x close

วิธีปลูกฝังและพูดคุยกับลูกน้อย ให้เข้าใจเรื่องผู้พิการ

แม่และเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         การพูดคุยกับลูกของคุณเรื่องความพิการทุพลภาพทางร่ายกาย เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่แล้วจู่ ๆ วันหนึ่งปัญหาก็อาจจะมาถึง เมื่อเจ้าตัวเล็กกลับจากโรงเรียนแล้วมาเล่าให้คุณฟังว่า เจอเพื่อนที่เอาแต่นั่งบนเก้าอี้มีล้อ ไม่ยอมมาเล่นกับเพื่อน ๆ พรุ่งนี้เขาจะไม่ยอมเล่นกับเพื่อนคนนี้แล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าตัวน้อยดี ๆ อาจเป็นการปลูกฝังทัศนิคติผิด ๆ เกี่ยวกับผู้พิการให้เขาได้นะคะ

         เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นอย่างมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้คนที่มีร่างกายแตกต่างไปจากเขา การอธิบายชี้แจง หรือพูดคุยเรื่องนี้ให้เขาฟังจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คนไหนยังไม่รู้ว่าจะเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กับลูกยังไง กระปุกดอทคอมก็มีแนวทางดี ๆ มาฝากค่ะ

1. เตรียมตัวพร้อมที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูกเสมอ

         คุณอาจคิดว่ารอให้ลูกโตกว่านี้อีกนิดแล้วค่อยชวนมาพูดคุยกันเรื่องความพิการหรือความแตกต่างของร่างกายให้ลูกฟังก็ได้ แต่ไม่แน่ว่าเผลอ ๆ ลูกอาจเป็นฝ่ายนำคำถามมาถามคุณเองอย่างเหนือความคาดหมายก่อนเวลาที่คิดเอาไว้ เพราะฉะนั้นจึงควรเตรียมพร้อมที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูกเสมอ เตรียมคิดคำพูดง่าย ๆ ที่ลูกจะได้ฟังเข้าใจไว้ล่วงหน้า ยามที่ต้องพูดคุยกับเขาจริง ๆ จะได้ไม่ประดักประเดิดหรือรู้สึกยุ่งยากใจที่จะอธิบาย ที่สำคัญอย่าหลบเลี่ยงการตอบคำถาม เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ดีที่นำเรื่องแบบนี้ขึ้นมาคุยกับคุณ

2. ไม่ว่าอย่างไร อย่าเลี่ยงการตอบข้อสงสัยของลูก

         ไม่ว่าจะอย่างไรหรืออยู่ในสถานที่ไหน คุณแม่ก็ไม่ควรจะเลี่ยงการตอบคำถามลูก แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกอายที่จู่ ๆ ลูกก็พูดขึ้นมาว่าทำไมคนนั้นเดินไม่เหมือนเขา หรือทำไมเพื่อนทำตาแปลก ๆ เหมือนมองมาที่เขาแต่ทำเป็นไม่เห็นเขาซะอย่างนั้น แม้จะรู้สึกอายที่ลูกพูดเสียงดัง แต่ก็ควรจะตอบไขข้อข้องใจให้เขาได้เข้าใจ ณ ตรงนั้น (แต่อย่าลืมใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย และไม่รุนแรงด้วยนะคะ) การเลี่ยงไม่ตอบคำถามหรือดึงตัวเขาให้เดินเลี่ยงไปห่าง อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาทำอะไรผิดหรือเปล่าหรือรู้สึกว่าคนนั้นเป็นพวกไม่ปกติ อันจะกลายเป็นการสร้างเสริมทัศนคติที่ไม่ดีให้ติดตัวเขาไปจนโตได้

3. พูดคุยให้ลูกรู้ว่าความแตกต่างไม่ใช่เรื่องแย่หรือไม่ดี

         แม้จะไม่รู้ว่าสิ่งที่คนนั้นเป็นคืออะไร แต่เด็ก ๆ ก็สามารถสังเกตรู้ได้ว่าบางคนนั้นไม่เหมือนกับเขา ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรปฏิเสธหรือกลบเกลื่อนไปว่าลูกคิดไปเอง แต่ควรถือโอกาสนี้อธิบายกับลูกไปเลยดีกว่า ว่าถึงเขาอาจจะไม่เหมือนลูก แต่ความแตกต่างที่เขาเป็นก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องแย่หรือไม่ดี และทุก ๆ คนต่างก็มีความแตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนี้ก็สามารถพูดคุยเลยไปถึงเรื่องความแตกต่างอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางร่างกายได้ด้วยค่ะ

