x close

กลิ่นบำบัดกับคุณแม่ตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

กลิ่นบำบัดกับคุณแม่ตั้งครรภ์
(Mother&Care)

           การใช้กลิ่นบำบัด(Aromatherapy) เป็นการบำบัดอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อการผ่อนคลาย บรรเทาอาการต่าง ๆ ซึ่งการใช้กลิ่นบำบัดมีทั้งประโยชน์และข้อควรระวัง ที่คุณแม่ควรรู้ก่อนเลือกใช้ค่ะ

การใช้ "กลิ่นบำบัด"

           ปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยที่สกัดกลิ่นมาจากดอก ใบ หรือผลของสมุนไพรและพืช มีให้เลือกใช้หลายกลิ่น ซึ่งแต่ละกลิ่นจะให้ผลในการบำบัดที่แตกต่างกันไป สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ชอบกลิ่นหอม ๆ ของธรรมชาติ ก็ต้องระวังในการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย เพราะบางกลิ่นอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่หรือลูกได้ ดังนั้น ก่อนเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยจึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ข้อควรระวังในการใช้กลิ่นบำบัดคือ ห้ามใช้ในระหว่าง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างตัว ซึ่งน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดมีกลิ่นฉุนแรง และบางชนิดมีฤทธิ์เป็นกรด อาจไปกระตุ้นให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้ และหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว เพื่อความปลอดภัยก็ควรดูด้วยว่ากลิ่นใดสามารถใช้ได้บ้างในช่วงอายุครรภ์นั้น

           ทั้งนี้ น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติมักมีกลิ่นและการออกฤทธิ์ที่ค่อนข้างเข้มข้น เมื่อต้องการใช้บำบัดโดยการสูดดมหรือถูนวดตามร่างกาย จึงควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป และทำให้เจือจางก่อน เนื่องจากน้ำมันหลายชนิดอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดที่ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหย (แม้จะเจือจางแล้ว) เพราะจะทำให้นัยน์ตาและผิวของทารกระคายเคืองได้

กลิ่นไหนใช้ได้บ้าง?


           น้ำมันหอมระเหยที่สามารถใช้ได้ในระหว่างตั้งครรภ์นั้นมักใช้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ ก่อนจะเลือกใช้กลิ่นใด ควรศึกษาสรรพคุณและทดสอบว่าแพ้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นหรือไม่ เพราะร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อสารเคมีที่แตกต่างกัน

           กลิ่นมะกรูด มะนาว ส้ม จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และช่วยเพิ่มชีวิตชีวาได้ ถ้าใช้นวดจะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

           กลิ่นลาเวนเดอร์ ลดอาการปวดศีรษะทำให้สงบและผ่อนคลายถ้าใช้นวดจะช่วยให้นอนหลับสบายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ทำงานหนัก

           กลิ่นไม้แก่นจันทน์ ช่วยผ่อนคลายจิตใจให้สงบ ให้ความชุ่มชื้นต่อผิวหนัง

           กลิ่นทีทรี (tea tree) ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา รักษาแผลติดเชื้อ (เริม)

           กลิ่นยูคาลิปตัส หยดบนผ้าหรือสำลีเพื่อสูดดม แก้ไอ แก้อาการหวัด หรือแพ้อากาศได้ (มักพบในยาดม) และยังช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดการบวมของเยื่อจมูก

           กลิ่นดอกมะลิ ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายตื่นตัวไม่หดหู่เศร้าหมอง และลดอาการเต้านมคัดในคุณแม่หลังคลอด

น้ำมันหอมระเหยที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังในการใช้ มีดังนี้

           กลิ่นโหระพา (Basil Oil) ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ให้นมบุตรและผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองต่อผิวหนังได้ง่าย

           กลิ่นคาโมไมล์ ถึงแม้จะช่วยลดการอักเสบ คลายเครียด และบรรเทาอาการปวดก่อนประจำเดือนหรือในวัยใกล้หมดประจำเดือนได้ แต่ก็สามารถทำให้ผิวหนังอักเสบได้ง่าย รวมถึงห้ามใช้ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก

           กลิ่นโรสแมรี่ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ผู้ที่เป็นความดันสูงหรือลมชัก และระมัดระวังการระคายเคืองต่อผิวหนัง      

น้ำมันหอมระเหยใช้อย่างไร?


           การใช้น้ำมันหอมระเหยต้องใช้ในระดับความเข้มข้นต่ำและห้ามใช้โดยตรงต้องทำให้เจือจางก่อนซึ่งการใช้น้ำมันหอมระเหยสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

           ไม่ควรให้น้ำมันหอมระเหยสัมผัสกับผิวโดยตรง เพราะจะทำให้แสบร้อนได้ ควรทำให้เจือจางก่อน โดยผสมกับน้ำมันชนิดอื่น เช่น น้ำมันพื้นฐาน (Carrier Oil) น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันอัลมอนด์ เบบี้ออยล์ เป็นต้น

           ใช้ผสมน้ำอาบ โดยหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าหรือฟองน้ำถูตัวที่เปียกน้ำหมาด ๆ แล้วถูตัวหรือผสมในอ่างอาบน้ำ โดยหญิงตั้งครรภ์ควรผสมน้ำมันหอมระเหยไม่เกิน 4 หยดลงในอ่างน้ำอุ่นไว้ แช่ประมาณ 10-15 นาที ระหว่างนี้พยายามผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจให้มากที่สุด

           การนวดน้ำมันหอมระเหยควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยหยดลงบนฝ่ามือ 2-3 หยด ถูฝ่ามือไปมาเพื่อให้น้ำมันติดมือทั้งสองข้าง แล้วค่อยลงมือนวด หรือผสมน้ำมันหอมระเหย 3-4 หยด ลงในน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น แล้วใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำบิดหมาด ๆ ประคบบริเวณที่ปวด เช่น บริเวณหลัง เป็นต้น

           การสูดดมกลิ่น ต้องนำน้ำมันหอมระเหยมาผสมให้เจือจาง โดยหยดลงบนกระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้าหรือสำลี 2-3 หยด หรือจุดในตะเกียง

           หากไอระเหยจากน้ำมันเข้าตาหรือรู้สึกแสบตา ให้ล้างตาด้วยน้ำอุ่น และล้างมือ ล้างเล็บให้สะอาด หลังใช้ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผิวหนังระคายเคืองจากน้ำมันที่ตกค้างอยู่
 
                 

            



ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลิ่นบำบัดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 4 ตุลาคม 2555 เวลา 14:31:48 5,316 อ่าน
TOP