x close

พัฒนาการตามวัยลูกเลิฟ

แม่และเด็ก

พัฒนาการตามวัยลูกเลิฟ (M&C แม่และเด็ก)


         คุณแม่มือใหม่ถอดด้าม แถมยังไม่เคยมีเด็กเล็ก ๆ ในบ้านมาก่อน อาจคาดไม่ถึงว่า เด็กตั้งแต่แรกคลอดออกมา มีการพัฒนาเป็นขั้นตอนอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งไม่มีอะไรน่าชื่นใจเท่ากับการเฝ้ามองดูลูกน้อยมีพัฒนาการเก่งขึ้นเรื่อย ๆ และน่ารักน่าชังสมวัย ถ้าอยากรู้ว่าวัยไหนที่ลูกจะมีพัฒนาการถึงขั้นใด และมีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไรจนถึงขวบปีแรกนั้น ลองมาดูกันค่ะ

เบบี๋แรกเกิด

         เมื่อแรกคลอดนั้นเด็กทุกคนจะเริ่มพัฒนาจากการใช้ศีรษะก่อน สังเกตง่าย ๆ ได้ว่า มีปฏิกิริยาหนึ่งที่เป็นสัญชาตญาณเลยก็คือ ถ้ามีอะไรมากระทบกระเทือนหรือแตะที่แก้มของลูกนั้น เขาก็จะหันไปดูดเลย เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นหัวนมของแม่ การเคลื่อนไหวศีรษะจึงดีกว่าส่วนอื่นของร่างกาย ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของเด็กเอง คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง ถ้าอยากให้ลูกหันมาดูดนมเราเพียงเอานิ้วเขี่ย ๆ ที่แก้มเขาก็จะหันมาดูดนมทันทีเลยค่ะ

เรื่องของการมองเห็น

         คุณแม่มือให้หลายคนอาจสงสัยว่า เมื่อลูกคลอดออกมาใหม่ ๆ เขาจะมองเห็นอะไรหรือยัง ก็ต้องตอบชัด ๆ ว่า การเห็นของเด็กจะค่อย ๆ พัฒนาช้า ๆ เมื่อคลอดใหม่ ๆ นั้น ลูกจะแยกได้เฉพาะความมืดและความสว่าง ต่อมาพออายุสัก 2-3 สัปดาห์ ลูกจะเริ่มมองเห็นสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ และเมื่ออายุ 1-2 เดือน เขาจะมองเห็นและจำหน้าคนได้บ้างแล้ว โดยเฉพาะหน้าคุณแม่ ต่อมาเมื่ออายุ 3 เดือน ลูกจะมองไปรอบ ๆ ทุกทิศ โดยอาจจะยังควบคุมการทำงานของตาทั้งสองข้างไม่ดีนัก บางครั้งจะดูว่ามีลักษณะตาเข เมื่อโตขึ้นอีกนิดก็จะหายได้เองค่ะ

หลับแล้วชอบยิ้ม

         หลังคลอดถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าบางครั้งขณะที่ลูกหลับเขายิ้มคนเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วยิ้มแบบนี้ถือว่ายังไม่ได้เกิดจากอารมณ์ของเขา และยังไม่ใช่เป็นการเล่นกับแม่ซื้อตามความเชื่อโบร่ำโบราณ แต่เป็นการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าเท่านั้น การยิ้มอย่างมีความหมายจะเริ่มเมื่อลูกอายุครบ 1-2 เดือน ซึ่งเราคงจะตื่นเต้นดีใจเป็นที่สุดกับรอยยิ้มครั้งแรกของลูก

เริ่มกลัวคนแปลกหน้า

         เมื่อลูกน้อยเริ่มมองเห็นและแยกแยะใบหน้าของผู้คนได้ คุณแม่อาจสงสัยว่า เมื่อไรที่ลูกจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า ตามตำราว่าไว้เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน เขาจะยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อคนแปลกหน้า เพียงแค่มองดูเฉย ๆ แต่พออายุประมาณ 3 เดือน เด็กมักยิ้มให้คนแปลกหน้าโดยไม่กลัวเลย ทีนี้มาถึงอายุ 5 เดือนนี่สิคะ เด็กจะมีปฏิกิริยากลัวคนแปลกหน้าเห็นแล้วร้องไห้จ้าเลย เพราะระยะนี้ เด็กมีความอ่อนไหวมาก หากลูกมีอาการกลัวคนแปลกหน้าหรือสิ่งของบางอย่างก็ให้พยายามหลีกเลี่ยงเสียจะดีกว่าค่ะ

