x close

เปลี่ยนความปวดหัวเป็นความปรองดอง กับเคล็ดลับเลี้ยงลูกวัยรุ่น



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ครอบครัวไหนที่มีคุณลูก ไม่ว่าจะลูกสาวหรือลูกชาย ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยหัวเลี้ยงหัวต่อ คือช่วงราว ๆ อายุ 15 ปีขึ้นไป คงรู้ดีว่าการเลี้ยงลูกในวัยนี้เป็นความท้าทายขนาดไหน เพราะเจ้าเด็กตัวน้อยในวันก่อน ตอนนี้ช่างเฮี้ยวและดื้อดึงเสียไม่มี และช่วงอายุ 15 ปีก็กำลังเข้าสู่วัยต่อต้านผู้ใหญ่เสียด้วยสิ แบบนี้คงไม่แปลกหากคุณพ่อหรือคุณแม่อาจจะปรี๊ดแตกจากการพร่ำสอนจนปากเปียกปากแฉะแต่ลูกก็ไม่ยอมทำตาม ยิ่งบ่นบ่อยเข้าก็ยิ่งอารมณ์เสียเอง และเผลอแสดงความหงุดหงิดหัวเสียกับลูกออกไป ถึงตอนนี้คุณก็รู้สึกแย่ ลูกก็รู้สึกแย่ และยังออกแนวดิ้อดึงให้ปวดหัวมากกว่าเดิมเสียอีก ถ้าอย่างนั้นลองมาดูแนวทางปรองดองเดินทางสายกลาง เปลี่ยนสนามรบขนาดย่อมในบ้านให้กลายเป็นครอบครัวแสนสุขดังเดิมกันดีกว่าค่ะ

           icon สถานการณ์ปัญหา : อดไม่ได้ที่จะบ่นจุกจิกไปเสียทุกเรื่อง

           ลองวิธีนี้ดูดีกว่านะ : เลือกบ่นเฉพาะเรื่องสำคัญ ๆ ที่อยากให้แก้ไขด่วน ๆ เท่านั้น

           เป็นธรรมดาของคนเป็นแม่ที่จะพูดบ่นจุกจิกไปเสียทุกเรื่องเมื่อเห็นอะไรที่ลูกทำไม่เข้าที่เข้าทาง อย่างถอดรองเท้าไม่เป็นที่เป็นทาง กลับมาบ้านก็เหวี่ยงข้าวของสุมบนโซฟา ซุกผ้าเปียกลงตะกร้า เตะบอลโดนต้นไม้ล้ม ชั้นหนังสือในห้องรก ฯลฯ หากคุณบ่นไปเรื่อย ๆ เสียทุกเรื่อง คุณลูกตัวดีก็จะตีความไปว่า "แม่ก็บ่นไปอย่างนั้นแหละ ตามประสาคนขี้บ่น" (เป็นงั้นไป ลูกฉัน - -")

           ถ้าอย่างนั้นอยากให้คุณแม่ลองจดรายการที่ตัวเองบ่นว่าและพร่ำบอกลูกลงไปในกระดาษ แล้วเลือกเฉพาะประเด็นเด่น ๆ ที่อยากให้ลูกได้ปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังมาสัก 3 หัวข้อ และนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับลูกตรง ๆ ว่า คุณเห็นว่ามันไม่ดีอย่างไร มันจะส่งผลเสียแบบไหน และอยากให้ลูกได้ปรับปรุงให้มันดีขึ้น ด้วยหัวเรื่องอยากให้ปรับปรุงที่เฉียบขาด และมีไม่มากข้อเกินไปแบบนี้ ลูกก็จะรับฟังได้ดีกว่า และนำไปสู่การปรับปรุงตัวที่ดีขึ้นได้ค่ะ

           icon สถานการณ์ปัญหา : ไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ดี

           ลองวิธีนี้ดูดีกว่านะ : หาวิธีเซอร์ไพรส์ให้ตระหนกตกใจและรู้ตัว .. ว่าที่ทำอยู่นั้นไม่ดีเลย

