x close

ทางเลือกในการบำรุงครรภ์



ทางเลือกในการบำรุงครรภ์
(Mother & Care)

          ปัจจุบันมียา วิตามิน และอาหารเสริมสำหรับบำรุงครรภ์หลากชนิดและหลายขนาน แต่ละชนิดก็มีสรรพคุณแตกต่างกัน และยังใช้ได้ผลในแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณแม่จึงควรศึกษา หาข้อมูลและสรรพคุณของยาแต่ละชนิดก่อนเลือกใช้
 
แผนไทย

          คุณแม่หลายท่านหันมาดูแลตัวเองด้วยวิธีทางธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งการบำรุงครรภ์ในแผนไทยมักจะใช้สมุนไพรเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาสกัดและแปรรูปเพื่อให้กินได้ง่ายขึ้น สมุนไพรไทยหลายชนิดกินแล้วได้ประโยชน์ในช่วงตั้งครรภ์ แต่หลายชนิดก็ให้โทษต่อร่างกายได้ตัวอย่างสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์

          น้ำอ้อย : ป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ลดอาการไข้ต่ำๆ ซึ่งคุณแม่จะเป็นบ่อยช่วงตั้งครรภ์

            กล้วยน้ำว้าสุก : ช่วยระบายท้อง ทำให้ไม่เป็นท้องผูก

          ขิง รากบัว : บรรเทาอาการแพ้ท้อง
 
          ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรและยาไทย ทุกชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะยาสตรีหรือยาบำรุงเลือด เช่น ว่านชักมดลูก กวาวเครือ ดอกคำฝอย เพราะจะทำให้ตกเลือด สมองหรือร่างกายของทารก ไม่สมบูรณ์หรือแท้ง นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรกินยาดองเพราะมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ หากกินเข้าไปจะส่งผลต่อทารก ทำให้เกิด ความพิการและมีพัฒนาการช้า
 
แผนจีน

          ยาจีนสำหรับบำรุงครรภ์สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ ยาที่มีผลต่อแม่โดยตรง ยาที่มีผลต่อทารกในครรภ์ ยาที่มีผลต่อการคลอด และยาที่มีผลต่อทารกแรกเกิด ซึ่งยาในกลุ่มเหล่านี้มักมาจากสมุนไพรจีน เช่น โสม ตังกุย ชวนป๋วย เป็นต้น และมักจะให้แม่กินในช่วงหลังอายุครรภ์ 5 เดือนครึ่งขึ้นไป

          ส่วนยาจีนที่คุณแม่ห้ามกินในช่วงตั้งครรภ์คือ ยากลุ่มที่ทะลุทะลวงไปกระจายเลือดที่คั่งหรืออุดตันอยู่เพราะจะมีผลต่อการไหลเวียนเลือดในมดลูกเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ รวมถึงยากลุ่มที่ทำให้เลือดไหลช้าลงซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของเลือดในมดลูกและตัวทารกช้าลง ทำให้ทารกเติบโตไม่เต็มที่หรือแท้ง

          การบำรุงครรภ์ด้วยยาจีนรวมถึงการฝังเข็ม ต้องเป็นแพทย์จีนเท่านั้นจึงจะมีความรู้เรื่องตัวยา สรรพคุณของยา สามารถสั่งยาที่ปลอดภัยและสามารถให้ คำแนะนำในการใช้ยาจีนที่ถูกต้อง หรือฝังเข็มได้

แผนปัจจุบัน (แผนฝรั่ง)

          ยาบำรุงครรภ์ในแผนปัจจุบันหรือแผนฝรั่งมักเป็นแผนที่มีการใช้มาก เพราะ  เมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์ก็จะจ่ายยาหรือวิตามินเสริมต่าง ๆ ในแผนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ยาบำรุงเลือด แคลเซียมหรือยาบำรุงกระดูก โฟเลตเม็ด สิ่งที่ควรระวังคือการกินหรือใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ (ที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์) มากกว่า
 
          ยาปฏิชีวนะที่มีผลต่อการตั้งครรภ์และควรรู้ก่อนกิน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

          ยากลุ่ม A : เป็นยาประเภทที่ได้รับการรับรองและยืนยันว่าปลอดภัย ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ยาประเภทวิตามินต่างๆ

          ยากลุ่ม B : เป็นยาที่ผ่านการทดลองในสัตว์และนำมาใช้กับมนุษย์แล้วไม่มีความผิดปกติใดๆ ต่อทารก คือ กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล ยาลดไข้ ยาแก้หวัด

          ยากลุ่ม C : เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้การดูแลของแพทย์ มักใช้กับผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม B จึงต้องใช้ยาในกลุ่มนี้แทน

          ยากลุ่ม D : เป็นกลุ่มยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกได้ เช่น ยารักษาวัณโรค หรือยารักษาโรคมาลาเรีย อาจทำให้ทารกพิการ แต่ถ้าไม่กินยาเพื่อรักษาโรค อาจทำให้ลุกลามจนเสียชีวิตได้ การใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดและวิจารณญาณของแพทย์

          ยากลุ่ม X : เป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์อย่างเด็ดขาด เพราะทำให้เกิด ความผิดปกติกับทารก เช่น กลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะมีการระบุบนฉลากยา อย่างชัดเจนว่า "ห้ามสตรีมีครรภ์รับประทาน" ก่อนจ่ายยาในกลุ่มนี้แพทย์ จะตรวจร่างกายคนไข้ก่อนเสมอว่าตั้งครรภ์หรือไม่

          ทั้งนี้ หากกินยาหรืออาหารเสริมชนิดใดก่อนตั้งครรภ์ ควรเลิกกินทันทีเมื่อรู้ว่า ตั้งครรภ์และนำยาไปปรึกษาแพทย์ด้วย เช่น ยารักษาสิวที่มีกรดวิตามินเอเป็นส่วนผสม เพราะในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก ยาอาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก ในครรภ์ได้ ยกเว้นยาอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

คำแนะนำในการบำรุงครรภ์

          การบำรุงครรภ์ตามทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งควรเลือกใช้อย่างระมัดระวังและ ให้เหมาะสมกับร่างกายของคุณแม่แต่ละคน

          ต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง และเป็นสถานประกอบการหรือร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

          อ่านฉลากยาโดยละเอียดก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

          หากต้องกินยาบำรุงครรภ์เพราะความเชื่อหรือผู้ใหญ่ในบ้านให้กิน ก็อาจให้ผู้ใหญ่เข้าปรึกษาสูติแพทย์พร้อมคุณแม่ เพื่อให้ได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนการใช้ยา



            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทางเลือกในการบำรุงครรภ์ อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2555 เวลา 16:47:14 4,260 อ่าน
TOP