x close

เรื่องต้องรู้ของการเบ่งคลอด

 ตั้งครรภ์

เรื่องต้องรู้ของการเบ่งคลอด
(modernmom)
เรื่อง : มาลี

        คุณแม่รู้หรือไม่ค่าการเบ่งคลอดมีความสำคัญกับตัวคุณแม่และคุณลูกแค่ไหน และการเบ่งที่ผิดวิธี ผิดเวลาก็อาจทำให้คุณแม่หลังคลอดต้องเจอปัญหา "ปากช่องคลอดบวม" โดยเฉพาะคุณแม่ที่เตรียมตัวกับการเบ่งคลอดไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเจอกับปัญหานี้ค่ะ

        คุณแม่หลายคนโดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังจะเตรียมตัวคลอดสงสัยกันใช่หรือไม่คะว่า แท้จริงแล้ว อาการปากช่องคลอดบวมนั้นมีสาเหตุเกิดมาจากอะไร และควรป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน Modern Mom นำเรื่องนี้ไปถามคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ พญ.กันดาภา ฐานบัญชา สูตินรีแพทย์ รพ.บีแคร์ เมดิคอล เซ็นเตอร์

ปากช่องคลอดบวม

        อาการที่ปากช่องคลอดบริเวณด้านนอก มีลักษณะบวมแดง อักเสบ เป็นอาการที่คุณแม่จะเห็นและสัมผัส เรียกว่าปากช่องคลอดบวม ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการอยู่ในท่าเบ่งนาน ๆ ในช่วงที่รอคลอด หรือในช่วงที่ปากมดลูกเปิดแล้ว คุณแม่ต้องเบ่ง แต่เบ่งไม่ถูก เบ่งไม่แรง ทำให้เด็กออกมาไม่ได้ ทำให้ปากช่องคลอดโดนหัวเด็กดันอยู่นานเกินไป ดันไปมาแบบนี้ จึงทำให้มีเลือดไปคั่งอยู่บริเวณปากช่องคลอด ทำให้เกิดอาการบวม ช้ำ บางรายมีเลือดคั่งมากทำให้มีอาการชักและช็อกได้อีกด้วย

เบ่งคลอดให้ผ่านฉลุย

        รู้เช่นนี้แล้ว ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมารู้จักกับการเบ่งคลอดอย่างถูกต้อง เราเชื่อว่าการคลอดครั้งนี้จะกลายเป็นเรื่องกล้วย ๆ ได้อย่างแน่นอน หากคุณแม่มีความพร้อม และรู้จักการเบ่งคลอดที่ถูกต้อง ถูกจังหวะ ถูกเวลา เอาล่ะขอให้การขึ้นเขียงเอ๊ย!...ขึ้นเตียงคลอดครั้งนี้ผ่านฉลุยนะคะ...

ระยะก้าวหน้า

        ระยะนี้คือระยะที่เหนื่อยที่สุดของการคลอด เนื่องจากมดลูกจะมีการหดรัดตัวที่แรงและเร็วมาก ทุก 2-3 นาที และจะเจ็บท้องแข็งนาน 60-90 วินาที บางคนจะรู้สึกเหมือนกับว่าการแข็งตัวของมดลูกเกิดโดยไม่หยุดพัก การเปิดปากมดลูกในระยะนี้จะเร็วมาก เริ่มจาก 3 เซนติเมตร จนเปิดเต็มที่ ทำให้คุณแม่จะรู้สึกปวดที่บริเวณส่วนก้นหรือตุงที่ทวารหนัก บางครั้งจะมีอุจจาระออกมาโดยมิได้เบ่งถ่าย มีเหงื่อออกมาก รู้สึกร้อนสลับหนาว ปวดร้าวหน้าขามาก และรู้สึกไม่สุขสบาย มีอาการเกร็งสั่นโดยควบคุมไม่ได้ อาจจะมีอาการอาเจียน เวียนศีรษะ ร่วมด้วย

For Mom to do...

        อยู่นิ่ง ๆ รอเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ช่วยคลอดหรือผู้ดูแลจะบอกให้คุณเบ่งจึงค่อยเบ่งคลอด

ระยะที่สอง

        ระยะนี้เป็นระยะที่ปากมดลูกเปิดหมด และทารกเคลื่อนผ่านช่องทางคลอดมาจนถึงช่องคลอด และมองเห็นศีรษะได้ที่ปากช่องคลอด เพียงแต่ออกแรงเบ่งตามจังหวะการหดรัดตัวของมดลูก การคลอดก็จะเกิดขึ้นภายใน 10-30 นาที ความเจ็บปวดจะลดลงบ้าง แต่จะรู้สึกท้องตึงแข็งมากขึ้น และแทบจะไม่รู้สึกว่ามีการคลายตัวของมดลูกเลย บางคนจะรู้สึกคล้ายมีแรงผลักดันมากมายในช่องท้องและปวดตุงบริเวณทวารหนักหน้าท้องจะแข็งตึงตลอดเวลา มดลูกโก่งตัวสูง มูกเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น และเริ่มมองเห็นศีรษะของลูกตุงอยู่ที่ปากช่องคลอด

For Mom to do...


