x close

เคล็ดลับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงาน

นมแม่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


           การให้ลูกได้ดื่มน้ำนมแม่ เป็นข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำว่าเด็กควรได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นควรให้นมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมสำหรับเด็กไปด้วยจนลูกอายุ 2 ขวบ หรือจะให้นมลูกต่อไปนานกว่านั้นก็ได้หากคุณแม่สะดวก การให้ลูกได้ดื่มน้ำนมแม่ไม่ใด้ช่วยแค่เรื่องอิ่มท้อง แต่ลูกน้อยยังได้สุขภาพและภูมิต้านทานร่างกายอีกด้วย แต่อุปสรรคสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนที่เป็นเวิร์กกิ้งมัมหลาย ๆ คนก็คือ ต้องกลับไปทำงานเพราะหมดระยะลาคลอดเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวเล็กก็ยังคงต้องการนมของคุณแม่อยู่ เมื่อเหตุการณ์บีบบังคับแบบนี้ คุณแม่ก็คงต้องเลือกที่จะปั๊มน้ำนมเก็บเอาไว้ให้ลูกแทนการดูดจากเต้าจริง ๆ แล้วล่ะค่ะ วันนี้เราก็เลยมีทริคในการบริหารน้ำนม และการปั๊มน้ำนมสำหรับคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมมาฝากกันค่ะ

แจ้งที่ทำงานก่อนล่วงหน้าว่าประสงค์จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และขอปั๊มน้ำนมในที่ทำงาน

           ก่อนจะหมดวันลาคลอด ให้คุณแม่คุยกับหัวหน้างาน (ควรทำเอกสารยื่นเรื่องไปด้วย) ว่าต้องการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ และมีความจำเป็นที่จะต้องปั๊มน้ำนมในที่ทำงาน ทั้งนี้เพื่อแจ้งให้ทราบ ที่ทำงานจะได้จัดสรรเวลาหรือตารางการทำงานในแต่ละวันของคุณให้เอื้อต่อตารางการปั๊มน้ำนม (ควรระบุลงไปเลยว่าต้องการปั๊มน้ำนมในช่วงเวลาไหนบ้าง) และถ้าโชคดีที่ทำงานให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ คุณแม่อาจได้ห้องสำหรับไว้ปั๊มน้ำนมโดยเฉพาะด้วยนะคะ หากได้แจ้งที่ทำงานไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ก็จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อกลับมาทำงาน ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลที่อาจส่งผลต่อการไหลของน้ำนมคุณแม่ได้ด้วย

ฝึกปั๊มน้ำนมไว้แต่เนิ่น ๆ

           เมื่อลูกอายุได้ 1 เดือนแล้ว คุณแม่สามารถเริ่มปั๊มน้ำนมเก็บไว้ได้เลย เพื่อให้เต้าคุ้นเคยกับเครื่องปั๊มน้ำนม (หรืออาจใช้มือปั๊มน้ำนมก็ได้) โดยปั๊มจากเต้าหนึ่งในขณะที่ลูกดูดอยู่อีกเต้าหนึ่งอยู่ น้ำนมที่ได้จากการปั๊มให้นำแช่ช่องฟรีซเพื่อเก็บไว้ใช้ได้ในภายหลัง

ฝึกลูกน้อยให้ดูดนมจากขวด

           เมื่อคุณแม่เริ่มปั๊มน้ำนมไว้บ้างแล้ว ก็ควรฝึกให้ลูกดื่มน้ำนมแม่จากขวดนมด้วย เพื่อเป็นการเตรียมให้เขาคุ้นเคยกับการดูดขวดนมในเวลาที่คุณต้องไปทำงาน โอกาสที่เด็กจะปฏิเสธขวดนมให้คุณแม่ต้องกลุ้มใจก็จะลดน้อยลงด้วยค่ะ

ก่อนกลับไปทำงาน ต้องให้เวลาลูกน้อยได้คุ้นเคยกับผู้เลี้ยง

           ในช่วงใกล้จะต้องกลับไปทำงาน คุณแม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้ใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงที่จะมาทำหน้าที่ดูแลเจ้าตัวน้อยในระหว่างที่คุณไปทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณย่าคุณยายหรือพี่เลี้ยงก็ตาม และฝึกให้เจ้าตัวเล็กคุ้นเลยกับผู้เลี้ยงด้วย แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำนมโดยตรง แต่การที่ผู้เลี้ยงได้ฝึกป้อนนมและลูกน้อยก็มีความคุ้นเคยกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี เจ้าหนูก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการกินนมเวลาคุณแม่ไม่อยู่กับเขาด้วยนั่นเอง

