x close

ตู้ยาสามัญประจำบ้านสำหรับลูกน้อย



ตู้ยาสามัญประจำบ้านสำหรับลูกน้อย
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : เภสัชกร โสมาภา ธรรมเจริญ

           คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ เวลาที่ลูกเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบายนั้น คนเป็นพ่อเป็นแม่ แทบอยากจะป่วยแทนลูก ยิ่งเป็นลูกคนแรกด้วยแล้ว คุณพ่อคุณแม่บางคนถึงกับทำอะไรไม่ถูก ความจริงแล้วนั้น หากได้เลี้ยงลูก และอยู่ใกล้ชิดกับลูก 24 ชั่วโมง ตัวพ่อแม่เองจะเป็นผู้สังเกตอาการได้ดีที่สุด และอาจให้ยาเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นของลูกได้ ก่อนที่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะหายาพื้นฐานสำหรับโรคที่ไม่ร้ายแรงติดตู้ยาไว้ให้ลูก ก็พอจะทำให้อุ่นใจได้ยามที่ลูกน้อยเจ็บป่วย

           การให้ยากับลูกเองนั้น มีข้อควรระมัดระวังอยู่หลายอย่าง ได้แก่ เรื่องการแพ้ยาคุณพ่อคุณแม่ต้องทราบว่าลูกเราแพ้ยาตัวไหนบ้าง หรือตัวคุณพ่อคุณแม่เองมีประวัติแพ้ยาตัวใด ก็ต้องระมัดระวังการให้ยากลุ่มนั้นกับลูกน้อยเป็นพิเศษ เพราะอาจมีโอกาสแพ้ได้เหมือนกับพ่อแม่ อีกอย่างคือโรคประจำตัวของลูก ซึ่งโรคประจำตัวบางโรค เช่น G6PD ต้องหลีกเลี่ยงยาบางกลุ่มที่จะกระตุ้นให้แสดงอาการของโรค เป็นต้น

           ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานในการดวงยาให้เด็ก ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าว หรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง โดยขนาดมาตรฐานในการดวงยา คือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร อาจใช้ช้อนชาที่ให้มากับขวดยา หรือใช้กระบอกฉีดยา (SYRINGE) ป้อนก็ได้

           ยาพื้นฐานสำหรับรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ที่มักพบบ่อย ๆ ในเด็ก ได้แก่

1.ยาแก้ปวด-ลดไข้

           ยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ค่อนข้างปลอดภัยในเด็ก ได้แก่ พาราเซตามอล ใช้สำหรับเด็กที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดฟัน หรือตัวร้อนมีไข้ โดยพาราเซตามอลของเด็กจะเป็นชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งมีหลายรูปแบบที่ผลิตออกมาสู่ท้องตลาดได้แก่ แบบหยด สำหรับทารกและเด็กเล็ก จะมีความแรงของตัวยา 60 มก./0.6 มล. (1 หลอดหยด) และแบบกินเป็นช้อนจะมีความแรงของตัวยาที่เจือจางกว่า คือ 120 มก./5 มล., 160 มก./5 มล. และ 250 มก./5 มล. ซึ่งมีหลายรสชาติ พ่อแม่หลายคนจึงเข้าใจผิด เลือกยาให้ลูกตามรสชาติที่ลูกชอบ แต่ที่ถูกต้องนั้น เราต้องเลือกยาให้ลูกตามขนาดความแรงของยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวเด็ก โดยยาพาราเซตามอล จะให้ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้

2.ยาลดน้ำมูก แก้แพ้อากาศ

           ยาลดน้ำมูก แก้แพ้อากาศ จะเป็นยากลุ่มด้านฮิสตามึน ใช้เมื่อเด็กมีอาการน้ำมูกไหล จาม เมื่อเป็นหวัด หรือเมื่อมีอาการแพ้อากาศเย็น แต่ในเด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่ยังสั่งน้ำมูกไม่เป็น มักจะไม่ให้ยาลดน้ำมูกแบบที่ทำให้น้ำมูกแห้ง เพราะน้ำมูกจะแห้งกรังอยู่ในโพรงจมูก และอาจปิดกั้นทางเดินหายใจได้ จึงมักให้เป็นยาละลายเสมหะ ที่ทำให้น้ำมูกใส และไหลออกมาเองได้ จะปลอดภัยกว่า

           นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้พวกน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันยูคาลิปตัสบริสุทธิ์ หยดบริเวณหมอน ผ้าห่ม ปกเสื้อลูก หรือสเปรย์ภายในห้องนอนของลูก หรืออาจใช้ยาขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส ทาบริเวณหน้าอก คอ และหลัง เพื่อช่วยให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น อีกทั้งน้ำมันยูคาลิปตัสยังมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส แบบอ่อน ๆ ได้อีกด้วย

3.ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ

           เด็กช่วงขวบปีแรก หากมีอาการไอ และมีเสมหะไม่มาก อาจให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เสมหะเหนียว ช่วยให้ชุ่มคอและไม่ระคายเคือง แต่ถ้ามีอาการไอมาก มีเสมหะมาก จะให้ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ละลายเสมหะ แต่ไม่ควรให้ยากดอาการไอจำพวกเดกซ์โทรเมทอร์แฟน โดยเฉพาะในเด็กที่ยังขากเสมหะไม่เป็น เพราะยาจะกดอาการไอเอาไว้ ทำให้เสมหะไม่ถูกขับออกมาผ่านทางการไอ แต่กลับสะสมในปอดแทน อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อที่ปอดและมีอาการรุนแรงได้ โดยยาแก้ไอจำพวกละลายเสมหะที่สามารถใช้ในเด็กเล็กได้อย่างปลอดภัย จะเป็นยาคาร์โบซีสเทอีน, แอมบรอกซอล หรือบรอมเฮกซีน เป็นต้น

4.ยาแก้ท้องเสียและเกลือแร่

           ปกติแล้ว เด็กสามารถหายจากอาการท้องเสียได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าลูกมีอาการถ่ายเป็นน้ำมาก หรือมีอาเจียน หรือมีอาการปวดท้องบิด อุจจาระมีมูกเลือด จำเป็นจะต้องให้ยาฆ่าเชื้อในทางเดินอาหารจำพวกโคไตรม็อกซาโซล หรือไตเชนโต้ ส่วนยาช่วยให้หยุดถ่ายไม่ควรใช้กับเด็ก เนื่องจากจะทำให้สารพิษหรือเชื้อโรคตกค้างในร่างกายนานขึ้น นอกจากนี้ ควรป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โดยให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ORS โดยค่อย ๆ จิบทีละหน่อย แต่บ่อยครั้ง

5.ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม

           ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่ใช้ในเด็กทารกได้อย่างปลอดภัย จะเป็นยาใช้เฉพาะที่สำหรับทาภายนอก คือมหาหิงคุ์ โดยทาที่หน้าท้องบริเวณรอบ ๆ สะดือ หรืออาจทาฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย โดยในยาน้ำมหาหิงคุ์จะมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารได้ และทำให้เด็กรู้สึกสบายท้องมากขึ้น ส่วนยากินเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อนั้นจะเป็นพวกยาน้ำโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือ ไซเมทิโคน ชนิดน้ำเชื่อมก็ได้



6.ยาทาแผลสด และอุปกรณ์ทำแผล

           เด็กที่เริ่มคลาน กำลังหัดเดิน หรือเดินคล่องจนวิ่งปร๋อ มักจะไม่ค่อยระมัดระวังตัวจนมีเรื่องต้องเจ็บตัวอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหายา และอุปกรณ์สำหรับทำแผลติดตู้ยาประจำบ้านไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน โดยหากบาดแผลไม่ลึกมาก แต่มีเลือดออก สามารถใช้น้ำเกลือล้างแผลได้ จะไม่แสบมากเหมือนแอลกอฮอล์ และใช้ยาใส่แผลจำพวกโพวิโดน-ไอโอดีน หรืออาจใช้เป็นพวกยาครีมขี้ผึ้งที่ผสมยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียก็ได้ ส่วนอุปกรณ์ทำแผลที่ควรมีติดตู้ยาไว้ได้แก่ พลาสเตอร์ยา สำลี ผ้าก๊อซ เทปปิดผ้าก๊อซ เป็นต้น

           อีกกรณีหนึ่งคือ แผลที่ไม่มีเลือดออก แต่เป็นรอยเขียวช้ำ ปูด ให้ใช้ยาทาจำพวก Reparil Gel® วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้รอยเขียวช้ำจางเร็วขึ้น