4. ชี้ให้เห็นว่าแม้ต่างอย่างไรก็ยังมีส่วนเหมือนกันอยู่นะ

         นอกจากจะคุยให้ลูกเข้าใจเรื่องความแตกต่างแล้ว ก็อย่าลืมเสริมเรื่องส่วนที่เหมือนกันเข้าไปด้วย เช่น ถึงเพื่อนหนูคนนั้นจะนั่งบนเก้าอี้มีล้อ แต่ว่าเขาก็ชอบดูโดราเอมอนเหมือนลูกเลยนะ .. ด้วยวิธีการพูดแบบนี้เด็ก ๆ ก็จะไม่มองว่าความพิการทางร่างกายของเพื่อนเป็นเรื่องประหลาด แถมยังรู้สึกว่าเพื่อนและเขาเป็นพวกเดียวกันอีกต่างหากค่ะ

5. อย่าลืมระมัดระวังการใช้คำพูด

         การเลือกคำที่จะพูดคุยให้ลูกฟังต้องเลือกใช้คำที่ฟังดูไม่รุนแรง หรือเป็นคำที่ทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายถูกเหยียด เช่น "ปัญญาอ่อน" "ขาด้วน" "แขนด้วน" ฯลฯ เพื่อไม่ให้ลูกจำไปเรียกคนอื่น ๆ รวมทั้งไม่ควรเรียกแทนตัวเองว่าเป็นคนปกติ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าคนที่ไม่เหมือนเขากลายเป็นพวก "ไม่ปกติ" ไปด้วย

6. เลือกใช้คำที่ฟังเข้าใจง่าย

         บางทีคำที่ใช้เรียกผู้พิการอาจฟังดูเป็นศัพท์ที่แปลกหูและเข้าใจยากสำหรับเด็ก ๆ คุณแม่จึงควรเลือกคำที่ฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายมาอธิบายแทน เช่น แทนที่จะบอกว่าเป็นใบ้ อาจบอกว่าเขาคนนั้นพูดไม่ได้หรือมีปัญหาในการพูด หรือใช้คำว่าขาไม่ดี เดินไม่เก่ง แทนการบอกว่าขาพิการ และควรสอนไปพร้อม ๆ กันด้วยว่าลูกควรเล่นกับเขาอย่างไร หรือสามารถช่วยเหลือเพื่อนคนนี้ได้อย่างไรบ้าง

7. ทำให้การพูดคุยเป็นเหมือนเรื่องปกติ

         พยายามทำให้การพูดคุยเรื่องนี้กับลูกเป็นเรื่องปกติ เช่น ชวนดูรายการเด็กที่สอนเรื่องความพิการหรือไม่สมบูรณ์ของร่างกาย หรือรายการทีวีที่มีพิธีกรเป็นผู้พิการ หรือแม้แต่รายการสารคดีที่มีช่องภาษามือก็ได้ แล้วชวนลูกคุยไปถึงเรื่องความแตกต่างที่ไม่เหมือนตัวเขาจากสิ่งที่ลูกเห็น โดยชวนคุยให้เป็นปกติ เด็ก ๆ จะเรียนรู้และซึมซับไปในขณะเดียวกันว่า คนที่ไม่เหมือนเขาก็มีอยู่ และไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แปลก หรือเป็นเรื่องน่าอายอะไร ที่จะพบเจอหรือทำความรู้จักกับพวกเขาในชีวิตจริงนั่นเองค่ะ

         การปลูกฝังให้ลูกมีความเข้าอกเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่มีร่างกายแตกต่างไปจากเขา เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำตั้งแต่ลูกยังเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่กำลังช่างสงสัยและวัยแห่งการซึมซับเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว หากได้ลองได้ทำตามคำแนะนำที่เรานำมาฝากดูแล้วล่ะก็ มั่นใจขึ้นเปลาะหนึ่งได้เลยค่ะว่าลูกน้อยของคุณจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเอื้ออาทรให้กับเพื่อน ๆ ผู้พิการที่เขาจะได้รู้จักหรือพบเจอในอนาคตแน่นอน



     
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ   


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปลูกฝังและพูดคุยกับลูกน้อย ให้เข้าใจเรื่องผู้พิการ อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2556 เวลา 16:19:29 1,176 อ่าน
TOP