x close

ตกเลือดเสี่ยง ชีแฮน ซินโดรม



          คุณแม่ที่ตกเลือดในปริมาณมากขณะคลอดหรือหลังคลอด จนทำให้ต่อมใต้สมอง ที่คอยหลั่งฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์บางตำแหน่งขาดเลือดและเซลล์ตายถาวร ตำแหน่งเหล่านั้นไม่สามารถทำงานตามปกติในการหลั่งฮอร์โมนไปควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ได้อีก จึงเกิดอาการตามตำแหน่งที่ขาดเลือด เช่น น้ำนมไม่ออก อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ล้วนเป็นอาการของภาวะชีแฮน ซินโดรมค่ะ

          คุณแม่ที่เป็น Sheehan’s syndrome ต้องการให้ลูกกินนมแม่สามารถให้ได้ตามปกติ เพราะฮอร์โมนที่ใช้รักษาส่วนใหญ่จะเป็นสเตียรอยด์และฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งคุณแม่จะได้รับในปริมาณไม่มากและผ่านน้ำนมได้น้อยมาก

ชีแฮน ซินโดรม ต้นเหตุจากต่อมใต้สมอง

          เรามีต่อมใต้สมองหรือพิทูอิทารี แกลนด์ (Pituitary Gland) ที่จะหลั่งฮอร์โมนออกมาควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ควบคุมให้รังไข่หลั่งฮอร์โมนเพื่อไปควบคุมให้เยื่อบุโพรงมดลูก หรือควบคุมให้เต้านมหลั่งฮอร์โมนให้มีน้ำนมออกมาหลังคลอด ต่อมใต้สมองจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานสมดุล แต่หากต่อมใต้สมองถูกทำลายหรือทำงานผิดปกติไปจากเดิม จะทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งภาวะที่ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติจากการเสียเลือดรุนแรงจนขาดเลือดมาเลี้ยงที่ต่อมใต้สมอง และเกิดการตายของเซลล์ บางตำแหน่งของต่อมใต้สมอง เรียกว่า ชีแอน ซินโดรม

          ชีแฮน ซินโดรม ในคุณแม่หลังคลอด ส่วนใหญ่จะเกิดจากตกเลือดรุนแรงระหว่างคลอด คุณแม่จะเสียเลือดประมาณ 800-1000 CC ขึ้นไป ซึ่งการตกเลือดในปริมาณมากทำให้เลือดไปเลี้ยงต่อมใต้สมองไม่เพียงพอ เกิดการตายถาวรของเนื้อบริเวณต่อมใต้สมอง ส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนไปควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง ระบบในร่างกายก็จะทำงานผิดปกติ ซึ่งคุณแม่บางคนจะมีผลกระทบหลังคลอด หรือไม่ก็ผ่านไปแล้วเป็นปี จึงจะทราบว่าตัวเองมีภาวะซีแฮน ซินโดรมค่ะ

สังเกตอาการชีแฮน ซินโดรม

          ชีแฮน ซินโดรม เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมองทำให้การแสดงอาการจะเกิดขึ้นกับอวัยวะที่อาศัยการควบคุมจากต่อมใต้สมอง โดยที่แต่ละคนจะแสดงอาการไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการตกเลือดที่จะกระทบต่อต่อมใต้สมองว่ามากน้อยแค่ไหน โดยจะมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้ค่ะ

             1.ไม่มีน้ำนม คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำนมออกมาในวันแรก แต่จะมีอาการคัดที่เต้านม ซึ่งภาวะชีแฮน ซินโดรม ทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกคัดที่เต้านม กระตุ้นน้ำนมเท่าไรก็ไม่ออกมาเลย

             2.ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมระบบการเผาผลาญในร่างกายได้ คุณแม่จะรู้สึกหนาว ผิวแห้ง ผมแห้งการเผาผลาญมีน้อยทำให้อ้วนง่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คิดไม่ค่อยออก พูดช้า ๆ

             3.รังไข่ไม่สร้างฮอร์โมน ทำให้ขนาดของหน้าอกลดลง ช่องคลอดแห้ง อารมณ์ทางเพศหายไป ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ อารมณ์ทางเพศหายไปหรือลดลง

