x close

เกร็ดความรู้ กับกลไก น้ำนมพุ่ง

นมแม่

น้ำนมพุ่ง Milk Ejection Reflex
(รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว

          คุณแม่ที่น้ำนมเยอะ น้ำนมไหลออกมาได้ดี ย่อมส่งผลดีต่อการให้ลูกดื่มกิน แต่ถ้าน้ำนมไหลออกมาแล้วพุ่งแรง จนเป็นเหตุให้ลูกน้อยสำลัก อาการนี้เรียกว่า Milk Ejection Reflex ค่ะ

          Milk Ejection Reflex (MER) หรือ กลไกน้ำนมพุ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเมื่อลูกน้อยดูดนมแม่ ทำให้มีการกระตุ้นการบีบรัดตัวของท่อน้ำนม เพื่อให้มีน้ำนมไหลออกมา ซึ่งคุณแม่บางคนมีความรู้สึกไวต่อกลไกน้ำนมพุ่ง จึงรู้สึกเจ็บที่เต้านมก่อนน้ำนมไหล หรือน้ำนมพุ่งออกมา และอาจทำให้ลูกเกิดการสำสักระหว่างให้นม จนทำให้ตกใจก็ได้ค่ะ

เมื่อท่อน้ำนมถูกกระตุ้น


          ปกติแล้วกลไกน้ำนมพุ่งนี้จะถูกกระตุ้นเวลาที่ลูกดูดเต้านม ซึ่งคุณแม่แต่ละคนจะมีความรู้สึกไวต่อกลไกนี้แตกต่างกัน โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับขนาดและลักษณะของเต้านมนะคะ

          ปัจจัยหลักที่ทำให้คุณแม่รู้สึกถึงกลไกน้ำนมพุ่ง มาจากการที่น้ำนมที่เต็มเต้า ถูกกระตุ้นด้วยเสียงลูก หรือการสัมผัสที่เต้านมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หัวนมค่ะ ฮอร์โมน oxytocin ที่เป็นฮอร์โมนของการบีบรัดตัวของท่อน้ำนมจะทำงาน ทำให้เกิดอาการน้ำนมพุ่งได้ คุณแม่ที่มีความรู้สึกไว ท่อน้ำนมจะเกิดการบีบรัดตัวค่อนข้างมาก อาจทำให้เจ็บที่เต้านมได้ เมื่อน้ำนมถูกระบายออก หรือมีการประคบเต้านมด้วยน้ำอุ่น อาการเจ็บก็จะหายไปค่ะ

Milk Ejection Reflex ดีต่อการให้นม

          กลไกน้ำนมพุ่ง เป็นสิ่งจำเป็นต่อการให้นมลูก ช่วยให้ท่อน้ำนมบีบรัดตัว ไล่น้ำนมและไขมันที่มีประโยชน์ที่เก็บไว้ในต่อมน้ำนมออกมาให้ลูกได้กิน เวลาที่ลูกดูด กระเปาะน้ำนมที่อยู่ในเต้านมจะถูกรีดน้ำนมออกมาที่ท่อน้ำนมและไหลเข้าปากลูก จึงเกิดเป็นกระบวนการไหลของน้ำนมจากแม่ไปสู่ลูก

          การที่มีน้ำนมไหลออกช่วยให้มีการผลิตน้ำนมได้มากขึ้น สมองจะสั่งการให้ผลิตน้ำนมมาทดแทนน้ำนมที่ไหลออกไป เกิดการเร่งผลิตน้ำนมให้เพิ่มมากขึ้น หากลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า สมองจะรับข้อมูลปริมาณน้ำนมที่ใช้ไป ทำให้ปริมาณของน้ำนมจะถูกปรับลงมาให้น้อยลง ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอเมื่อลูกเติบโตและต้องการกินนมในปริมาณมากขึ้น

          ดังนั้น ควรให้ลูกกินนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อน้ำนมจะได้ถูกขับออกมาหมด และทำการผลิตใหม่อย่างเต็มที่

