x close

12 วิธีสร้างสุขให้ลูกน้อย

แม่และเด็ก

12 วิธีสร้างสุขให้ลูกน้อย
(Mother & Care)
เรื่อง : Orawan

          เทคนิคช่วงลูกน้อยผ่อนคลายจากอาการหงุดหงิดงอแงทั้ง 12 วิธีต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ลองนำมาปรับใช้ เมื่อพบวิธีที่เหมาะกับคุณและลูกแล้วจะพบว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้ ดังนี้ค่ะ

1.หลับให้พอเพียง

          การนอนหลับสนิทจะช่วยให้ลูกน้อยแจ่มใสอารมณ์ดี

How to

          ให้ลูกได้นอนหลับสนิทและพอเพียงในแต่ละวัน การนอนหลับของเด็กเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่ร่างกายจะหลั่งสารที่มีผลดีต่อพัฒนาการทางด้านสมอง อารมณ์และร่างกายของเด็ก

0-3 เดือน

          ลูกจะนอนในช่วงกลางวันและกลางคืน เฉลี่ยเท่า ๆ กัน โดย 1-3 สัปดาห์แรก ลูกจะตื่นขึ้นมาทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อกินนม และหลับต่อโดยเฉลี่ยลูกจะนอนประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน และจะตื่นนานขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น

4-7 เดือน

          สองในสามของการนอนจะเป็นการนอนตอนกลางคืน และนอนได้ประมาณ 15 ชั่วโมงรวมกันต่อวัน

8-12 เดือน

          อาจนอนกลางวัน 2 ครั้ง แค่หลังมื้อนม ตอนเช้าและกลางวัน และนอนประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน

2.โยกเยกเอย

          การเคลื่อนไหวช้า ๆ แต่เป็นจังหวะจะช่วยให้ลูกน้อยสงบลง ผ่อนคลายและเพลิน

How to

          อุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมแขนของคุณและยืนแยกเท้าให้กว้างกว่าสะโพกเล็กน้อย หมุนบิดสะโพกไปมาเบา ๆ หรือนั่งอุ้มลูกเล่นโยกไปมาบนเก้าอี้โยกช้า ๆ เบา ๆ จะช่วยฝึกการเคลื่อนไหวในแนวขึ้นลง ลูกจะได้รับรู้ระยะทาง และรู้สึกเพลิดเพลิน

3.เนื้อแนบเนื้อ

          การสัมผัสแบบแนบเนื้อระหว่างแม่กับลูก คือ การกอดอย่างใกล้ชิด

How to

          ในวันที่อากาศดีคุณแม่อาจใช้วิธีกล่อมลูกนอนกลางวัน ด้วยการเปลื้องผ้าทั้งแม่ลูกและวางหนูน้อยบนผิวเปลือยเปล่าของคุณ โดยโอบกอดลูกแนบอกแล้วคลุมด้วยผ้าห่มให้อบอุ่นการสัมผัสแบบแนบเนื้อนั้นอุณหภูมิของร่างกายแม่จะทำให้ลูกอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัย

4.เรอซะหน่อยช่วยลูกสบายท้อง

          อาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดไม่สบายตัว ทำให้ลูกหงุดหงิดร้องกวน

How to

          อุ้มลูกพาดบ่าโดยใช้แขนข้างเดียวกับบ่ารองก้นลูกไว้ ให้ลำตัวลูกตั้งตรงแล้วลูบหลังให้ลูกด้วยมืออีกข้างหนึ่ง หรือให้ลูกนั่งบนตักแล้วใช้แขนโอบรอบตัวลูกไว้ จับตัวลูกเอนไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ท้องของลูกแนบกับแขนของคุณแม่ และลูบหลังให้ลูกน้อยด้วยมืออีกข้างหนึ่งก็จะช่วยดันลมออกมา

          ใช้มหาหิงคุ์ไล่ลม โดยการใช้สำลีชุบทาบาง ๆ ที่ฝ่าเท้าหรือหน้าท้องลูก กลิ่นระเหยที่มีความร้อนนิด ๆ จะช่วยทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวและบีบตัวไล่ลมในท้องของลูกได้