             4.ต่อมหมวกไตมีปัญหา ต่อมหมวกไตจะทำหน้าที่หลั่งสารคอร์ติชอลเพื่อช่วยร่างกายในการปรับตัวรับกับภาวะเครียดที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ทำให้เราอดทนต่อภาวะเครียดได้ เช่น ทำให้น้ำตาลและความดันสูงขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นลมหรือช็อกง่าย ๆ แต่เมื่อต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ แล้วเวลาเจอภาวะเครียดจะตอบสนองไม่ทัน เกิดอารมณ์แปรปรวน อาการปวดหลังไม่สบายตัว ไม่สดชื่น เหนื่อยทั้งวัน และหากต่อมหมวกไตต้องทำงานหนักเรื่อย ๆ จนเกิดภาวะวิกฤติ เมื่อเจอกับภาวะเครียดรุนแรงก็อาจช็อกได้เลยนะคะ

             5.ผลิตโกรว์ทฮอร์โมนไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำงานออกแรงได้เหมือนเดิม

การตั้งครรภ์เสี่ยงตกเลือด


          คุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรงและไม่มีปัญหาในการตั้งครรภ์ มักจะไม่มีการตกเลือดระหว่างคลอด แต่ถ้าคุณแม่จัดอยู่ใน 5 ประเภทนี้ ต้องระวังการตกเลือดนะคะ

          1.ตั้งครรภ์แฝดตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป

          2.รกเกาะต่ำ

          3.รกลอกตัวก่อนกำหนด

          4.มีปัญหาบาดเจ็บตอนคลอด เช่น มีการฉีกขาดของช่องคลอด

          5.เจ็บท้องก่อนกำหนดมาตลอดการตั้งครรภ์ ทำให้มดลูกมีการบีบตัวมาโดยตลอด และต้องใช้ยาช่วยยับยั้งการหดตัวของมดลูกมาตลอดการตั้งครรภ์

รักษาภาวะชีแฮน ซินโดรม

          คุณหมอจะรักษาโดยการตรวจเลือดดูว่าขายฮอร์โมนตัวไหน ก็จะให้กินฮอร์โมนตัวนั้นทดแทนไป โดยคุณแม่ต้องกินฮอร์โมนไปตลอดชีวิต วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดค่ะ

          สำหรับคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกกินนมแม่ สามารถให้กินได้ตามปกติ เพราะฮอร์โมนที่ใช้รักษาส่วนใหญ่จะเป็นสเตียรอยด์ และฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งคุณแม่จะได้รับในปริมาณไม่มากและผ่านน้ำนมได้น้อยมาก ยกเว้นกรณีที่ได้รับฮอร์โมนปริมาณมากเป็นเวลาติดต่อกันนาน ๆ ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ แต่มีวิธีที่จะทำให้ยาไปถึงลูกให้น้อยที่สุดด้วยการกินยาหลังจากให้นมลูกในแต่ละมื้อ เพราะกว่าจะถึงการให้นมมื้อต่อไป ยาก็จะหมดฤทธิ์ในร่างกายแล้ว ไม่ส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก

          ถ้าคุณแม่ได้รับยาที่มีฤทธิ์ส่งผ่านไปทางน้ำนมได้ ก็ควรหยุดให้นมแม่ชั่วคราว ระหว่างนี้อาจจะต้องให้ลูกกินนมผงจากถ้วย (cup feeding) เพื่อลดปัญหาการติดจุกนมจากการดูดขวด เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่สามารถหยุดกินยาหรือฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ทางน้ำนมได้แล้ว คุณแม่ก็จะกลับมาให้นมลูกได้เหมือนเดิมค่ะ

          ถึงแม้ภาวะชีแอน ซินโดรม จะพบได้น้อยในคุณแม่หลังคลอด แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการดังกล่าว ในขั้นตอนของการรักษาก็ควรจะแจ้งกับคุณหมอด้วยว่าเคยมีประวัติการตกเลือดขณะคลอด เพื่อคุณหมอจะได้วินิจฉัยโรคได้เร็วและรักษาได้อย่างถูกวิธีค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 357 ตุลาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตกเลือดเสี่ยง ชีแฮน ซินโดรม อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2559 เวลา 11:17:03 4,790 อ่าน
TOP