x close

Stop & Start ...ของแม่หลังคลอด

หลังคลอด

Stop & Start ...ของแม่หลังคลอด
(รักลูก)
โดย: เมธาวี

ดูแลกาย - ใจ สำหรับคุณแม่หลังคลอด

          แม่หลังคลอดนอกจากจะทุ่มเทกายใจเพื่อดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ควรลืมที่จะดูแลตัวเองด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ควรทำ และควรหยุดทำค่ะ

Stop! หลังคลอด

          ห้ามงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มโปรตีน ซึ่งความเชื่อเดิมบางอย่างที่บอกว่าขณะอยู่ไฟควรงดกินเนื้อสัตว์ ให้กินข้าวกับเกลือแทน เพื่อให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติเร็วที่สุดนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ร่างกายคุณแม่เสียโปรตีนไปเยอะ เพราะร่างกายนำโปรตีนไปสร้างเนื้อเยื่อให้ลูก โปรตีนยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยฟื้นฟูร่างกาย ทั้งโปรตีนยังเป็นส่วนประกอบของน้ำนมด้วย ดังนั้น ควรกินอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ในปริมาณที่เพียงพอ

          หยุดมีเพศสัมพันธ์ ในระยะหลังคลอดช่วง 6 สัปดาห์แรก น้ำคาวปลายังไม่หมด ดังนั้น ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากในช่วงแรกปากมดลูกยังเปิดอยู่ เพื่อระบายน้ำคาวปลา ระบายเลือดออกมา การที่ปากมดลูกเปิดอยู่นั้นจะเพิ่มโอกาสของการติดเชื้อได้ง่าย และการมีเพศสัมพันธ์ก็จะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเข้าไปได้ง่ายมากขึ้น พูดง่ายๆ คือเปิดประตูต้อนรับเชื้อโรคเต็มๆ นั่นเอง

          นอกจากนี้ น้ำคาวปลาและเลือด ที่ยังมีตกค้างเป็นอาหารที่ดีของแบคทีเรีย ถ้ามีการติดเชื้อจะทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตดี ส่งผลให้มดลูกติดเชื้อ เกิดการอักเสบได้ และอาจอันตรายถึงขั้นต้องตัดมดลูกทิ้ง หรืออาจนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะส่วนอื่นในร่างกายได้

          ที่สำคัญหลังคลอดลูกแล้ว ร่างกายจะมีการคืนสภาพ โดยเฉพาะรังไข่จะคืนสภาพตัวเองกลับมาเริ่มผลิตไข่ ในคุณแม่ที่ให้นมลูกได้น้อยหรือไม่ได้ให้นมเลย การกลับมามีเพศสัมพันธ์ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังคลอด มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในรอบที่ไข่ใบแรกตกมา หรือยังไม่ทันมีประจำเดือนก็มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไปเลยก็มีค่ะ

          ห้ามตั้งครรภ์ติดต่อกัน โดยทั่วไปหากเป็นการคลอดแบบธรรมชาติ ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์อย่างน้อย 6 เดือน-1 ปี แต่ถ้าเป็นการคลอดแบบผ่าคลอด ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป

          ทั้งนี้สำหรับแม่ที่ผ่าคลอด มดลูกที่มีแผลผ่าตัดจะเป็นจุดบอบบาง หากตั้งครรภ์ติดกันมดลูกจะมีการขยายใหญ่ขึ้น และอาจส่งผลให้แผลผ่าตัดที่มดลูกเกิดการแตกได้ และมีโอกาสเสียชีวิตทั้งแม่และลูก หากช่วยได้ทันก็อาจต้องผ่าตัดมดลูกทิ้ง นั่นหมายความว่าหมดโอกาสที่จะมีลูกได้อีกอย่างสิ้นเชิง

          ดังนั้น ต้องใส่ใจการคุมกำเนิดหลังคลอด เพื่อไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ติดต่อกัน ซึ่งการคุมกำเนิดที่ดีที่สุดคือการให้นมลูก วิธีนี้ยังเป็นการถ่ายทอดความรักและสานสายใยระหว่างแม่ลูกด้วยนะคะ