           บางทีวิธีการที่คุณใช้อาจยังไม่เด็ดเดี่ยวพอให้เจ้าตัวเฮี้ยวคิดได้หรือหลาบจำ ยกสถานการณ์ตัวอย่าง หากว่าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่บ่นอยู่บ่อย ๆ เรื่องเจ้าลูกชายชอบเหวี่ยงกระเป๋าและข้าวของไว้ไม่เป็นที่เป็นทางหลังกลับมาจากโรงเรียน และคุณก็ต้องคอยบ่นว่าจ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกเอาไปเก็บ หรือเป็นคุณเสียเองที่บ่นจนอ่อนอกอ่อนใจเอาข้าวของไปไว้ในที่ทางของมันให้แทน และมันจะเป็นอย่างนี้อยู่ร่ำไปหากคุณไม่เปลี่ยนกลวิธีปราบพยศลูกตัวดื้อ

           คราวนี้ลองเปลี่ยนเป็นไม่บ่นไม่ว่า แต่หยิบกระเป๋าของเขาไปวางไว้ในที่ซึ่งไม่ใช่ที่เก็บประจำของเขาแทน รอให้เจ้าตัวรู้สึกเซอไพรส์ปนตื่นตระหนกตกใจในวันรุ่งขึ้นแทน เมื่อจะไปโรงเรียนแล้วแต่ยังหากระเป๋าไม่เจอ คราวนี้ก็ถึงตอนที่คุณควรเฉลย พร้อมกับบอกเขาว่านี่แหละคือผลของการวางข้าวของไม่เป็นที่ ถ้าคราวหน้ายังมีอีกพ่อกับแม่ไม่รับประกันนะว่าข้าวของของลูกจะหาเจอครบแบบนี้ไหม เด็ก ๆ แม้จะยังดื้อดึง แต่ก็จะค่อย ๆ ปรับปรุงตัวขึ้นเองได้ค่ะ ลองใช้วิธีนี้กับเรื่องอื่น ๆ ด้วย อย่างเล่นเกมเพลินเกินเวลาที่กำหนด ก็ริบเกมของเขาไปสัก 4-5 วัน จนกว่าลูกจะสัญญาว่าจะพยายามไม่ทำอีก บางทีการดัดหลังคนดื้ออาจอาศัยการพูดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องลงมือทำด้วยแบบนี้แหละค่ะ (แต่ห้ามใช้วิธีที่รุนแรงนะจ๊ะ)

           icon สถานการณ์ปัญหา : จากการบ่นว่ากลายเป็นการปะทะคารมใหญ่โต

           ลองวิธีนี้ดูดีกว่านะ : รออารมณ์เย็นกว่านี้ แล้วมาพูดคุยกันอีกทีดีกว่า

           ยามที่คุณบ่นว่าหรืออยากให้เขาปรับปรุงในเรื่องใด ก็ย่อมอยากเห็นลูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวหรือแก้ไขอย่างทันทีทันใด แต่ตามสไตล์วัยรุ่นแล้วก็ย่อมรี ๆ รอ ๆ ไม่ทำทันทีให้คุณเห็นแน่นอน และนั่นก็ยิ่งทำให้คุณอารมณ์เสีย จนกลายเป็นการบ่นกราด ลูกก็ยิ่งเหลือจะทนแล้วเถียงกลับมา อันจะยิ่งทำให้คุณโมโหเข้าไปใหญ่ จากการบ่นว่าก็กลายเป็นการปะทะคารมกันในที่สุด

           ก่อนอารมณ์จะเหวี่ยงขึ้นถึงจุดเดือด ให้คุณทิ้งความหงุดหงิดไว้แล้วเดินหนีออกไปจากสถานการณ์ตรงนั้นดีกว่า อีก 2-3 วันให้หลังเมื่อคุณและลูกอารมณ์เย็นลงมากทั้งคู่แล้ว ค่อยมานั่งคุยกันดี ๆ อีกครั้ง ว่าที่บ่นเขาไปวันนั้นเพราะว่าอะไร ในตอนนี้หากชี้แจงด้วยเหตุผล ลูกก็จะรับฟังมากขึ้น อีกทั้งเมื่ออารมณ์เย็นทั้งคู่เขาก็กล้าที่จะบอกเหตุผลในส่วนของเขาได้ และคุณก็จะได้รู้ว่าเขาคิดเห็นอย่างไร จะได้ปรับจูนให้ตรงกันได้ในที่สุด