รู้ได้อย่างไรว่ากลไกน้ำนมพุ่งทำงานได้ดี

          เวลาที่ลูกกินนมเสร็จ จะรู้สึกว่าเต้านมเบา ไม่คัดตึง ซึ่งการให้ลูกดูดนมในท่าที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ การให้ลูกอมหัวนมให้ลึกและเต็มปาก ลิ้นของลูกจะรีดน้ำนมออกได้หมด กลไกน้ำนมพุ่งก็จะทำงานได้ดีค่ะ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเต้านมเบาหรือเปล่า ให้สังเกตในขณะที่ลูกกินนม ลูกจะมีจังหวะดูดนมและกลืนสม่ำเสมอ คางของลูกจะยืดลงในจังหวะการกลืนนม เพียงเท่านี้ก็แสดงว่ากลไกน้ำนมพุ่งทำงานได้ดีแล้วค่ะ

หากมีกลไกน้ำนมพุ่งมากเกินไป

          คุณแม่ที่มีกลไกน้ำนมพุ่งมากเกินไป ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงอาทิตย์ที่ 2-3 ของการให้นม เพราะมีการผลิตน้ำนมในปริมาณมาก ทำให้เวลาที่ลูกดูดนมจึงเกิดอาการน้ำนมพุ่งเร็วจนทำให้ลูกตกใจ หายใจไม่ทัน ดังนั้น ท่าที่ให้ลูกกินนมควรปฏิบัติดังนี้

          ควรเปลี่ยนมาเป็นท่าที่หัวสูงกว่าก้น ไม่ควรให้ลูกกินนมในท่านอนราบค่ะ

          คุณแม่เอนตัวไปข้างหลังแล้วให้ลูกอยู่บนตัวแม่

          พยายามให้ลูกอมเต้านมให้ลึก จะทำให้กลืนน้ำนมได้เร็วขึ้น

          หากลูกมีอาการหายใจไม่ทันเหมือนจะสำลัก ควรให้ลูกหยุดพักกินนมเป็นช่วง ๆ ก่อน เพื่อจะได้ไม่เหนื่อยมากเกินไป

          คุณแม่ที่มีอาการน้ำนมพุ่งแรงไม่ต้องกังวลใจนะคะ ควรให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ เพื่อน้ำนมจะได้ถูกระบายออก ไม่คัดเต้า ช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ แต่ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ลูกจะเริ่มเติบโตขึ้น เรียนรู้ที่จะดูดนมมากขึ้น และดูดนมอย่างถูกวิธี อาการน้ำนมพุ่งก็จะลดลงไป แต่ไม่ควรหยุดให้ลูกกินนมจากเต้าเป็นอันขาดค่ะ

ดูแลตัวเองก่อนน้ำนมพุ่ง

          ช่วงแรก ๆ ที่น้ำนมออกปริมาณมาก แล้วแม่ต้องออกไปข้างนอก ควรป้องกันน้ำนมพุ่งโดยการใช้แผ่นซับน้ำนม และเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมบ่อย ๆ หากมีอาการเจ็บตึงเต้านมมาก ๆ ควรบีบน้ำนมออกก่อน เพื่อให้อาการคัดเต้านมเบาลงค่ะ

จำเป็นต้องปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าไหม?

          ถ้าเป็นแม่ที่อยู่กับลูกตลอดเวลาก็ไม่จำเป็นต้องปั๊มนม เพราะการให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ร่างกายจะปรับน้ำนมให้เพียงพอต่อความต้องการของลูก แต่ถ้าเป็นแม่ที่ต้องทำงาน ก็สามารถปั๊มน้ำนมได้ โดยปั๊มนมประมาณ 2-3 เท่าที่ลูกกินปกติ เพราะน้ำนมที่สดใหม่จากเต้านม จะดีกว่าน้ำนมที่เก็บค้างไว้ค่ะ


            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 358 พฤศจิกายน 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดความรู้ กับกลไก น้ำนมพุ่ง อัปเดตล่าสุด 6 ธันวาคม 2555 เวลา 14:40:03 14,852 อ่าน
TOP