x close

ลูกชอบโวยวายกลัวไม่มีเพื่อน ทำอย่างไรดี

แม่และเด็ก

ลูกชอบโวยวายกลัวไม่มีเพื่อน ทำอย่างไรดี
(รักลูก)
โดย : คลินิกจิตวิทยา

         Q : ลูกชายอายุ 5 ขวบกว่า เวลามีใครพูดขัดใจ หรือทำอะไรขัดใจ ลูกจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโห และร้องไห้โวยวาย คุณแม่พยายามอธิบายด้วยเหตุผลแล้วว่าเขาอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เขาก็ยังร้องโวยวาย จนตอนนี้กลายเป็นคุณแม่ไม่กล้าให้เขาเล่นกับเพื่อ นๆ กลัวว่าจะไปโวยวายใส่เพื่อนที่โรงเรียน จะทำอย่างไรดีคะ

         คุณแม่น้องอิคคิว-ประจวบคีรีขันธ์

         A : ความรู้สึกโกรธหรือโมโหเมื่อไม่ได้ดั่งใจเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เพราะจริง ๆ แล้ว ใคร ๆ ก็อยากให้คนอื่นตามใจ และเอาใจทั้งนั้น แต่ความไม่ได้ดั่งใจนี้จะเป็นกันมากน้อยขึ้นอยู่กับพื้นอารมณ์ของแต่ละคน และการเลี้ยงดูด้วยนะคะ เช่น ลูกคนเดียว หลานคนเดียวมักถูกตามใจมากเป็นพิเศษ ดังนั้น เด็กก็เคยชินกับการได้ทุกอย่างที่เขาต้องการ เมื่อวันหนึ่งไปเจอใครขัดใจ เด็กก็มักจะทนไม่ได้ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความไม่ได้ดั่งใจนั้นมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ

         การที่คุณแม่กลัวว่าลูกจะไปโวยวายใส่เพื่อน เลยไม่อยากให้ลูกเล่นกับเพื่อนเป็นการแก้ปัญหาที่อาจจะทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นค่ะ (เพราะคล้าย ๆ การหนีปัญหาเสียมากกว่า) ทางที่ดีต้องฝึกให้ลูกอดทนต่อความรู้สึกหงุดหงิดไม่ได้ดั่งใจให้ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไร ชีวิตเราก็ต้องเจอทั้งคนและเรื่องที่ไม่อยากเจอ หรือเรื่องที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราอยากจะให้เป็นอยู่เรื่อยค่ะ ดังนั้น การฝึกลูกตั้งแต่เล็ก ๆ ทำให้เขารับมือกับเรื่องแบบนี้ได้ดีกว่าค่ะ

         วิธีการฝึกก็ไม่มีอะไรมาก เพียงคุณพ่อคุณแม่อาศัยความใจเย็นและหนักแน่นเป็นส่วนสำคัญ คือเมื่อลูกอยากจะได้ของบางอย่าง หรือว่าอยากทำอะไรบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าไม่สมควร ก็อย่ายอมตามใจ ให้ยืนยันตามสิ่งที่เหมาะสมค่ะ

         ความผิดหวังเสียใจเมื่อไม่ได้ดั่งใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่แสดงความเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของลูก เช่น บอกว่า "แม่รู้ว่าหนูเสียใจที่ไม่ได้ของเล่นชิ้นนี้ ใช่ไหม" ขณะเดียวกัน ก็ต้องยืนยันว่า สิ่งที่เขาอยากได้นั้น เราให้ไม่ได้จริง ๆ "แต่ว่าเราตกลงกันไว้แล้วนี่นา ว่าจะซื้อของเล่นแค่เดือนละชิ้นเท่านั้น รอเดือนหน้านะลูก" จากนั้น ถึงแม้ว่าลูกจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็ยืนยันคำเดิม แต่ต้องไม่ดุ ไม่ตีลูกนะคะ

         พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่หมอพูดถึง เช่น การทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่นทำลายข้าวของ ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ต้องเข้าไปหยุดทันทีค่ะ บอกลูกด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลแต่หนักแน่นว่า "แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธ หนูมีสิทธิ์จะโกรธ แต่หนูทำแบบนี้ (พูดให้ชัดเจนไปเลยว่าลูกทำอะไร อาทิเช่น ปาสิ่งของ ตีแม่ เอาหัวโขกโต๊ะ) ไม่ได้ค่ะ" หากลูกไม่ยอมหยุด ก็อาจจำเป็นที่จะต้องกอดล็อกตัวลูกเอาไว้ไม่ให้ทำต่อค่ะ

         สิ่งที่ต้องระวังคือไม่ใช้การพูดขอร้องลูกไปเรื่อย ๆ และน้ำเสียงต้องหนักแน่น และดังขึ้นกว่าปกติ และถ้าไม่สำเร็จ ต้องเข้าไปมี action ต่อพฤติกรรมทันทีค่ะ (ตึงตัวออกมาหรือกอดล็อกตัวไว้)

         เมื่อลูกเริ่มปรับตัว อดทนต่อความผิดหวังไม่ได้ดั่งใจที่บ้านได้แล้ว ความสามารถนี้จะเริ่มขยายออกไปนอกบ้านด้วย เด็กจะเริ่มรู้ว่าเพื่อนก็เหมือนพ่อแม่ที่ไม่ได้ตามใจเขาทุกครั้ง และสิ่งสำคัญลูกจะได้เรียนรู้เรื่องของการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เพราะว่าการที่เล่นกับเพื่อนไม่เหมือนกับพ่อแม่ ถ้าโมโหและโวยวายใส่พ่อแม่ พ่อแม่อาจไม่โกรธ แต่ว่าถ้าลูกไปทำกับเพื่อนแล้ว เพื่อนก็อาจจะไม่เล่นด้วยอีก การเล่นกับเพื่อนเป็นเรื่องที่ยากกว่าการเล่นกับพ่อแม่ ดังนั้นต้องให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้ อย่าปิดกั้นโอกาสของลูกนะคะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 348 มกราคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกชอบโวยวายกลัวไม่มีเพื่อน ทำอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2555 เวลา 16:09:38 1,035 อ่าน
TOP