x close

ระวัง...เยื่อบุตาลูกอักเสบ!

โรคเยื่อบุตาอักเสบ

ระวัง...เยื่อบุตาลูกอักเสบ!
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี

          หากลูกน้อยมีอาการตาแดง มีขี้ตาแฉะคันตา ขยี้ตาบ่อย ๆ อย่าวางใจนะคะ เพราะนี่คืออาการเริ่มแรกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดงที่อาจลุกลามทำให้กระจกตาอักเสบได้ค่ะ

เยื่อบุตาอักเสบ เป็นได้ง่าย ๆ

          เยื่อบุตาอักเสบ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อโรคตาแดง แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

         1.ชนิดติดเชื้อ จากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะติดต่อจากการสัมผัส โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งเริ่มหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวได้เองเชื้ออาจติดมากับมือ แล้วมาจับหน้า เอามือเข้าปากหรือเอามือขยี้ตาทำให้ได้รับเชื้อ เป็นสาเหตุที่เด็กเป็นโรคตาแดงง่ายและเป็นมากกว่าผู้ใหญ่ค่ะ

         2.ชนิดไม่ติดเชื้อ อาจเกิดจากการที่ลูกน้อยมีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคภูมิแพ้ มีอาการคันตาทำให้ขยี้ตาบ่อย ๆ จนเกิดการอักเสบและติดเชื้อตามมาภายหลัง หรืออาจจะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในเปลือกตา เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการแพ้ยา ทำให้มีการระคายเคือง เผลอขยี้ตา จนเปลือกตาถลอก และเกิดการอักเสบติดเชื้อได้

เบบี้เป็นแล้วรุนแรง

          ในเด็กแรกเกิดหรือวัย 1 เดือน ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้จากตอนคลอด คือแม่อาจมีเชื้ออยู่ที่ช่องคลอด ขณะลูกผ่านช่องคลอดออกมาจึงติดเชื้อ แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะก่อนคลอดคุณแม่ต้องทำการตรวจสุขภาพตามระยะเวลาที่แพทย์นัดตลอด หากพบว่ามีเชื้อก็ต้องรักษาให้หายก่อนคลอด

          ถ้าทารกเกิดการติดเชื้อระหว่างคลอด นอกจากจะส่งผลทำให้เป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบแล้ว อาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงอื่น ๆ ได้ เพราะทารกแรกเกิดภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง เมื่อได้รับเชื้อมาแล้วอาจ แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระจายไปสู่สมอง ทำให้เกิดเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ถ้าไปสู่ปอดก็อาจจะทำให้เป็นปอดอักเสบในกรณีที่รุนแรงจริง ๆ ที่ได้รับเชื้อบางอย่างอาจจะลุกลามไปที่กระจกตา และทำให้เกิดการตาบอดตั้งแต่กำเนิดได้ค่ะ

เมื่อลูกเป็นเยื่อบุตาอักเสบ

          คันตา ขยี้ตาบ่อย

          อยู่ ๆ ก็มีอาการตาแดง เปลือกตาบวมแดง

          มีขี้ตาแฉะ เยิ้ม ๆ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะมีสีเหลืองอมเขียว

          ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล

          ตาพร่ามัว (ถ้าลูกน้อยบอกได้)

การรักษาเยื่อบุตาอักเสบ

          คุณแม่ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าเป็นเยื่อบุตาอักเสบชนิดไหน ได้รับเชื้ออะไรมา ถ้าได้รับเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้บ่อย จะรักษาด้วยการใช้ยาหยอดตาเพื่อทำการฆ่าเชื้อ และคอยประคบเย็น เพื่อลดอาการบวมของเปลือกตา ให้รู้สึกสบายตามากขึ้น ประคบครั้งละ 5-10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ประมาณ 5-6 วันอาการจะดีขึ้น

          แต่บางคนอาจจะมีอาการรุนแรง คือเป็นเรื้อรัง 3-4 สัปดาห์ก็ยังไม่หาย โดยเฉพาะถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสลุกลามเกิดการอักเสบไปที่กระจกตาดำร่วมด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบเดือนกว่าอาการถึงจะดีขึ้น

          แม้ไม่ใช่โรคที่รุนแรงอะไรนัก แต่ถ้าเป็นนาน ๆ จะส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยได้เด็ก ๆ จะรู้สึกรำคาญ มองอะไรไม่ค่อยชัดเพราะตาพร่ามัว จะหยิบจับหรือเล่นอะไรก็ไม่ค่อยถนัดไม่ยอมกินข้าว ทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิดได้ง่าย ๆ

          หากเกิดจากเชื้อไวรัส ต้องรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง และต้องพาลูกไปตรวจอาการอยู่เรื่อย ๆ การรักษาอาจใช้วิธีหยอดน้ำตาเทียม ควบคู่กับการประคบเย็นลดอาการบวม ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรักษาเสริมควบคู่กันไป

          ในรายที่มีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อไปยังกระจกตาดำ ต้องใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ร่วมด้วยจนกว่าอาการจะดีขึ้น ที่สำคัญต้องคอยทำความสะอาดตาอย่างถูกวิธีด้วยค่ะ

          วิธีทำความสะอาดตา ถ้าลูกน้อยมีน้ำตาหรือขี้ตาควรใช้สำลีชุบน้ำหรือใช้ทิชชูเช็ดเบา ๆ เช็ดแล้วทิ้งเลย ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะเป็นวิธีการช่วยป้องกันการติดต่อได้

ป้องกันก่อนอาการลุกลาม

          ทารกแรกเกิด วิธีการป้องกันคือ เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้วจะป้ายขี้ผึ้งที่ตาของทารกทุกคน เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ เมื่อกลับบ้านแล้วคุณแม่ต้องคอยสังเกต ถ้าหากลูกน้อยมีอาการตาแดงผิดปกติให้รีบพามาพบแพทย์ทันที

          ในเด็กวัยซน ให้ล้างมือบ่อย ๆ ออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง

          ที่สำคัญ ถ้าหากคนในบ้านหรือเพื่อนที่โรงเรียนมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ต้องแยกลูกของเราออกมาก่อน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน และคอยสังเกตถ้าลูกมีอาการผิดปกติให้รีบพามาพบแพทย์ค่ะ

          ให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้ เพื่อลูกน้อยจะมีดวงตาใสปิ๊งพร้อมเรียนรู้เรื่องดี ๆ ที่อยู่รอบตัวค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 359 ธันวาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง...เยื่อบุตาลูกอักเสบ! อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2556 เวลา 18:05:49 127,627 อ่าน
TOP