        ปรับท่านอนให้อยู่ในท่าที่พร้อมจะเบ่งคลอด บางโรงพยาบาลจะย้ายผู้คลอดเข้าห้องคลอด ให้นอนบนเตียงขาหยั่ง ช่วงนี้พอถึงเวลาเบ่งจงออกแรงเบ่งให้เต็มที่ เพื่อทารกจะได้ผ่านช่องคลอดโดยเร็ว แต่ควรจะเบ่งในเวลาที่ผู้เฝ้าคลอดบอกให้เบ่งและหยุดพักเบ่งตามคำแนะนำเพื่อจะได้ออมแรง

        ขณะที่ออกแรงเบ่ง จงอย่าร้อง อย่าดิ้น เพราะยิ่งดิ้นยิ่งร้องก็จะยิ่งเสียแรงเบ่ง ก่อนที่จะเบ่ง ให้สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มปอด ก้มหน้าคางชิดอก กางศอกออก แล้วก็เบ่งสุดชีวิต เวลาเบ่ง เบ่งเหมือนเบ่งอุจจาระ ห้ามมีเสียง ห้ามผ่อนลมออกปากออกจมูก เพราะการผ่อนลมออกจะทำให้เสียกำลัง และยังทำให้เสียสมาธิด้วย จงเบ่งให้ยาว เบ่งให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อสุดแรงเบ่ง หายใจเข้าลึก ๆ แล้วเบ่งซ้ำ

        ออกแรงเบ่งลงสู่ส่วนล่างให้เต็มแรงจนรู้สึกว่าไม่สามารถกลั้นลมหายใจได้อีก ทำเช่นนี้ทุกครั้งที่มดลูกแข็งตัว การสูดหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ ซ้ำ ๆ กัน หลาย ๆ ครั้งก่อนที่จะกลั้นหายใจเบ่งจะช่วยให้ปริมาณออกซิเจนมากพอสำหรับการกลั้นใจเบ่งคลอดในแต่ละครั้ง และช่วยไม่ให้ผู้คลอดเหนื่อยจนเกินไป วิธีที่ปลอดภัย คือ หายใจและเบ่งตามคำแนะนำของผู้เฝ้าคลอด

        ในการเบ่งคลอด ไม่ควรเกร็งหน้าขาและฝีเย็บ เพราะจะทำให้เกิดแรงต้านการเบ่งบริเวณปากช่องคลอด

        หลังจากแรงเบ่งสุดท้ายนี้ คุณแม่ก็คงจะได้ยินเสียง อุแว้อุแว้...ของลูกน้อยที่เพิ่งออกมาลืมตาดูโลก คราวนี้ก็ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องทิ้งความเจ็บปวด ความน่ากลัว และความกดดันต่าง ๆ ไว้ ถึงเวลาที่ต้องเตรียมรอยยิ้มหวาน ๆ ไว้ต้อนรับลูกของคุณแม่ได้แล้วค่ะ

ดูแลปากช่องคลอด

        หากมีอาการบวม ช้ำ หรือมีเลือดคั่งมาก ๆ ก็อาจจะต้องทำการเอาเลือดคั่งนั้นออกด้วยวิธีการผ่าตัด แต่หากเลือดคั่งไม่มาก คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อและยาลดอาการบวมแดง ร่วมกับการใช้โคมส่องไฟตรงแผลฝีเย็บความร้อนจากไฟจะทำให้อาการบวมอักเสบนั้นดีขึ้น และอาการบวมก็จะยุบลงไปได้เองค่ะ ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของคุณหมอนะคะ

Mom Experience

        "ดิฉันคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เจ็บท้องนานมาก ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเที่ยงวัน หมอบอกว่า ปากมดลูกยังเปิดไม่มากพอ แต่ช่วงที่หมอบอกให้เบ่ง ดิฉันพยายามเบ่งแต่ก็มีแรงไม่มากเพราะอดนอนข้ามวัน ข้ามคืน จนสุดท้ายคุณหมอต้องใช้วิธีบล็อกหลัง ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเจ็บท้องมากและพยายามที่จะเบ่งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและเริ่มมีน้ำไหลออกมา แต่ไม่แน่ใจว่า อาการน้ำเดินหรือปัสสาวะกันแน่ ตอนนั้นพยายามเบ่ง ๆ แต่คุณหมอก็บอกว่าไม่ให้เบ่ง แต่ด้วยความที่เจ็บมาก ทนไม่ไหวแล้ว เราก็เบ่งเรื่อย ๆ จนมาถึงช่วงสุดท้ายของการคลอด หมอบอกว่าเริ่มเห็นศีรษะลูกแล้ว สุดท้ายลูกก็คลอดออกมาอย่างปลอดภัย

        ขณะที่คุณหมอกำลังทำแผลฝีเย็บ ปากช่องคลอดดิฉันบวมมาก เนื่องจากเราเบ่งผิดเวลา ตอนนั้นยังคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรมากคงเป็นอาการบวมปกติ แต่พอกลับมาที่ห้องพักฟื้น เห็นแล้วตกใจมากค่ะ เพราะบวมมาก ๆ ซึ่งก็ต้องดูแลตัวเองไปอีกหลายวันจนกว่าอาการบวมและแผลจะหายเป็นปกติ"


              



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.18 No.208 กุมภาพันธ์ 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องต้องรู้ของการเบ่งคลอด อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2556 เวลา 14:44:44 9,015 อ่าน
TOP