Start - คุณแม่หลังคลอดต้องทำ

          บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารกลุ่มโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ซึ่งก็คือเนื้อสัตว์ ผักและ ผลไม้ เพราะช่วงนี้ร่างกายต้องฟื้นฟู จึงต้องการใช้สารอาหารเหล่านี้เยอะขึ้น การบริโภคอาหารที่เพียงพอจะช่วยทำให้คุณแม่ฟื้นตัว และระบบฮอร์โมนต่างๆ กลับมาทำงานเป็นปกติเร็วขึ้น เพราะส่วนประกอบต่างๆ ของฮอร์โมนในร่างกายก็คือโปรตีนนั่นเอง

          ถ้าเรากินโปรตีนเพียงพอ สร้างฮอร์โมนได้ดี ก็จะเริ่มมีการตกไข่ เริ่มกลับมามีประจำเดือน มดลูกกลับเข้าอู่ได้เร็วขึ้น และช่วยสร้างฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน (Oxytocin) ที่จะมีการหลั่งช่วงหลังคลอด หรือช่วงให้นม ซึ่งถือเป็นออร์โมนสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก และยังช่วยให้มดลูกหดตัว กลับเข้าอู่ได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ

          ควรตรวจติดตามหลังคลอด โดยปกติหลังคลอดแพทย์จะนัดคุณแม่ 2 ครั้งคือ 1-2 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูแผล และตรวจดูความเรียบร้อยของสภาพร่างกาย และนัดตรวจอีกครั้งช่วงสัปดาห์ที่ 6 เพื่อดูว่ามดลูกเข้าอู่หรือยัง น้ำคาวปลาหมดหรือยัง ซึ่งครั้งหลังคุณแม่มักไม่ค่อยมากัน เพราะอาจเห็นว่าแผลหายดีแล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องไปให้หมอตรวจอีก แต่ความสำคัญของการนัดตรวจครั้งที่ 2 เพื่อเช็กมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้เกิดการใส่ใจดูแลสุขภาพ และตรวจหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ เนื้องอก ถุงน้ำต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ค่ะ

          ซึ่งมะเร็งปากมดลูกนั้น คุณแม่สามารถฉีดได้หลังจากหยุดให้นม เพื่อเป็นการป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ เพิ่มความสบายใจให้คุณแม่อีกทางหนึ่งค่ะ

          ควรวางแผนครอบครัว เพื่อการมีครอบครัวที่สมบูรณ์ และเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ ดังนั้น การเตรียมตัวเรื่องความถี่ของการมีบุตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

          อย่างน้อยควรเว้นการมีลูกสัก 1 ปี เพื่อให้แผลที่มดลูกมีการฟื้นตัว ไม่เกิดความเสี่ยงในการท้องครั้งต่อไปแล้วทำให้มดลูกแตก และยังเป็นโอกาสที่จะได้เลี้ยงลูกคนแรกอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการที่ดีค่ะ

          รวมถึงการวางแผนด้านเศรษฐกิจครอบครัวด้วย ซึ่งช่วงเวลาหลังคลอดนั้นคุณแม่ยังไม่ได้ทำงาน จะได้มีเวลาไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่มีการวางแผนเรื่องนี้ก็อาจจะนำไปสู่การเลี้ยงลูกที่มีคุณภาพชีวิตด้อยได้ค่ะ

          การรู้จักที่จะดูแลตัวเอง รู้ว่าควรทำ หรือไม่ควรทำสิ่งใดหลังคลอด จะช่วยฟื้นฟูร่างกาย และทำให้สุขภาพกายใจของคุณแม่หลังคลอดกลับมาดีได้เร็วที่สุดค่ะ



            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 348 เดือน มกราคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Stop & Start ...ของแม่หลังคลอด อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2555 เวลา 15:35:09 20,977 อ่าน
TOP