5.นวดสื่อภาษากาย

          นอกจากช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดแล้วยังทำให้ลูกน้อยหลับได้ยาวนานหลังการนวด

How to

          มือของคุณแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นร่างกายของลูกสัมผัสที่นุ่มนวลจะส่งผลทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ก่อนนวดคุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาด และเตรียมนวดด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ

          ท่าที่ 1 จัดท่าให้ลูกนอนหงาย วางฝ่ามือทั้งสองบนศีรษะใช้นิ้วประสานกันเล็กน้อยตรงแนวกึ่งกลางของศีรษะ จากนั้นลูบลงไปจนถึงปลายคาง

          ท่าที่ 2 ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างวางตรงกลางเหนือริมฝีปากบน แล้วลากออกมาเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปากทำ 5 ครั้ง ต่อจากนั้นนวดบริเวณริมฝีปากล่างในลักษณะเดียวกันอีก 5 ครั้ง จากนั้นใช้ปลายนิ้วกลางลูบไล้ขอบปาก วนเป็นวงกลมอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากมุมปากข้างหนึ่งผ่านเหนือริมฝีปากบนไปยังมุมปากอีกข้างหนึ่ง และวนต่อไปยังใต้ริมฝีปากล่าง จนถึงมุมตำแหน่งที่เริ่มต้น แล้ววนกลับ นับเป็น 1 ครั้ง ท่านี้จะช่วยกระตุ้นการกิน การดูดกลืนของเด็ก ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในช่วงที่ฟันกำลังเริ่มขึ้น ทำได้โดย

          เตรียมนมอุ่น ๆ ไว้สำหรับลูกน้อย เพราะหลังจากนวดร่างกายของลูก ลูกจะผ่อนคลายและทำให้ลูกรู้สึกหิวได้ค่ะ และไม่ควรนวดให้ลูกหลังมื้อนม หรือขณะที่ลูกกำลังอารมณ์ดี

6.แสงไฟและคลื่นจากโทรทัศน์

          แสงไฟจ้าและคลื่นจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวกระตุ้นประสาท

How to

          หลีกเลี่ยงการใช้แสงไฟที่จ้าเกินไป และไม่ควรติดตั้งตรงกับตำแหน่งที่นอนของลูก เพราะแสงจ้าทำให้รู้สึกตื่นตัว สีของหลอดไฟควรเป็นสีนวลอ่อน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเปิดโทรทัศน์ใกล้กับที่จัดไว้ให้ลูกนอนเล่นหรือนอนหลับ เพราะทั้งคลื่นและเสียงเหล่านี้สามารถทำให้ลูกรู้สึกไม่สงบได้

7.อโรมา เบบี้

          กลิ่นที่คุ้นเคยช่วยให้ลูกรู้สึกสุขสงบสบายใจ

How to

          กลิ่นของคุณพ่อคุณแม่ กลิ่นผ้าอ้อมหรือกลิ่นของเล่นที่ลูกสัมผัสอยู่เป็นประจำ จะช่วยให้เขารู้สึกมั่นใจ สงบสุข และไม่งอแงคุณแม่อาจลองให้ลูกสูดดมลิ่นที่คุ้นเคยเหล่านี้

          เมื่อลูกเริ่มโยเยแบบไม่ทราบสาเหตุ อาจนำผ้าอ้อมสะอาดผืนประจำของลูกหยดน้ำนมแม่ลงไป แล้วนำมาวางใกล้ ๆ พร้อมกับการปลอบก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจขึ้น เมื่อได้สัมผัสกับกลิ่นที่คุ้นเคย

8.ฟังเสียงลมหายใจของตนเอง

          ขณะที่ลูกน้อยเงียบ เขาจะมีโอกาสฟังเสียงลมหายใจของตัวเอง และเกิดความสงบและผ่อนคลายเกิดขึ้น