           icon สถานการณ์ปัญหา : ลงโทษลูกอย่างรุนแรง เพื่อให้เห็นว่าคุณอยู่เหนือกว่าเขา

           ลองวิธีนี้ดูดีกว่านะ : สร้างข้อตกลงร่วมกันแทนการลงโทษเกินกว่าเหตุ

           ด้วยความอยากให้ลูกเคารพนับถือ และเชื่อฟังแต่โดยดี คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนจึงเลือกการลงโทษ เพื่อให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่มีสิทธิ์จัดการลูกและเขาอยู่ใต้อาณัติของคุณ แต่หลายครั้งที่การลงโทษมักเลยเถิด และสิ่งนั้นจะกลายเป็นปมในใจลูกว่าพ่อแม่ไม่รักเขาได้ค่ะ การลงโทษควรทำอย่างสมเหตุสมผล ไม่รุนแรงสาหัสสากรรจ์ เพราะอย่างไรเขาก็คือลูกไม่ใช่นักโทษที่คุณจะบงการให้ทำอะไรก็ได้ตามใจ

           การลงโทษควรทำแต่น้อย พอเป็นบทเรียนให้หลาบจำว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดมากเขาจึงต้องถูกทำโทษ และเสริมด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผลและความใจเย็นว่าทำไมคุณถึงต้องทำแบบนี้ หรือหากคุณดูแล้วว่าแม้เด็กน้อยของคุณจะพยศ แต่ก็ยังพูดคุยรับฟังเหตุผลดีอยู่ เปลี่ยนจากการลงโทษเป็นการพูดคุยสร้างข้อตกลงร่วมกัน ว่าต่อไปควรทำหรือไม่ทำอะไร หากเขาผิดสัญญาเขาจะทำโทษตัวเองอย่างไร โดยคุณก็ร่วมพิจารณาด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น งดออกไปเล่นกับเพื่อนในวันหยุดแต่ต้องอยู่ช่วยทำงานบ้านแทน หรือต้องล้างจานทุก ๆ มื้อเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เป็นต้น
 
           ลูก ๆ จะยอมรับข้อตกลงที่ออกมาจากการออกความเห็นของเขาเองมากกว่าการคาดโทษจากพ่อแม่แน่นอน และยังเป็นการฝึกให้เขาซื่อสัตย์และรักษาคำมั่นสัญญาของตัวเองด้วยค่ะ สัญญาแล้วว่าจะไม่ทำก็ต้องไม่ทำ แต่ถ้าเผลอทำผิดไปก็ต้องทำโทษตัวเองตามที่เคยสัญญากับพ่อแม่เอาไว้ด้วย

           icon สถานการณ์ปัญหา : ดุว่าสั่งสอนลูก แต่ลูกไม่อยู่ต่อหน้า

           ลองวิธีนี้ดูดีกว่านะ : จะสั่งสอนลูก เขาต้องอยู่ตรงหน้า พูดคุยกันก็ต้องสบตาสร้างอายคอนแทค

           หลาย ๆ ครอบครัวจะดุลูกทั้งที ก็ออกแนวบ่นดัง ๆ ให้ลูกได้ยิน หรือพูดประชดประชันไม่มองหน้า ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีเลยค่ะ แทนที่เขาจะเชื่อฟัง กลับกลายเป็นรู้สึกเบื่อหน่าย คำพูดของคุณไม่ทำให้เขาคิดได้ แต่จะกลายเป็นรำคาญ ปล่อยให้คำพูดเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากการสนทนาแบบไม่อยู่กันซึ่ง ๆ หน้า ปราศจาภาษากายที่สำคัญอย่างการสบตาหรืออายคอนแทค

