็ปรึกษาหมอ ไม่ใช่คิดและจินตนาการไปเอง หากกังวลกับค่าใช้จ่าย ควรมองหาวิธีเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายไม่จำเป็น ปรึกษาคนใกล้ชิดถึงแผนการออม ไม่ใช่นั่งท้อถอยเฉย ๆ แล้วคิดว่าจะมีใครแก้ปัญหาให้ หรือหากคุณน้อยอกน้อยใจในตัวสามี ทางที่ดีคือเปิดอกคุยกัน และบอกไปว่าคุณต้องการอะไร ไม่ใช่เก็บไว้ลำพัง เป็นต้น วิธีแบบนี้ จะทำให้คุณเบียดเอาความอ่อนแอออกไปจากชีวิตได้

5. อย่าทอดทิ้งสังคม

          ถ้าคุณกำลังจะเริ่มร้องไห้ ลองลุกไปหยิบโทรศัพท์แล้วโทร.หาใครสักคนเพื่อพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุขบ้าง ก็เป็นวิธีการที่ไม่เลวนะคะ บางครั้งการอยู่กับตัวเองมากเกินไปทำให้คุณจมอยู่ในอารมณ์ที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเลยเถิดไปถึงขั้นไหน เราทุกคนไม่มีใครตัวคนเดียวในโลก อย่างน้อยก็ยังมีเพื่อนและญาติมิตร แม้จะไม่ได้เข้าใจเราไปเสียทุกเรื่อง แต่ไม่มีใครใจร้ายกับเราแน่หากเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความหวังดีต่อกัน

6. บันทึกความอ่อนแอ

          ท้ายที่สุดหากคุณลองทำทุกข้อแล้ว แต่ก็ยังหลีกหนีความอ่อนแอในจิตใจไม่พ้น ก็ลองบันทึกความอ่อนแอเปราะบางเหล่านั้นลงบนสมุด วันละหน้าสองหน้าก็ได้นะคะ การเขียนและถ่ายทอดเป็นการระบายที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เมื่อผ่านพ้นไปแต่ละช่วง คุณลองเอากลับมาอ่านแล้วจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ช่วยให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น

          หากทำได้ครบตามที่แนะนำ เชื่อแน่ค่ะว่าคุณจะกลายเป็นคุณแม่มือใหม่ที่หัวใจเข้มแข็ง และมีความสุขได้ไม่ยาก หรืออย่างน้อยก็มีภูมิคุ้มกันในหัวใจมากพอที่จะไม่ทำให้ลูกน้อยต้องได้รับผลกระทบจากความเครียดที่มากเกินไป ลองดูนะคะ อะไรที่เราพยายามทำย่อมดีกว่าไม่ได้ทำเสมอค่ะ

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.19 No.218 ธันวาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคล็ดลับแม่มือใหม่ หัวใจไม่อ่อนแอ อัปเดตล่าสุด 14 มกราคม 2557 เวลา 15:35:20 1,604 อ่าน
TOP