How to

          ปล่อยให้ลูกมีช่วงเวลาได้นอนเงียบ ๆ อยู่กับตัวเองบ้าง ได้ฟังเสียงลมหายใจเข้าออก การหายใจนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างร่างกายและจิตใจ ทำให้มีสมาธิ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และทำให้ใจสงบ

          การเปิดโอกาสให้ลูกได้ฟังเสียงธรรมชาติ ซึ่งอาจเปิดจากซีดีเบา ๆ เช่น เสียงน้ำไหล เสียงลม เสียงฝนพรำ หรือเสียงป่าเขาลำเนาไพร ก็จะช่วยให้เขามีจิตใจอ่อนโยนเป็นธรรมชาติอีกด้วย

9.อุณหภูมิห้องอย่ามองข้าม

          อุณหภูมิในห้องที่ลูกอยู่ต้องไม่หนาวหรือร้อนเกินไป

How to

          ตรวจสอบอุณหภูมิในบ้านของคุณให้แน่ใจว่าลูกไม่หนาวหรือร้อนเกินไป ควรให้ลูกอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท และไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด แต่ต้องไม่มีลมแรงพัดผ่าน

10. พิถีพิถันกับเสื้อผ้า

          เพื่อให้ลูกสบายตัวและไม่เกิดการระคายเคืองผิว

How to

          เลือกเสื้อผ้าให้เด็กเล็ก ควรเป็นผ้าคอตตอน 100% ซึ่งเป็นผ้าที่ระบายอากาศดี ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ ที่สำคัญการตัดเย็บควรมีตะเข็บน้อยที่สุดและเลือกขนาดของคอและแขนเสื้อที่กว้างพอ ใส่ได้ง่ายไม่อึดอัด ไม่มีของประดับตกแต่งที่อาจเป็นอันตราย

11.ผ้าอ้อมสะอาด

          ผ้าอ้อมต้องสะอาด เด็กบางคนจะร้องโยเยเมื่ออับชื้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้แม่รู้ว่าไม่สบายตัว

How to

          อย่าปล่อยให้ความเปียกชื้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยงอแง ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้ผ้าอ้อมแบบซักได้หรือชนิดใช้ครั้งเดียว ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจทำให้เป็นผื่นผ้าอ้อมกัดได้ ดังนั้นการคำนวณเวลาฉี่หลังมื้อนมและนิสัยขับถ่ายของลูกได้ดี จะช่วยให้คุณแม่ดูแลเรื่องผ้าอ้อมได้อย่างเหมาะสม

          ใช้ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นช่วงเวลาของความสนุกสนาน และความอบอุ่นใกล้ชิดกับลูกได้โดยการพูดคุย หยอกล้อกับลูกไปด้วย

12.ป๋อมแป๋มพาเพลิน

          สายน้ำช่วยให้ลูกอารมณ์ผ่อนคลายและรู้สึกสนุก

How to

          การลงสระในช่วงแรกควรวักน้ำลูบไล้ตัวลูกเบา ๆ ก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ลูกกับการเล่นน้ำ จากนั้นค่อย ๆ อุ้มลูกเคลื่อนตัวผ่านน้ำเบา ๆ และให้ใบหน้าของคุณอยู่ใกล้ใบหน้าลูกโดยจ้องตาลูกไว้จะทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและมั่นใจ

          ก่อนพาลูกลงน้ำต้องเช็กอุณหภูมิของน้ำก่อนเสมอว่าไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป

          ลูกอารมณ์ดี มีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายและการเรียนรู้ การส่งเสริมให้ลูกน้อยอารมณ์ดี สนุกสนาน ไม่ร้องไห้งอแง จะส่งผลให้สมองของลูกหลั่งสารเคมีที่ทำให้มีความสุข และเจริญอาหารส่งผลให้เจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย และมีสติปัญญาดี


         
  คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ     


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.80 สิงหาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 วิธีสร้างสุขให้ลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2554 เวลา 13:49:46
TOP