พลิกคว่ำพลิกหงาย

         พัฒนาการต่อมาคือการพลิกคว่ำ ซึ่งไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวว่า กี่เดือนลูกจะพลิกคว่ำหรือพลิกหงายได้ (โดยทั่วไปเด็กมักจะทำได้เมื่ออายุประมาณ 4 เดือน) พอเริ่มพลิกคว่ำได้ เขาก็จะเห่อมากขยันพลิกคว่ำพลิกหงายอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเราต้องคอยระวังเรื่องการตกเตียง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ค่ะ ควรหาอะไรมากั้นให้ดีอย่าชะล่าใจว่า เอาลูกไว้กลางเตียงที่แสนกว้างใหญ่แล้ว จะไม่เป็นอะไร

นั่งได้ด้วยตัวเอง

         ขั้นต่อไปคือการนั่ง เด็กมักนั่งตัวตรง ๆ ได้เองเมื่ออายุประมาณ 7-9 เดือน ซึ่งเขาจะตื่นเต้นมาก อย่างไรก็ตามในบางครั้งนั่ง ๆ อยู่เขาอาจจะเมื่อย เพลียล้มตึงเอาดื้อ ๆ ก็ได้ เพื่อความปลอดภัยควรให้นั่งบนเตียงหรือเบาะนุ่ม ๆ ไปก่อนในระยะแรก ๆ

คลานสำรวจโลก

         เมื่อนั่งได้แล้วมักตามด้วยการคลาน (ประมาณ 8-9 เดือน) จริง ๆ ลูกอาจหัดคลานมาตั้งแต่อายุ 6 เดือนแล้ว การคลานเป็นพัฒนาการที่ยากสำหรับเด็ก เพราะต้องใช้การประสานงานของกล้ามเนื้อหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราสังเกตดี ๆ ท่าคลานของเด็กแต่ละคนก็มีลักษณะแตกต่างกันออกไป สำหรับเด็กที่ไม่คลาน เขาอาจมีพัฒนาการข้ามขั้นไปหัดเดินเอาเลยก็พบบ่อย ๆ ค่ะ

ขวบปีแรก ตั้งไข่ ยืน ก้าวเดิน

         สำหรับการยืนนั้นเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งที่เด็กแต่ละคนทำได้เมื่ออายุแตกต่างกันไป บางคนหัดยืนตั้งแต่ 9 เดือน บางคน 1 ขวบยังไม่ยืน แต่ก็ไม่ได้มีผลเสียหายแต่อย่างใด ต่อจากการยืนก็มาถึงการเดิน เด็กบางคนเชื่อไหมคะ 9 เดือนก็เดินได้เองแล้ว แต่จริง ๆ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เดินได้คือเดือนที่ 12 ถึง 15 แล้วแต่สภาวะของเด็กแต่ละคน เช่น น้ำหนักตัว
ประสบการณ์ที่เคยหกล้ม โรคภัยของเด็ก ฯลฯ

         การหัดให้ลูกเดินเป็นเรื่องที่สนุกและน่าจดจำ เขาจะเริ่มจากจับมือเรา 2 มือเดินไป ถ้ากำลังเห่อจะร้องให้ช่วยจับมือเดินทั้งวันเลยค่ะ ต่อมาจะปล่อยมือและจะจับมือคุณแม่มือเดียว แล้วตามด้วยไม่จับมือเลย โดยเดินได้ระยะทางสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ยาวขึ้น ช่วงนี้เขาจะหัดเดินมาก และจะตื่นเต้นดีใจถ้าสามารถเดินได้ด้วยตนเอง ก็คล้าย ๆ กับที่เราหัดปั่นจักรยาน หรือขับรถยนต์นั่นล่ะค่ะ แรก ๆ ก็จะหัดทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีเบื่อเลย



            
     
 คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 35 ฉบับที่ 487 กันยายน 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พัฒนาการตามวัยลูกเลิฟ อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2557 เวลา 11:23:47 3,692 อ่าน
TOP