           ทางที่ดีคุณอาจรอให้ใจเย็นลงสักนิดก่อนแล้วเรียกเขามานั่งตรงตรงหน้า พูดคุยตักเตือนกันตรงนั้นด้วยน้ำเสียงที่สงบไม่แฝงอารมณ์กราดเกรี้ยว แต่บอกความจริงจังผ่านสายตา คอยสบตาลูก ให้เขาเงยหน้ารับฟัง บรรยากาศเช่นนี้ย่อมตึงเครียด แต่นั่นจะทำให้ลูกรู้ว่าเขากำลังถูกตำหนิอยู่จริง ๆ และเขาจะได้ซึมซับรวมท้งคิดตามไปด้วยได้ว่าเขาผิดตรงไหน ทำอะไรไม่ดี จากนั้นจึงคุยหาวิธีให้เขาปรับปรุงตัวเอง หรือสร้างข้อตกลงร่วมกันต่อไป

แถมอีก 3 เรื่องที่ไม่ควรนำไปใช้กับลูก ..เพราะมันไม่ได้ผลที่ดีเลย

1. ประชดประชันเสียดสี

           การประชดประชันเสียดสี จะทำกับใคร ๆ ก็ไม่ดี โดยเฉพาะกับลูกของคุณเอง การพูดเหน็บให้เขาเจ็บใจหรือรู้สึกอาย จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณเป็นศัตรูของเขา และอย่าแปลกใจถ้าลูกจะก้าวร้าวกับคุณด้วยคำพูดแบบเดียวกัน .. เพราะเขาก็เลียนแบบคุณมานั่นเอง

2. "ตอนอายุเท่าลูก พ่อ/แม่ไม่เคยทำตัวแบบนี้เลย"

           "ตอนแม่อายุเท่าลูก แม่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้เลยนะ แล้วทำไมลูกถึงทำ" อย่าปล่อยให้คำพูดแบบนี้หลุดออกไป เพราะมันจะลดเครดิตความน่าเชื่อถือในตัวคุณลงฮวบฮาบ แถมยังเป็นคำพูดที่เฝือและน่าเบื่อมาก ๆ เผลอ ๆ อาจเจอลูกตัวแสบสวนกลับว่า "ก็ยุคสมัยมันไม่เหมือนกัน แม่แก่แล้วไม่เข้าใจหรอก" .. ทีนี้ล่ะ เหวอไปเลยค่ะคุณแม่

3. บ่นซ้ำซากแล้วพูดชื่อเขาด้วย

           การบ่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ โดยระบุชื่อของลูกลงไปด้วย นับเป็นกระทำที่ผิดพลาดร้ายแรงอย่างหนึ่งที่พ่อแม่หลาย ๆ คนเผลอทำลงไป เช่น การบ่นว่า "ลูก A ทำไมถึงขี้เกียจแบบนี้นะ ไม่เคยสนใจช่วยงานบ้านอะไรสักอย่างเลย" หากพูดบ่อย ๆ เข้า และลูกของคุณก็ได้ยินมันเยอะจนถึงจุดหนึ่ง เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับลงไปว่าสิ่งนี้เป็นตัวตนเขาจริง ๆ และจะกลายเป็นคนแบบนั้นจริง ๆ ตามที่เขารู้สึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีที่เด็ก ๆ ควรจะซึมซับไปเลยนะคะ

           การเลี้ยงลูกในช่วงวัยรุ่นอาจเป็นงานหิน เป็นเรื่องยากที่สุด หนักใจและเหนื่อยใจที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดี หากว่ามีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ไม่พูดดุว่าด้วยคำพูดรุนแรง ใช้เหตุผลเข้ามาแทนที่จะใช้อารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ควรเชื่อมั่นในตัวเขา ว่าเขามีศักยภาพมากพอที่จะดูแลตัวเองได้ภายใต้การคอยมองดูและให้คำแนะนำอยู่ห่าง ๆ ของคุณ และที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกด้วยนะคะ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปลี่ยนความปวดหัวเป็นความปรองดอง กับเคล็ดลับเลี้ยงลูกวัยรุ่น อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2556 เวลา 15:13:49 3,765 อ่าน
TOP