7.ยาทาแมลงสัตว์กัดต่อย และยาทาแก้ผดผื่นคัน

           เมื่อลูกถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือเมื่อมีผดผื่นคัน ส่วนใหญ่จะมีอาการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งผิวหนังบริเวณนั้นอาจจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน หรือมีอาการคันร่วมด้วย ดังนั้น ยาที่ใช้จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการ บวม แดง ร้อน และคัน

           ยาทาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่มีอาการบวม แดง คัน อาจใช้พวกยาหม่องชนิดขี้ผึ้งทาก็ได้ เพราะความร้อนและเย็นจากยาหม่องจะช่วยบรรเทาอาการคันได้ดี แต่ต้องระวังเด็กสัมผัสยาและเอามือไปขยี้ตา จะแสบตาได้ หากผิวหนังบริเวณที่มีอาการเป็นวงกว้างจะใช้ Calamine Lotion หรือ Triamcinolone Lotion ก็ได้ เนื่องจากทาบริเวณกว้างได้สะดวกกว่า แต่ถ้าเป็นตุ่มกระจายไม่มากนัก จะใช้เป็นพวกยาครีมแก้แพ้แก้คันหรือสเตรียรอยด์ครีมแบบอ่อน (TA Cream) จะช่วยแก้คันได้ดี และช่วยให้ผิวหนังที่บวมแดง ยุบเร็วขึ้น ในกรณีที่เด็กมีอาการคันมาก ต้องเกาตลอดจนแผลเหวอะหวะ อาจให้ยาแก้แพ้แก้คันชนิดน้ำเชื่อมรับประทานร่วมด้วยก็ได้

8.ยาทาปากเปื่อยเป็นแผล ฝ้าขาวที่ลิ้นและในปาก

           ให้ใช้ยากลีเซอรีน บอแรกซ์ จะเป็นน้ำใสข้น ไม่มีสี หรือใช้ เจนเชี่ยนไวโอเล็ต ทาแก้ปวดเปื่อย เป็นแผล ลิ้นแตก เป็นฝ้าขาวได้ ระหว่างนี้ควรให้เด็กได้ดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือทานผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาเย็น เช่น กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร แคนตาลูป ชมพู่ แตงโม มะพร้าว แอปเปิล เพื่อช่วยลดอาการร้อนในด้วย จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

9.ปรอทวัดไข้

           ปัจจุบันมีหลายรูปแบบทั้งแบบหลอดแก้วบรรจุปรอทไว้ภายใน แบบดิจิตอลแสดงผลเป็นตัวเลข และแบบแถบแปะหน้าผากแสดงผลด้วยแถบสี คุณพ่อคุณแม่ควรจัดหาปรอทวัดไข้อย่างใดอย่างหนึ่งติดบ้านไว้สำหรับวัดอุณหภูมิให้ลูก เมื่อสงสัยว่ามีอาการไข้ ตัวร้อน เพราะสามารถชี้วัดได้ถูกต้องกว่าการใช้มือสัมผัสหรือการใช้ความรู้สึกบอกว่าลูกตัวร้อน

10.เจลประคบร้อน-เย็น

           เจลประคบร้อน-เย็น มีหลายขนาดสามารถเลือกใช้ตามบริเวณที่จะประคบ สามารถใช้ประคบเย็นได้เมื่อเป็นไข้ตัวร้อน หกล้มฟกช้ำดำเขียว หัวโน แมลงกัดต่อย และมีอาการบวม แดง คัน หรือประคบร้อนเมื่อมีอาการบวมของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

           นอกจากนี้ การเลือกใช้ยาในเด็กเล็กควรเลือกยาที่ประกอบด้วยตัวยาเดี่ยว ๆ ชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่า เพราะการใช้ยาสูตรผสมจะทำให้เด็กได้รับยาเกินความจำเป็น และหากมีอาการแพ้ยาจะทำให้ชี้ได้ยากว่าแพ้ยาตัวไหน ยกเว้นในเด็กที่กินยายาก หรือมีอาการหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เช่น มีไข้ ไอ และน้ำมูก พร้อมกัน ก็อาจพิจารณาให้ยาสูตรผสมได้ หากจำเป็น

           อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ได้ให้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของลูกในเบื้องต้น แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที








ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 36 ฉบับที่ 494 เมษายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตู้ยาสามัญประจำบ้านสำหรับลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2556 เวลา 16:38:41 19,420 อ่าน
TOP