x close

จะทำอย่างไร เมื่อเจ้าหนูอารมณ์ร้ายชอบทุบตี - กัด

แม่และเด็ก



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          คุณพ่อคุณแม่ที่ยังมีลูกเล็ก ๆ เคยสังเกตพฤติกรรมของเขาดูบ้างไหมคะ ว่าเจ้าตัวดีของคุณดูเป็นคนโมโหง่ายหรือเปล่า ถ้าเขาชอบกัด ข่วน จิก ทึ้งผม หรือว่าทุบตีคนอื่น ๆ ยามที่ไม่ได้ดังใจ พฤติกรรมแบบนี้จะปล่อยเอาไว้ไม่ได้ จำเป็นต้องแก้ไขกันตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วล่ะค่ะ ซึ่งในช่วงเริ่มแรกคุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าตัวเล็กก่อนได้ด้วยตัวเอง ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ดูนะคะ

ใช้ภาษามือ

          หากเจ้าหนูยังอยู่ในวัยเตาะแตะที่ยังพูดไม่ได้ การสื่อสารเรื่องอารมณ์และความต้องการจึงเป็นปัญหา จนอาจทำให้เขาหงุดหงิดได้ง่าย ลองสอนภาษามือเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันให้เขาดู ก็จะช่วยให้คุณเข้าใจลูกน้อยได้มากขึ้น และเจ้าหนูเองก็สามารถร้องขอในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยค่ะ ตัวอย่างภาษามือที่จะสอนเขา เช่น แบสองมือชูเหนือศีรษะแปลว่าขอความช่วยเหลือ จรดปลายนิ้วทั้งสองมือเข้าด้วยกันแปลว่าขออีก ทำท่าเหมือนรีดนมวัวแปลว่าหิวนม เป็นต้น ลองนำไปใช้กันดูนะคะ

ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของเขามากกว่าการแสดงออก

          หากครั้งหน้าเจ้าตัวเล็กเกิดโมโหทุบตีคนอื่นขึ้นมา จับมือเขาไว้แล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรนะถ้าหนูจะโมโห แต่หนูจะไปตีคนอื่นแบบนี้ไม่ได้นะคะ" เพื่อบอกให้เขารู้ว่าอารมณ์ที่เกิดกับเขาตอนนี้เป็นเรื่องปกติ แต่การกระทำของเขาต่างหากที่ไม่สมควรทำ

ไม่พยายามใช้เหตุผลกับเด็กเล็ก

          เด็กเล็ก ๆ ยังไม่เติบโตเพียงพอที่จะเข้าใจโลกของเหตุผล และยังไม่มีความรู้สึกลึกซึ้งถึงความเห็นอกเห็นใจในความลำบากของคนอื่นเท่าใดนัก อย่าพยายามอธิบายว่า "ลองคิดดูสิ ถ้ามีคนอื่นมาตีหนู หนูจะรู้สึกยังไง" สิ่งที่ควรทำคือการแสดงให้เขาเห็นผลของการกระทำอย่างชัดเจนมากกว่า เช่น หากเขาตีเพื่อนคนหนึ่งที่สนามเด็กเล่น คุณจะพาเขากลับบ้านทันที หรือ หากเขากัดมือเพื่อนที่มาขอแบ่งของเล่น คุณจะหยิบของเล่นชิ้นนั้นออกจากมือของเขา เป็นต้น

ชวนลูกน้อยอ่านนิทานที่มีเนื้อหาไปในทางเดียวกับที่คุณสอน

          หานิทานน่ารัก ๆ ที่มีเนื้อหาสอดคล้องไปในทางเดียวกับที่คุณสอนเขา แล้วนั่งลงอ่านด้วยกัน เช่น เป็ดน้อยไม่มีเพื่อนเพราะไล่กัดเพื่อน, รู้จักมือของเรา เอาไว้จับของ ไม่เอาไว้ตี ฯลฯ เพื่อให้เขาได้ค่อย ๆ เรียนรู้ว่า สิ่งที่คุณคุณสอนไม่ได้ออกมาจากตัวคุณเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ ก็ต้องทำเหมือนกัน

หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ลูกเกิดอาการหงุดหงิด

          พยายามหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่ทำให้ลูกหงุดหงิดได้ง่าย เช่น การมีเด็กหลาย ๆ คนมาห้อมล้อม, น้องสาวขึ้นไปกระโดดบนเตียงของเขา หรือเห็นว่าเขากำลังจะหงุดหงิดเพราะเหนื่อยหรือหิว ก็รีบอุ้มออกมาจากสนามเด็กเล่นเสียเลย ก็จะทำให้เจ้าตัวเล็กของคุณไม่ระเบิดอารมณ์ได้ค่ะ

อุปกรณ์ขบเคี้ยวแก้มันเขี้ยว

          บางทีการที่เด็กเล็ก ๆ ชอบกัดหรืองับคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะว่ากำลังมันเขี้ยวอยู่ก็เป็นได้ หาของเล่นชิ้นใหญ่ ๆ (เพื่อเจ้าตัวเล็กจะได้ไม่เผลอกลืนลงไป) ไม่มีคม และยืดหยุ่นได้ดี พกไว้ในกระเป๋าของลูกน้อย ให้เขาได้หยิบมากัดในยามมันเขี้ยว หรือถ้าลูกยังเป็นเด็กเล็กมาก ก็ให้คุณคอยเก็บไว้ให้ และนำมาให้เขากัดเล่นเมื่อเห็นว่าลูกทำท่าว่ากำลังจะไปงับใครเข้าก็ได้นะคะ

ท่าสงบสติอารมณ์

          หากเห็นว่าลูกน้อยกำลังหงุดหงิดทำร้ายคนอื่นหรือว่าตัวเอง ให้รวบตัวเขามานั่งบนตัก ซึ่งคุณนั่งขัดสมาธิไว้ โดยใช้สองมือโอบรอบตัว และให้เขาหันหน้าไปทางเดียวกับคุณ บอกเขาว่า "ถ้าหนูเลิกหยิกเลิกตี แล้วคุณพ่อจะปล่อยนะครับ" และเมื่อรู้สึกว่าเขาเริ่มสงบลง ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย คุณจึงปล่อยเขาออก โดยไม่ลืมกล่าวคำชมด้วยว่า "เก่งจังเลยลูกรักที่เลิกหยิกเลิกตีได้ หนูจะเป็นเด็กดีมาก ๆ ถ้าทำแบบนี้นะครับ"

เลิกใช้คำว่า "อย่า", "ไม่" หรือ "ห้าม" กับลูก  

          เพื่อให้เด็ก ๆ ยอมรับฟังคุณโดยไม่รู้สึกต่อต้าน จงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "อย่า" "ไม่" หรือ "ห้าม" กับลูกเด็กขาด เช่น แทนที่จะพูดว่า "ห้ามตีเพื่อนนะ" เป็น "ถ้าหนูรู้สึกอยากจะตีเพื่อน ให้กอดอกเอาไว้แน่น ๆ นะคะ ทำแบบนี้เพื่อนจะได้ไม่เจ็บไม่ร้องไห้ไงลูก" ค่อย ๆ สอนเขาให้ทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ แล้วเจ้าตัวน้อยก็จะค่อย ๆ ซึมซับได้ว่าเขาควรจัดการกับอารมณ์ในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร

ชมเขาในยามที่ทำตัวน่ารัก

          ยามที่เขาทำตัวน่ารักก็อย่าลืมกล่าวคำชมลูกน้อยด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อเขาแบ่งของเล่นกับเพื่อน ก็ต้องชมว่า "มีน้ำใจจังเลย เป็นเด็กดีมากเลยจ้ะ" หรือเมื่อเขาเดินหยิบของเล่นที่เสียแล้วมาให้คุณแทนที่จะขว้างมันทิ้ง ก็ควรจะชมว่า "ขอบคุณที่บอกคุณแม่นะคะ เป็นเด็กน่ารักมากเลยจ้ะ" เมื่อเขาได้รู้ว่าทำตัวอย่างไรแล้วจะได้รับคำชม รับรองว่าเขาก็จะทำมันบ่อย ๆ ค่ะ

สอนให้ลูกมีสมาธิมากขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ

          เมื่อเห็นว่าลูกกำลังโมโห จูงมือเจ้าตัวน้อยไปที่เงียบ ๆ แล้วบอกว่า ให้เขาหายใจเข้า-ออก 5 ครั้ง โดยคุณทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างด้วย นอกจากจะเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์หงุดหงิดมาสู่สิ่งอื่นได้แล้ว เขาก็ยังได้เรียนรู้ที่จะทำสมาธิและมีความอดทนมากขึ้นทีละนิดด้วย นอกจากนี้คุณยังสามารถสอดแทรกการสอนสมาธิให้ลูกน้อยได้ ด้วยการชวนลูกน้อยทำท่าโยคะง่าย ๆ ซึ่งต้องกำหนดลมหายใจ เช่น ท่านั่งเหยียดมือแตะปลายเท้า พร้อมนับ 1-5 เป็นต้น

สืบเสาะต้นเหตุของอาการหงุดหงิด

          หากลูกน้อยของคุณอายุมากกว่า 4 ขวบแล้ว และยังคงมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย บางทีอาจจะดีกว่าหากพาลูกไปพบจิตแพทย์สำหรับเด็ก เพื่อพูดคุยหาต้นเหตุที่ทำให้ลูกหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ บางทีอาจเป็นเพราะการมีสมาชิกตัวน้อยคนใหม่เพิ่มเข้ามาของครอบครัว การย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ถูกเพื่อนรังแก พี่เลี้ยงคนโปรดไม่มาทำงานแล้ว หรือเหตุผลอื่น ๆ อีกก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการบำบัดทำความเข้าใจให้คลายปมที่ต้นเหตุค่ะ

แสดงตนเป็นตัวอย่างที่ดี

          ไม่ใช่เพียงแต่สอนลูกให้รู้จักสงบสติอารมณ์ไม่ใช้กำลังเท่านั้น คุณเองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขาด้วย หากคุณเองยังโมโหจนเผลอตะโกนใส่เขา จับตัวเขาเขย่าไปมา เขาเองก็จะซึมซับว่า มันไม่เป็นไรถ้าเขาจะแสดงออกแบบนี้เหมือนกันในตอนที่อารมณ์ไม่ดี

อย่าบังคับให้ลูกพูดว่าขอโทษ

          การบังคับให้เด็กพูดว่าขอโทษเมื่อเขาทำผิด ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรู้สึกผิดเลย คำขอโทษที่ได้นอกจากจะไม่ได้ออกมาจากใจแล้ว ยังกลับทำให้เขายิ่งโมโหฉุนเฉียวมากขึ้นด้วย เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้การพูดขอโทษด้วยการเป็นฝ่ายได้รับคำขอโทษมากกว่า เขาจะได้เรียนรู้ว่าในสถานการณ์เช่นไรที่อีกฝ่ายควรได้รับคำขอโทษ (เช่นเดียวกับที่เขาเคยได้รับคำขอโทษมาแล้วในเหตุการณ์แบบเดียวกัน) เพราะฉะนั้น จงทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างว่า เมื่อคุณทำอะไรผิดพลาด และเขาได้เห็นหรือรับรู้ ก็ต้องกล่าวขอโทษลูกน้อยด้วยเช่นกัน

หวังผลระยะยาว

          เป็นเรื่องจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจว่า การสอนลูกให้เรียนรู้ที่จะสงบสติอารมณ์และควบคุมตัวเองให้ได้นั้น อาจไม่ได้ผลหรือเห็นความเปลี่ยนแปลงแค่ในชั่วข้ามคืน แต่มันจะเป็นผลระยะยาว ให้เขาค่อย ๆ ได้ซึมซับและเรียนรู้ไปเองจะดีกว่า เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องมีความอดทนที่จะแสดงให้เขาเห็น และย้ำสอนเขาบ่อย ๆ ว่าเขาควรทำเช่นไรเมื่อประสบกับสถานการณ์ที่ไม่พึงใจขึ้นมา

          เพื่อไม่ให้เจ้าตัวเล็กกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย หรือชอบใช้กำลัง คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจกับเรื่องอารมณ์และพฤติกรรมของเขา รวมทั้งเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้จุดบกพร่อง และสร้างเสริมทักษะที่ดีให้เขาเสียแต่เล็ก ๆ นะคะ รับรองว่าเจ้าตัวน้อยของคุณในวันนี้จะเติบโตไปเป็นเด็กที่น่ารักแน่นอนเลยค่ะ



            
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จะทำอย่างไร เมื่อเจ้าหนูอารมณ์ร้ายชอบทุบตี - กัด อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2555 เวลา 15:20:59 9,541 อ่าน
TOP