จัดสรรเวลาปั๊มน้ำนมในที่ทำงาน

           การปั๊มน้ำนมในที่ทำงาน ควรทำทุกวันและเป็นเวลาเดียวกัน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวมีน้ำนมไหลในเวลานั้นอย่างสม่ำเสมอ หากที่ทำงานไม่มีห้องสำหรับปั๊มน้ำนมโดยเฉพาะ คุณแม่อาจต้องมองหาห้องที่เงียบสงบและเป็นส่วนตัวพอที่จะให้ปั๊มน้ำนมได้ ความวิตกและความเครียดจากการไม่เป็นส่วนตัว อาจส่งผลให้น้ำนมไม่ไหลได้นะคะ

           ส่วนเวลาที่พอเหมาะในการปั๊มน้ำนมสำหรับเวิร์กกิ้งมัมลูกอ่อนก็คือช่วงเช้าหลังเข้างาน ช่วงหลังพักเที่ยง และช่วงเบรกในยามบ่าย ปั๊มเสร็จแล้วให้เขียนวันที่ปั๊มนมกำกับไว้ทุกครั้ง แช่ตู้เย็นไว้ใต้ช่องฟรีซ และนำกลับบ้านโดยใส่กระติกน้ำแข็งไว้ เมื่อถึงบ้านจึงนำแช่ตู้เย็นหรือช่องฟรีซต่อไป น้ำนมแม่ที่แช่ตู้เย็นช่องธรรมดาสามารถอยู่ได้ 3 วัน และแบบที่แช่ในช่องฟรีซเก็บไว้เป็นเดือน การนำไปใช้ให้หยิบเอาล็อตที่ปั๊มเอาไว้นานที่สุดมาใช้ก่อนเสมอ แต่ถ้าคุณแม่ท่านไหนฝากลูกไว้กับเนอร์สเซอรี่ใกล้กับที่ทำงาน และไม่ลำบากในการเดินทาง คุณแม่ก็สามารถแพ็กน้ำนมลงกระติกน้ำแข็งหิ้วไปส่งให้กับพี่เลี้ยงได้เช่นกันค่ะ

แผ่นซับน้ำนม-เสื้อชั้นในสำรอง ต้องมีติดกระเป๋าไว้

           เวิร์กกิ้งมัมลูกอ่อนที่ปั๊มน้ำนมในที่ทำงานอาจต้องประสบปัญหาน้ำนมไหลซึม ซึ่งจะปล่อยให้ซึมออกมาเป็นดวงเลอะเสื้อผ้าก็คงไม่น่าดู เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงควรมีแผ่นซับน้ำนมไว้ใช้ รวมทั้งพกเสื้อชั้นในสำรองติดกระเป่าไว้สักตัวด้วยนะจ๊ะ

กลับมาบ้านเมื่อไหร่ยังไงลูกก็ต้องได้ดูดนมแม่

           แม้ว่าลูกจะดูดนมจากขวดได้แล้ว แต่คุณแม่ก็ควรต้องให้นมเจ้าตัวเล็กจากเต้าต่อไป ช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงานก็คือยามเช้าก่อนออกไปทำงานและเย็นหลังเลิกงาน การให้ลูกได้ดูดนมจากเต้านั้นไม่เพียงทำให้ได้ใกล้ชิดแนบแน่นสานสัมพันธ์แม่ลูกกับเจ้าตัวเล็กเท่านั้น แต่การที่เจ้าตัวเล็กได้ดูดเองจากเต้าของคุณยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำนมต่อไป ซึ่งสำคัญมากทีเดียวที่จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมไว้เลี้ยงเขาจนโตยังไงล่ะคะ

           การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่นับเป็นของขวัญล้ำค่าชิ้นแรกที่คุณจะมอบให้กับลูกน้อยได้ หากคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเองแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรดี อย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ที่เรานำมาฝากกันดูนะคะ




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคล็ดลับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงาน อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2558 เวลา 15:01:17 2,899 อ่าน
TOP